ทวิตเตอร์ไฟเขียวบีบ "อีลอน มัสก์" ซื้อกิจการราคา 1.6 ล้านล้านบาท

ต่างประเทศ
14 ก.ย. 65
07:44
319
Logo Thai PBS
ทวิตเตอร์ไฟเขียวบีบ "อีลอน มัสก์" ซื้อกิจการราคา 1.6 ล้านล้านบาท
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กลุ่มผู้ถือหุ้นไฟเขียวบีบ อีลอน มัสก์ ซื้อกิจการทวิตเตอร์เป็นเงินประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท หลังมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ประกาศซื้อกิจการ ก่อนจะถอนตัวโดยอ้างเหตุผลเรื่องบัญชีปลอมจนราคาหุ้นร่วงและนำไปสู่การฟ้องร้อง

วันนี้ (14 ก.ย.2565) กลุ่มผู้ถือหุ้นของทวิตเตอร์ ลงมติอนุมัติข้อตกลงขายกิจการให้แก่ อีลอน มัสก์ เป็นเงิน 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท หลังจากประชุมกันภายในกับบรรดานักลงทุน ซึ่งการให้ไฟเขียวจากผู้ถือหุ้นครั้งนี้ หมายความว่าต่อไป ทางบริษัทจะเดินหน้าบีบบังคับให้มัสก์ต้องเข้าซื้อบริษัท ผ่านกระบวนการในชั้นศาลได้

หลังจากก่อนหน้านี้ ทวิตเตอร์ตกลงขายกิจการให้มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในโลกอย่างอีลอน มัสก์ เมื่อเดือน เม.ย. ก่อนที่มัสก์จะประกาศคว่ำข้อตกลงเข้าซื้อทวิตเตอร์ไปเมื่อเดือนพฤษภาคม โดยอ้างเหตุผลว่า ทวิตเตอร์ปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนบัญชีผู้ใช้ปลอมและบอตต่าง ๆ บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย และไม่ได้ให้ข้อมูลเพียงพอแก่ทีมของเขาที่จะทำการวิเคราะห์ได้ด้วยตนเอง แต่ทวิตเตอร์โต้แย้งว่ามัสก์ไม่สามารถยกเลิกข้อตกลงนี้ได้

อดีตพนักงานอ้างมาตรฐานความปลอดภัยล้าหลัง

ขณะที่การตัดสินใจครั้งนี้ของกลุ่มผู้ถือหุ้นทวิตเตอร์เกิดขึ้นไม่นานหลังจาก Peiter Zatko อดีตหัวหน้าด้านความปลอดภัยของทวิตเตอร์ ซึ่งถูกไล่ออกเมื่อเดือน ม.ค.ให้การต่อหน้าคณะกรรมธิการยุติธรรมของวุฒิสภาสหรัฐฯ ว่า บริษัทกำลังสร้างความเข้าใจผิดแก่สาธารณชนเกี่ยวกับความปลอดภัยของแพลตฟอร์มจริงๆ

นอกจากนี้ ยังเปิดเผยว่า ทวิตเตอร์รับรู้และอนุญาตให้รัฐบาลอินเดียส่งคนของตัวเองเข้ามาในบริษัท ผ่านการจ้างเข้าทำงาน ซึ่งบุคคลเหล่านี้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อนสูงเกี่ยวกับผู้ใช้งานได้ พร้อมอ้างว่า ยังมีเจ้าหน้าที่จีนอย่างน้อย 1 คนทำงานอยู่ในบริษัท และอาจรวบรวมข้อมูลผู้ใช้งานได้


Zatko อ้างว่า ทวิตเตอร์มีมาตรฐานด้านความปลอดภัยที่ล้าหลังเป็นสิบ ๆ ปี ข้อมูลของผู้ใช้ไม่ได้รับการปกป้องอย่างเพียงพอ และมีพนักงานจำนวนมากเกินไปที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ และมีพนักงานครึ่งหนึ่งของบริษัทเป็นวิศวกร ซึ่งทั้งหมดสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ได้ และเชื่อว่ามีพนักงานประมาณ 4,000 คน เข้าถึงข้อมูลนี้ รวมทั้งกังวลว่าพนักงานจะสามารถเข้าถึงข้อมูลโดยไม่ทิ้งร่องรอย

นอกจากนี้ Zatko ยังระบุว่า การจ่ายค่าปรับเกี่ยวกับการละเมิดกฎเกี่ยวกับการปกป้องข้อมูลเพียงครั้งเดียวนั้นไม่ได้รบกวนทวิตเตอร์เลย และเขายังคงคิดว่าทวิตเตอร์จะเสนอข้อเสนอที่ดีและคิดว่ามัสก์จะซื้อกิจการโดยขึ้นอยู่กับราคา

ทั้งนี้ มัสก์และทวิตเตอร์จะเผชิญหน้ากันในชั้นศาล ในเดือน ต.ค.นี้ โดยผู้พิพากษาจะเป็นผู้ตัดสินว่ามัสก์จะต้องซื้อบริษัทหรือไม่ ขณะที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผู้พิพากษา ระบุว่า ทนายความของมัสก์จะได้รับอนุญาตให้ใช้คำให้การของ Zatko ในศาลได้

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง