THE EXIT : “เด็กฝาก-เด็กนาย” ภายใต้ “วันทวีคูณเวลาราชการ”

การเมือง
8 ก.ย. 65
11:49
5,898
Logo Thai PBS
 THE EXIT : “เด็กฝาก-เด็กนาย” ภายใต้ “วันทวีคูณเวลาราชการ”
“วันทวีคูณ” เกิดขึ้นเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้ข้าราชการที่ทำงานในพื้นที่เสี่ยงภัย แต่อีกด้านหนึ่ง กลับถูกใช้เป็นเครื่องมือฝากเด็กให้นายและเป็นบันไดสู่ตำแหน่งสูงๆ ของเด็กเส้น โดยเฉพาะในแวดวงทหาร - ตำรวจ

The EXIT ไทยพีบีเอส สัมภาษณ์พิเศษ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย และประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร และ พล.ท. ดร. พงศกร รอดชมภู อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อสังกัดพรรคอนาคตใหม่ และอดีตรองเลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มาชำแหละระบบเส้นสายผ่านวันทวีคูณ ผ่านประสบการณ์การทำงานของทั้งสองคน

พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (ซ้าย) และ พล.ท. ดร. พงศกร รอดชมภู (ขวา)

พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (ซ้าย) และ พล.ท. ดร. พงศกร รอดชมภู (ขวา)

พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (ซ้าย) และ พล.ท. ดร. พงศกร รอดชมภู (ขวา)

วันทวีคูณคืออะไร

"เวลาราชการทวีคูณ" หรือ "วันทวีคูณ" หมายถึง ช่วงเวลาที่ข้าราชการประจำและลูกจ้างประจำสามารถนำมานับเวลาราชการเป็น 2 เท่าของเวลาราชการปกติ

ผู้ที่จะใช้สิทธินี้ได้ต้องปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก หรือปฏิบัติหน้าที่พิเศษเพื่อการป้องกันประเทศ ทั้งนี้ ประเทศไทยถือว่าวันทวีคูณเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยจูงใจให้คนลงไปปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัย และ เป็นขวัญกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติงาน

ประโยชน์ของวันทวีคูณ คือ ข้าราชการหรือลูกจ้างประจำสามารถนำวันทวีคูณไปรวมกับเวลาราชการ เพื่อคำนวณเม็ดเงิน เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ หรือบำเหน็จตกทอด เมื่อเกษียณราชการ

 

ก่อนเดือนเมษายน 2543 ข้าราชการประจำและลูกจ้างประจำที่จะได้รับวันทวีคูณ ต้องเข้าเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้

1) ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด เช่น เข้าร่วมการปราบปรามคอมมิวนิสต์ ปฏิบัติราชการลับ ปฏิบัติราชการสงครามเวียดนาม ปฏิบัติราชการพิเศษ ปฏิบัติราชการตามแผนป้องกันประเทศ หรือในระหว่างเวลาที่มีพระบรมราชโองการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
2) ปฏิบัติงานในเขตพื้นที่ที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก ซึ่งมีช่วงเวลาดังนี้
• ประกาศใช้กฎอัยการศึก ตามคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ (รัฐประหาร 2519)
   o ระหว่างวันที่ 7 ตุลาคม 2519 - 5 มกราคม 2520 (ทั่วประเทศ)
• ประกาศใช้กฎอัยการศึก ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ (รัฐประหาร 2534)
   o วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 - 2 พฤษภาคม 2534 (ทั่วประเทศ)
   o วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 – 12 พฤศจิกายน 2541 (21 จังหวัด)
   o วันที่ 13 พฤศจิกายน 2541 – 1 เมษายน 2543 (20 จังหวัด)

แต่หลังเดือนเมษายน 2543 พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2543 ถูกประกาศใช้ ทำให้สิทธินับวันทวีคูณของข้าราชการและลูกจ้างประจำเปลี่ยนไป ผู้ได้รับสิทธินับเวลาราชการทวีคูณในช่วงประกาศใช้กฎอัยการศึก ให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดเท่านั้น ไม่ได้สิทธิอัตโนมัติเหมือนก่อน

 

เพจเฟสบุ๊กชื่อว่า “ข้าราชการปลดแอก” เคยตั้งข้อสังเกตไว้เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564 ว่า สิทธินับวันทวีคูณถูกนำไปให้คนบางกลุ่มในลักษณะผลประโยชน์ต่างตอบแทน เพื่อหาพวกและซื้อใจ โดย “ข้าราชการปลดแอก” หยิบยกการประกาศใช้กฎอัยการศึก 2 ครั้ง ได้แก่

1) ระหว่างวันที่ 19 กันยายน 2549 – 26 มกราคม 2550 ที่มีเพียงข้าราชการทหารได้วันทวีคูณ และช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นำโดย พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ยึดอำนาจการปกครอง (รัฐประหารปี 2549)
2) การประกาศกฎอัยการศึกตั้งแต่ 20 พฤษภาคม 2557- 1 เมษายน 2558 ที่ระบุให้ข้าราชการทหาร ตำรวจ และทหารเกณฑ์ได้รับวันทวีคูณ ซึ่งเป็นช่วงการรัฐประหารปี 2557 ที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รัฐประหารปี 2557)

นอกจากนี้ the EXIT ไทยพีบีเอส ยังพบว่า มีมติ ครม. อนุมัติหลักการให้ข้าราชการ ลูกจ้าง และเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงประกาศกฎอัยการศึก ตั้งแต่ 20 พฤษภาคม 2557- 1 เมษายน 2558 ได้สิทธินับวันทวีคูณด้วยเช่นกัน


สิทธิวันทวีคูณใน กอ.รมน. เหลื่อมล้ำ - สวมสิทธิ

พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย และประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร บอกว่า ผู้ทำงานในสังกัดหรือไปช่วยราชการที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ล้วนได้วันทวีคูณทั้งสิ้น ไม่ว่าจะทำงานในพื้นที่ใดก็ตาม เพราะถือว่าเป็นงานด้านการป้องกันประเทศ

 

กอ.รมน. มีงบประมาณมากกว่า 10,000 ล้านบาท นายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ และ ผู้บัญชาการกองทัพบก เป็นรองผู้อำนวยการ มีการตั้งข้อสังเกตว่า ผู้บริหารระดับสูงใน กอ.รมน.ส่วนใหญ่ต่างทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ แทบไม่ได้ทำงานในพื้นที่เสี่ยงภัยใดๆ แต่กลับได้ประโยชน์จากวันทวีคูณ เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. ในพื้นที่อื่นๆ ซึ่งไม่มีภัยสู้รบแต่ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้เช่นกัน

“คุณนั่งอยู่ในตึก มันเสี่ยงภัยอยู่ตรงไหน อ้างว่าทำคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติ แต่ได้นับวันทวีคูณกันหมด มันเป็นธรรมกับข้าราชการอื่นๆ ที่ทำงานอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยหรือมีการสู้รบจริงๆ หรือไม่”

สิทธินับวันทวีคูณจากการทำงานในสังกัด กอ.รมน. อาจกลายเป็นช่องทางให้เกิดการฝากคนเข้าทำงานใน กอ.รมน. เพื่อรับผลประโยชน์จากวันทวีคูณ และนำไปใช้คำนวณรับเงินบำเหน็จและบำนาญ

แต่งตั้ง “ศรีวราห์” สะท้อนปมวันทวีคูณ

ย้อนกลับไปในปี 2553 เกิดเรื่องร้อนในแวดวงตำรวจ เมื่อ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในขณะนั้น เสนอชื่อ พล.ต.ต.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบช.ก. (ตำแหน่งในขณะนั้น) ขยับยศขึ้นเป็น พล.ต.ท. และ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บังคับบัญชาตำรวจภูธรภาค 1 โดยนำสิทธินับอายุราชการทวีคูณจากการปฏิบัติราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มาใช้ ทำให้ พล.ต.ต.ศรีวราห์ มีคุณสมบัติครบเกณฑ์แบบคาบเส้นทันที

พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพรามณกุล (ยศในขณะนั้น)

พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพรามณกุล (ยศในขณะนั้น)

พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพรามณกุล (ยศในขณะนั้น)

ระหว่างรอเสนอโปรดเกล้าฯ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ยื่นเรื่องร้องเรียนไปยังนายกรัฐมนตรี และประธาน คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) กล่าวหาว่า การได้สิทธินับทวีคูณของ พล.ต.ต.ศรีวราห์นั้น “ไม่ถูกต้อง”

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ บอกว่า พล.ต.ต.ศรีวราห์ ลงไปช่วยราชการที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2553 แต่มีคำสั่งให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 1 เม.ย. 2553 และช่วงดังกล่าว พล.ต.ต.ศรีวราห์ กำลังเรียนหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน (ปรอ.) รุ่น 22 ของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร

“นั่นหมายความอย่างไร หมายความว่าตัวเขาไม่ได้อยู่ในพื้นที่ตลอดเวลา ไปๆ กลับๆ ไม่ได้ปฏิบัติงานในพื้นที่จริง”

หลังจาก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ร้องเรียน ส่งผลให้ในเวลาต่อมา การประชุม ก.ตร. ที่มี พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เป็น ผบ.ตร. ได้มีมติระงับตำแหน่งนี้ไว้ และตั้ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ที่ปรึกษา (สบ.10) ด้านสืบสวน ในขณะนั้น นั่งเป็นรักษาการแทน ผบช.ภ.1 แทน

“จะเห็นว่าระบบมันจะดี ไม่ดี ก็ขึ้นอยู่กับคนด้วย ถ้าคนดี สิ่งเหล่านี้ก็ไม่เกิดขึ้น”

เรื่องร้องเรียนนี้กลายเป็นเผือกร้อนอยู่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาตินานถึง 5 ปี กระทั่งวันที่ 11 มิ.ย. 2558 ศาลปกครองมีคำสั่งเพิกถอนมติ ก.ตร. ที่ไม่นับระยะเวลาเป็นทวีคูณของ พล.ต.ต.ศรีวราห์ ในช่วงที่ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อปี 2553 และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติคืนสิทธิวันทวีคูณให้กับ พล.ต.ต.ศรีวราห์

วันทวีคูณ เป็นเครื่องมือเด็กฝากเด็กนายได้อย่างไร

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ บอกว่า ช่วงที่ตำรวจสามารถใช้วันทวีคูณมานับรวมกับอายุราชการปกติ และใช้เพื่อขยับตำแหน่งให้สูงขึ้นได้นั้น ส่งผลให้เกิดการวิ่งเต้นลงไปทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เป็นจำนวนมาก

“มันก็กลายเป็นระบบเส้นสาย วิ่งลงใต้ พอไปอยู่ก็ไม่ทำงาน มุดหัวอยู่แต่ในสำนักงาน ผลงานก็ไม่มี โจรใต้ก็ปราบไม่ได้ แพ้เขาหมด แต่ได้อายุราชการ แล้วก็มีตำแหน่งโตขึ้นมาเป็นระดับผู้บังคับบัญชา แต่ทำงานไม่เป็น”

ต่อมาในปี 2558 พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็น ผบ.ตร. ในขณะนั้น ได้ยกเลิกนับวันทวีคูณเพื่อใช้เลื่อนตำแหน่งในตำรวจ แต่ให้นำไปนับเป็นบำเหน็จบำนาญเท่านั้น เพื่อตัดปัญหาเด็กเส้นเด็กฝากวิ่งเต้นลงไปทำงานในจังหวัดชายแดนใต้ แต่ภายหลังที่ยกเลิกระบบนี้ไป พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กลับพบพ่อแม่นักเรียนนายร้อยตำรวจจบใหม่จำนวนหนึ่งใช้เส้นสายและอำนาจที่มีวิ่งเต้นไม่ให้ลูกของตัวเองไปทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้แทน

“กลายเป็นว่า ไม่มีคนสมัครใจไปทำงานที่ชายแดนใต้ เมื่อใครวิ่งเต้นไม่สำเร็จ แล้วต้องไปอยู่ที่นั่น ก็ไม่อยากทำงาน เพราะไม่ได้อยากมาอยู่ตั้งแต่แรก ความสงบสุขในจังหวัดชายแดนใต้ก็ไม่เกิดขึ้นเสียที นี่ยังไม่รวมปัญหาอื่นๆ ในพื้นที่”


“บัญชีผี” โจทย์ใหญ่ที่ต้องแก้

“บัญชีผี” เป็นชื่อเรียกที่ พล.ท. ดร. พงศกร รอดชมภู อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อสังกัดพรรคอนาคตใหม่ และอดีตรองเลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ใช้คำนี้อธิบายพฤติกรรมผู้ที่แสวงหาประโยชน์จากวันทวีคูณ เบี้ยเลี้ยง เบี้ยเสี่ยงภัย แต่ไม่ลงไปทำงานจริง ส่วนมากพบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

 

สมัยที่ทำงานอยู่ สมช. เขาพบข้อร้องเรียนจากผู้ปฏิบัติงาน ว่ากำลังพลในจังหวัดชายแดนใต้ไม่เพียงพอและขาดแคลน เมื่อนำจำนวนกำลังพลในพื้นที่มาตรวจสอบ บัญชีกำลังพลระบุว่า เจ้าหน้าที่ 1 นาย ต้องดูแลประชาชน 50 คน หรือ 1 ต่อ 50 แต่เมื่อเกิดบัญชีผี หรือ มีการฝากคนของตัวเองไปบรรจุในหน่วยงานชายแดนใต้ แต่ไม่ลงไปทำงานจริง ทำให้อัตราส่วน 1:50 ไม่มีจริง และ เพิ่มความเสี่ยงให้กับผู้ปฏิบัติงานที่ต้องรับภาระหน้าที่หลายอย่าง เพราะต้องทำแทนคนที่มาทำงานในพื้นที่แค่ชื่อเท่านั้น

“อย่างทีมลาดตระเวน จากที่ควรมี 10 คนตามรายชื่อ แต่พอไปดูในพื้นที่จริงๆ พบว่ามี 8 คน คนที่เหลือก็ต้องแบกรับความเสี่ยง ทำงานแทนอีก 2 คนที่หายไป การที่คนหายไปในตำแหน่งที่ควรมี หากเกิดการปะทะ ก็จะเกิดความสูญเสียต่อชีวิต”

พล.ท.พงศกร บอกว่า ในเมื่อวันทวีคูณเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นจากฝ่ายความมั่นคง กอ.รมน.เป็นผู้รับผิดชอบตรวจสอบว่าผู้ได้สิทธินี้ ใช้สิทธิอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่ ดังนั้น นายกรัฐมนตรีผู้ดำรงตำแหน่ง ผอ.กอ.รมน. ต้องออกนโยบายให้ชัดว่าจะสะสางบัญชีผีอย่างไร ใครมีชื่อจริงทำงานจริง ใครมีแค่ชื่อ แต่ไม่เคยทำงานจริง เพื่อให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้

สาเหตุที่ทำให้บัญชีผีเกิดขึ้น พล.ท.พงศกร มองว่า เป็นเพราะระบบบริหารจัดการของรัฐราชการไทยมีลักษณะรวมศูนย์ ไม่เอื้อให้เกิดการตรวจสอบ การตรวจสอบที่เกิดขึ้นก็เป็นการตรวจสอบกันเองแบบหลวมๆ เขายกตัวอย่างกรณี ส.ต.ท.กรศศิร์ บัวแย้ม ที่มีชื่อไปช่วยราชการ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แต่ไม่ได้ไปทำงานจริง หรือกรณีสื่อมวลชนเปิดเผยชื่อสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ที่เกี่ยวพันกับ ส.ต.ท.หญิง ล่าช้ามาก สิ่งนี้สะท้อนว่า ส.ว. มีอำนาจเหนือ ส.ส. และระบบราชการที่ถูกครอบงำจากการรัฐประหารมาจนถึงทุกวันนี้

ดังนั้น หากต้องการยุติเรื่องนี้ ต้องทำลายระบบราชการที่มีอำนาจเหนือประชาชน และไม่หยุดอยู่เพียงปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น หากปัญหาระดับโครงสร้างไม่ถูกแก้ไขต่อไปก็จะได้ยินข่าวบัญชีผีเกิดขึ้นอีกเรื่อยๆ

“บัญชีผี ไม่ได้มีแค่ใน กอ.รมน. เท่านั้น หากประกาศให้มีเหตุฉุกเฉินในบางพื้นที่ ก็ต้องมีการระดมคน พอมีการระดมคน ก็ต้องมีการจ่ายเบี้ยเลี้ยงตามมาเสมอ ทำให้บัญชีผีสามารถเกิดได้ในทุกหน่วยงาน”

