"สมเจตน์" ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง

การเมือง
19 ส.ค. 65
17:13
335
Logo Thai PBS
"สมเจตน์" ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"สมเจตน์" ย้ำ 3 ประเด็น ร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง ทำลาย ความเป็นสถาบันการเมือง-เปิดช่องคนมีมลทินเข้าสู่การเมือง ชี้ยื่นตีความเพื่อให้เกิดความชัดเจน

วันนี้ (19 ส.ค.65) พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.ให้สัมภาษณ์ต่อกรณีที่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่...) พ.ศ.... ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ว่า

ตนเอง และ ส.ว.รวม 77 คน เป็นผู้ยื่นเรื่อง ทั้งนี้มีประเด็นสำคัญที่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความได้แก่ 1.กรณีที่ร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง แก้ไขเกี่ยวกับอัตราค่าธรรมเนียม และค่าบำรุงพรรคการเมืองที่เรียกเก็บจากสมาชิก โดยลดค่าบำรุงพรรครายปีจาก 200 บาท เป็น 20 บาท และแบบตลอดชีพ จาก 2,000 บาท เป็น 200 บาท

ตนมองว่า ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ซึ่งออกแบบให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันการเมือง และกำหนดให้เก็บค่าบำรุงพรรค นั้นเป็นความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมต่อพรรคการเมือง

รวมไปถึงข้อกำหนดเกี่ยวกับการสาขาพรรคและตัวแทนพรรคการเมือง ดังนั้นการลดอัตราค่าสมาชิกพรรคดังกล่าวอาจเปิดช่องให้เกิดโอกาสที่มีผู้ออกเงินแทนและทำให้เกิดการครอบงำได้

ขณะที่ 2.ประเด็นการลดคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ที่เดิมกำหนดความเข้มข้นห้ามบุคคลที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุกเข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรค แต่ร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมืองได้แก้ไขให้บุคคลที่มีมลทินสามารถสมัครเป็นสมาชิกพรรคได้ถือว่า ขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญที่ป้องกันผู้ที่มีมลทินเข้าสู่การเมือง

3.การแก้ไขการเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.(ไพรมารี่) เดิมที่กำหนดใด้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการเลือกตัวแทนไปเป็นผู้สมัคร ส.ส.แบบเขตเลือกตั้ง แต่ถูกแก้ไขให้กรรมการสรรหาของพรรคเป็นผู้เลือกตัวแทนไปดำเนินการ

ขณะที่กระบวนการไพรมารี่ของผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ เดิมกำหนดให้การเรียงลำดับ จะมาจากคะแนนผู้ที่ได้รับเลือกจากสมาชิกพรรคด้วยคะแนนสูงสุด ลดหลั่นไป แต่ถูกแก้ไขให้กรรมการสรรหาจัดลำดับได้เองถือว่าขัดรัฐธรรมนูญ

กรณีที่ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้นเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า การแก้ไขร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมืองนั้น ถูกต้องและทำได้ตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ส่วนผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไรต้องติดตาม

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง