เมื่อวันที่ 9 เม.ย.2565 เพจ Surathai (สุราไทย) เปิดเผยว่า เจ้าของร้านจำหน่ายสุราจากญี่ปุ่น เกาหลี และสุราชุมชน แจ้งข่าวว่า เมื่อวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ปราบปรามของกรมสรรพสามิตได้เข้ามาขอตรวจใบอนุญาตจำหน่ายสุราเป็นปกติ ซึ่งใบอนุญาตของร้านยังไม่หมดอายุ และไม่มีปัญหาอะไร
ขณะเดียวกันภายในร้านกำลังมีการทดลองนำบ๊วยมาดองเหล้าเป็นสูตรต่าง ๆ จำนวน 10 ลิตร ซึ่งทำเป็นประจำทุกปีในฤดูบ๊วย เพื่อให้ได้สุรารสชาติแปลกใหม่ เจ้าหน้าที่จึงได้เข้าตรวจสอบพร้อมดำเนินการปรับ 5,000 บาท ในข้อหา "เปลี่ยนแปลงน้ำสุราเพื่อการค้า" ตามมาตรา 158 เนื่องจากมีการดำเนินการอยู่ภายในร้านจำหน่ายสุรา จึงตีเจตนาว่าทำเพื่อขายเอาไว้ก่อน
นอกจากนี้ พนักงานในร้านยังนำสุราเทใส่โหลดอง จึงดำเนินการปรับอีกข้อหา "เปลี่ยนแปลงภาชนะบรรจุสุราเพื่อการค้า" ตามมาตรา 157 และมีโทษปรับตามมาตรา 196 ไม่เกิน 5,000 บาท รวมเสียค่าปรับ 10,000 บาท
เพจ Surathai ยังระบุอีกว่าใครที่ทำเหล้าบ๊วยไว้ดื่มที่บ้าน อาจจะไม่ถูกข้อหาทั้ง 2 ข้อนี้ เพราะไม่ได้ทำเพื่อการค้า แต่ก็รับประกันไม่ได้ว่าจะไม่ถูกข้อหา "มีไว้ในครอบครองซึ่งสุราที่ผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาต" ที่มีค่าปรับสูงสุด 10,000 บาท จึงได้ออกมาเตือน
ขณะที่ นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.พรรคก้าวไกล แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีนี้ผ่านเฟซบุ๊กว่า ทุกคนเข้าใจดีถึงจุดประสงค์ของกฎหมาย แต่จะให้ผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้านต้องไปอยู่บนท้องถนนอีก เพียงเพราะสินค้าล้นตลาดอย่างนั้นหรือ
ไม่อยากให้ประชาชนตาดำ ๆ เพิ่มมูลค่าของผลผลิตทางการเกษตรของตัวเองได้หรือ นี้มันมัดมือชกกันเกินไปจริง ๆ ห้ามทุกอย่างไม่ให้ลืมต้าอ้าปาก ไม่ให้หาทางออกให้กับชีวิตกันเลย
นายเท่าพิภพ ระบุว่า ช่วงนี้เป็นช่วงปลายฤดูบ๊วยพอดี เหล่าคนที่ปลูกบ๊วยมักทยอยนำผลผลิตออกมาขายกันมากกว่าปกติ เพราะบ๊วยจะเก็บผลผลิตได้แค่ “ปีละครั้ง” เท่านั้น คือช่วงปลายเดือน ก.พ. และจะหมดช่วงปลายเดือน มี.ค. ต้นเดือน เม.ย. หลายคนอาจจะคิดว่า “บ๊วย" ทำดอง ทำตากแห้งอย่างเดียว แต่มีหลาย ๆ คนที่นำบ๊วยมาทำเป็น Umeshu หรือเหล้าบ๊วยกัน
"เหล้าบ๊วย" กับตลาดแปรรูปผลไม้ในญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวถึงเหล้าบ๊วย หลายคนก็ต้องนึกถึงญี่ปุ่น หลังจากตลาดผลไม้ญี่ปุ่นเริ่มมีแนวโน้มหดตัวลง รัฐบาลญี่ปุ่นจึงหันมาส่งเสริมการแปรรูปผลไม้ที่ผลิตในประเทศมากขึ้นเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้า บ๊วยดองและเหล้าบ๊วยถือเป็นตัวอย่างการแปรรูปในกลุ่มผลไม้ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในญี่ปุ่น
สำหรับเหล้าบ๊วยญี่ปุ่นเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผลิตโดยใช้บ๊วยหมักกับเหล้าขาว ซึ่งนิยมใช้ "โชจู" (Shochu) หรือวอดก้าญี่ปุ่นเป็นหลักแล้วใส่น้ำตาลลงไป โดยมีคุณสมบัติสามารถเก็บได้ตลอดไม่หมดอายุยิ่งดองไว้นานจะยิ่งรสชาติดีประโยชน์ของเหล้าบ๊วย คือ มีแร่ธาตุและแคลเซียมช่วยฟื้นฟูจากความอ่อนเพลีย บรรเทาอาการท้องผูก ไม่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย และช่วยในการเจริญอาหาร
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ให้ข้อมูลว่า เหล้าบ๊วยเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ได้รับความนิยมมากและแพร่หลายตั้งแต่ปี 2547 เมื่อตลาดในญี่ปุ่นเริ่มอิ่มตัว จึงมีการเสาะหาตลาดใหม่นอกญี่ปุ่น จนนำไปสู่การส่งออกไปต่างประเทศ รวมถึงประเทศไทย ที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2558 อีกด้วย