“ใคร” ได้ “อะไร” จากการฝาก “เด็กเส้น-เด็กนาย” เข้ารับราชการ

พล.ท.พงศกร ให้ความเห็นว่า การรับฝากเด็กเส้น เด็กนาย เข้าไปอยู่ในงานที่ได้รับวันทวีคูณ เบี้ยเลี้ยง หรือเบี้ยเสี่ยงภัยต่างๆ อาจต้องตรวจสอบต่อไปว่า เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น เบี้ยเลี้ยง เบี้ยเสี่ยงภัยต่างๆ ของผู้ถูกฝากตกไปอยู่ที่ใคร หรือ เงินเหล่านั้นถูกนำไปใช้อย่างอื่นหรือไม่ วิธีการฝากเข้าทำงานเป็นอย่างไร ใครเป็นคนฝาก ใช้อำนาจและเหตุผลใดในการแนะนำ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าว่ามีประโยชน์กับงานในจังหวัดชายแดนใต้ แต่ถ้าหาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า รับคนมาโดยไม่ได้ตรวจสอบก่อนก็ต้องรับผิดชอบด้วย หากพบการกระทำผิดหรือคอร์รัปชั่น

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ บอกว่า สวัสดิการข้าราชการนั้นดีมาก โดยเฉพาะสิทธิรักษาพยาบาล และมีสวัสดิการหลายอย่างที่ครอบคลุมไปถึงพ่อ แม่ คู่สมรส รวมถึงบุตร ดังนั้น หากเข้ารับราชการได้ ก็จะทุ่นค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้เป็นจำนวนมาก

“สรุปคือฝากเข้ารับราชการ 1 คน ได้ผลประโยชน์ให้อีก 5-6 คน เพราะแบบนี้ คนถึงได้อยากเข้าเป็นตำรวจ เป็นทหาร แล้วประเทศชาติจะอยู่ได้อย่างไร”

นอกจากนี้ ระบบเด็กฝาก-เด็กเส้น ยังเป็นการสานต่อเครือข่ายอำนาจให้กับผู้ฝาก เพราะทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์ที่ไม่จบสิ้น ระบบราชการจึงเต็มไปด้วยคนที่ทำงานไม่เป็น แต่แสวงหาตำแหน่งสูงขึ้นไป

ภาษีประชาชน “แบก” ระบบอุปถัมภ์รัฐราชการไทย

 

 

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ มองว่า การนำวันทวีคูณมานับกับข้าราชการและลูกจ้างประจำที่ไม่ได้ทำงานในพื้นที่เสี่ยงภัยหรือมีการสู้รบจริง รวมถึงเด็กฝากและเด็กเส้น ทำให้ต้องนำเงินภาษีประชาชนมาอุดหนุนค่าบำเหน็จบำนาญที่เพิ่มมากขึ้นจากจำนวนวันทวีคูณ เป็นภาระต่องบประมาณแผ่นดิน ที่ต้องใช้เลี้ยงดูบุคลากรเหล่านี้โดยไม่จำเป็น และ ทำให้รัฐบาลไม่มีเงินเพียงพอเพื่อดูแลคุณภาพชีวิตประชาชน

ขณะที่ พล.ท.พงศกร เห็นว่า ที่ผ่านมา เมื่อเกิดการรัฐประหาร กองทัพจะแต่งตั้งให้ข้าราชการบางคนในหน่วยงานต่างๆ มีอำนาจพิเศษ หรือ ขยายอายุราชการออกไป เพื่อดำรงตำแหน่งได้ยาวนานขึ้น และเป็นเรื่องยากที่จะให้ราชการหรือองค์กรอิสระต่างๆ เข้ามาตรวจสอบกองทัพ

การเลือกตั้งครั้งหน้า หากสามารถทำให้ประชาชนมีอำนาจเหนือราชการและกองทัพได้ ก็จะเอื้อให้เกิดการตรวจสอบ “บัญชีผี” หรือ “ผู้แสวงหาประโยชน์จากวันทวีคูณ” ส่งผลให้รัฐลดงบประมาณที่นำมาจ่ายเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง สวัสดิการต่างๆ บำเหน็จ และบำนาญคนเหล่านี้ได้ และทำให้การบริหารราชการมีประสิทธิภาพและโปร่งใสมากขึ้น

 

จิราภรณ์ ศรีแจ่ม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง