สธ.ให้ 14 รพ.ในสังกัด ช่วยดูแลผู้ติดเชื้อโควิดของ กทม.

สังคม
4 มี.ค. 65
06:45
307
Logo Thai PBS
สธ.ให้ 14 รพ.ในสังกัด ช่วยดูแลผู้ติดเชื้อโควิดของ กทม.
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สธ. ให้ รพ. 14 จังหวัดช่วยดูแลผู้ติดเชื้อโควิดของ กทม. ที่รอเข้าระบบ แบบ “เจอ แจก จบ” เริ่ม 4 มี.ค. รองรับได้รวมวันละ 18,650 คน คาด 1-2 สัปดาห์ช่วยลดปัญหารอสาย ไม่ได้รับการติดต่อกว่า 30,000 สายได้

เมื่อวันที่ 3 มี.ค.2565 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการขยายบริการ “เจอ แจก จบ” รับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียวที่เพิ่มมากขึ้น ว่า จากข้อมูลสายด่วน สปสช. 1330 วันที่ 2 มี.ค.2565 มีการโทรเข้าถึง 70,300 สาย ติดต่อเจ้าหน้าที่ 59,614 สาย เจ้าหน้าที่รับสายได้ 29,688 สาย ที่เหลืออีกประมาณ 30,000 สาย ต้องรอสายนานหรือไม่ได้รับการติดต่อกลับ

 

ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ติดเชื้อโควิด-19 พื้นที่ กทม.ที่ยังติดต่อ 1330 ไม่ได้หรือรอคอยนาน กระทรวงสาธารณสุขจึงสั่งการให้โรงพยาบาลในสังกัด 14 จังหวัดรอบ กทม. ได้แก่ นนทบุรี, ปทุมธานี, พระนครศรีอยุธยา, สระบุรี, นครนายก, สิงห์บุรี, อ่างทอง, นครปฐม, สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร, สุพรรณบุรี, สมุทรปราการ, ชลบุรี, ฉะเชิงเทรา, โรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิตและสังกัดกรมควบคุมโรค เพิ่มศักยภาพให้การดูแลแบบผู้ป่วยนอก “เจอ แจก จบ” ให้เพิ่มขึ้น เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค.2565 เป็นต้นไป รองรับบริการได้ประมาณ 18,650 คนต่อวัน

 

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ได้ประชุมร่วมกับโรงพยาบาลในพื้นที่ 14 จังหวัดรอบ กทม. และสั่งการให้เตรียมพร้อมจัดบริการเจอแจกจบแล้ว โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นการข้ามเขต เพราะได้หารือกับระบบหลักประกันสุขภาพต่างๆ แล้วว่า สามารถมาดูแลรักษาในระบบผู้ป่วยนอกได้ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ

คาดว่าหากดำเนินการไปแล้วประมาณ 1-2 สัปดาห์ จะช่วยลดปัญหาการรอสายไม่ได้รับการติดต่อกลับลงได้

การดูแลแบบผู้ป่วยนอกและกลับไปแยกกักตัวที่บ้าน สามารถทำได้ปลอดภัย เนื่องจากผู้ติดเชื้อขณะนี้เป็นสายพันธุ์โอมิครอนอาการไม่รุนแรง และการดูแลที่บ้านโอกาสที่อาการจะรุนแรงขึ้นมีน้อยมากประมาณ 0.5% เท่านั้น

 

ด้าน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผู้ที่มีผลตรวจ ATK เป็นบวก ที่จะไปรับบริการ เจอ แจก จบที่โรงพยาบาล ขอให้สวมหน้ากากอนามัย 2 ชั้น และปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันโรคตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด หรือเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวจะดีที่สุด

เมื่อไปถึงคลินิกโรคทางเดินหายใจ (ARI Clinic) ของโรงพยาบาล จะได้พบแพทย์เพื่อประเมินอาการและความเสี่ยง ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มสีเขียว คือ ไม่มีอาการหรืออาการน้อยมาก แพทย์จะพิจารณาจ่ายยา ซึ่งอาจเป็นฟ้าทะลายโจร ยาฟาวิพิราเวียร์ หรือยารักษาตามอาการ

พร้อมทั้งให้ความรู้ในการดูแลแยกกักตัวเอง และแจกเบอร์โทรศัพท์เพื่อติดต่อกลับกรณีมีอาการมากขึ้นหรือมีข้อสงสัย ถือว่าได้เข้าสู่ระบบบริการสุขภาพ เรียบร้อย โดยจะได้รับการดูแลติดตามประเมินอาการภายใน 48 ชั่วโมง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สธ.คาดไทยติดโควิดพีคแตะ 4 หมื่นกลาง เม.ย.ก่อนลดต่ำสุดปลาย พ.ค.

กทม.ติดโควิด 2,779 คน - เช็ก 4 เขตยอดเกินร้อย

วิกฤต "ขยะติดเชื้อ" ล้นโรงพยาบาล-ชุมชน เหตุจัดเก็บ-กำจัดไม่ทัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง