ปีเดียว 27 คนตายจากช้างป่า เร่งแก้ช้างออก 27 พื้นที่

สิ่งแวดล้อม
16 ก.ย. 65
15:50
1,464
Logo Thai PBS
ปีเดียว 27 คนตายจากช้างป่า เร่งแก้ช้างออก 27 พื้นที่
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ย้อนสถิติ 6 ปี คนเสียชีวิตจากช้างป่า 135 คน เฉพาะปี 65 เสียชีวิตมากสุด 27 คน ขณะที่ ผอ.ส่วนสารสนเทศด้านอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ คาดประชากรช้างป่าเพิ่มเป็น 3,600 ตัว เร่งแก้ปัญหาช้างออกนอก 5 กลุ่มป่า 27 พื้นที่อนุรักษ์

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา วงการอนุรักษ์เผชิญข่าวเศร้า ช้างป่าทำร้ายเจ้าหน้าที่ขณะปฏิบัติภารกิจผลักดันช้างป่า เสียชีวิต 2 คน ในพื้นที่ป่าทับลาน และป่าคลองเครือหวายเฉลิมพระเกียรติ รวมทั้งกรณีพระสงฆ์ถูกช้างป่าทำร้ายมรณภาพ ภายในวัดสันติวนาราม จ.จันทบุรี

เมื่อย้อนดูสถิติช่วง 6 ปีที่ผ่านมา พบว่าช้างป่าทำร้ายคนบาดเจ็บ รวม 116 คน เสียชีวิต 135 คน จากข้อมูลพบว่าช่วง 3 ปีล่าสุด (2563-2565) มีเหตุการณ์ช้างป่าทำร้ายคนเสียชีวิตมากที่สุด ได้แก่ ปีงบประมาณ 2565 เสียชีวิตมากที่สุด 27 คน บาดเจ็บ 22 คน รองลงมาเป็นปี 2563 และ 2564 เสียชีวิตปีละ 24 คน

"ช้างป่า" ออกนอก 49 พื้นที่อนุรักษ์

ถ้ารวมพื้นที่ป่าถือว่าเยอะสำหรับช้าง 3,000-4,000 ตัว แต่ป่าไม่ได้เป็นก้อนเดียว กระจายเป็นย่อมเล็กย่อมน้อย ซึ่งช้างที่มีพฤติกรรมทางนิเวศใช้พื้นที่กว้าง พื้นที่จึงไม่พอรองรับการใช้ประโยชน์ และเป็นปัญหาช้างออกนอกพื้นที่ในปัจจุบัน

ดร.ศุภกิจ วินิตพรสวรรค์ ผอ.ส่วนสารสนเทศด้านอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวถึงปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ ว่า ช้างป่ากระจายอยู่ใน 69 พื้นที่อนุรักษ์ แบ่งเป็น 38 พื้นที่อุทยานแห่งชาติ 31 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

เมื่อ 2 ปีก่อนพื้นที่ที่ประสบปัญหาช้างป่ามีจำนวน 41 พื้นที่ แต่ในปัจจุบัน (ปี 2565) มีจำนวน 49 พื้นที่ที่ประสบปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ กระทบชีวิตและทรัพย์สินประชาชน ซึ่งปัญหาดังกล่าวกระจายมากขึ้น และแต่ละพื้นที่มีความรุนแรงแตกต่างกัน

ประชากร "ช้างป่า" เพิ่มเป็น 3,600 ตัว

ผอ.ส่วนสารสนเทศด้านอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า ประชากรช้างเพิ่มขึ้น แต่การตรวจสอบจำนวนที่ชัดเจนทำได้ไม่ง่ายนัก จึงคาดการณ์ว่าจากเดิมมีช้างป่า 3,126-3,440 ตัว เป็น 3,500-3,600 ตัว

แม้ภาพรวมตัวเลขประชากรอาจยังไม่มาก แต่ความสอดคล้องของประชากรกับความเหมาะสมถิ่นอาศัย ถือว่ามากแล้ว เพราะป่าไทยมีลักษณะเป็นย่อม ๆ ทั้งเล็กใหญ่ พื้นที่ถิ่นอาศัยของช้างในปัจจุบัน รวม 52,000 ตารางกิโลเมตร

ปัญหาช้างออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์กระจายตัวมากขึ้น เป็นโจทย์ที่หน่วยงาน ผู้ปฏิบัติ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ต้องคาดการณ์ในอนาคตว่าแม้ประชากรช้างป่าในธรรมชาติจะไม่มาก เมื่อเทียบกับระดับสากล หรือการจัดลำดับของ IUCN แต่อาจจะเกินความเหมาะสมของพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งในอนาคตอาจต้องมองถึงอีกแนวทางในการควบคุมประชากร เคลื่อนย้ายช้างไปอยู่ในพื้นที่รองรับใหม่ ๆ อาจเริ่มต้นจากการศึกษาวิจัย หรือพัฒนาโครงการนำร่อง

เร่งแก้ "ช้างออกนอกพื้นที่" 5 กลุ่มป่า

กรมอุทยานฯ จำแนกพื้นที่ที่ประสบปัญหาช้างป่ารุนแรง และต้องดำเนินการแก้ปัญหาเร่งด่วน 5 กลุ่มป่า 27 พื้นที่อนุรักษ์ ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันออก หรือป่ารอยต่อ 5 จังหวัด, กลุ่มป่าแก่งกระจาน ในพื้นที่อุทยานฯ แก่งกระจาน อุทยานฯ กุยบุรี, กลุ่มป่าตะวันตก โดยเฉพาะทางตอนใต้ คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ อุทยานฯ ไทรโยค, กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ พื้นที่อุทยานฯ เขาใหญ่ อุทยานฯ ทับลาน อุทยานฯ ปางสีดา อุทยานฯ ตาพระยา อุทยานฯ ดงใหญ่, กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว ทั้งนี้ จำแนกพื้นที่ทั้งหมดจากสถิติที่ช้างป่าออกนอกพื้นที่ ความเสียหาย และจำนวนของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต

แผนการจัดการช้างป่า หรือกิจกรรมเพื่อแก้ปัญหานี้ จึงทุ่มไปทั้งงบฯ และกำลังคนไปยัง 5 กลุ่มป่าอย่างเร่งด่วน แต่ยืนยันว่าไม่ได้ละเลยพื้นที่อื่น ๆ

ดร.ศุภกิจ ยอมรับว่า ปัจจัยหนึ่งที่ผลักให้ช้างไปหากินไกลจากถิ่นเดิม จนพ้นขอบเขตของพื้นที่ป่าอนุรักษ์ไปสู่พื้นที่เกษตรกรรม เพราะแหล่งน้ำ แหล่งอาหารไม่เพียงพอ แผนการจัดการช้างจึงมีประเด็นฟื้นฟูถิ่นอาศัย อาจใช้เวลา 2-5 ปี

ปัญหาช้างมีปัจจัยหลายอย่าง ทั้งประชากรช้างกับสภาพขนาดพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในปัจจุบัน แหล่งน้ำ แหล่งอาหาร ถิ่นอาศัย

ถกแนวทางแก้ปัญหาช้างป่า

ขณะที่วันนี้ (16 ก.ย.2565) นายรัชฏาสุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นประธานประธานการประชุมเรื่องทิศทางการแก้ไขปัญหาช้างป่า เพื่อระดมความเห็นในการจัดการช้างป่าของประเทศให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งหาทางป้องกันแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม นำไปสู่การอนุรักษ์และจัดการช้างป่าของประเทศให้มีประสิทธิภาพไปในทิศทางเดียวกัน โดยเน้นย้ำว่า กรมอุทยานฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจในปัญหาดังกล่าว ซึ่งได้ทุ่มเทสรรพกำลัง ผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีความรู้ในเรื่องการจัดการสัตว์ป่ามาดูแลและปัญหาเรื่องนี้ในทุกมิติอย่างเต็มที่


ขณะที่นายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า ประชากรช้างป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์หลายแห่งในประเทศส่วนใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัญหาหลักของการอนุรักษ์และการจัดการช้างป่า ได้แก่ การลดลงของทั้งขนาดและคุณภาพของถิ่นอาศัย และปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่อนุรักษ์กว่า 49 แห่ง

การจัดการช้างป่าจำเป็นต้องใช้องค์ความรู้แบบสหวิทยาการและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อให้การอนุรักษ์ การจัดการ และการแก้ไขปัญหา เป็นไปอย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ เช่น ความรู้เรื่องลักษณะโครงสร้างและพฤติกรรมของช้างป่า การจัดการแหล่งที่อยู่อาศัย การจัดการแหล่งอาหารสัตว์ป่า การป้องกันให้ถิ่นอาศัยและช้างป่าได้รับการคุ้มครอง และมีความปลอดภัย ลักษณะสภาพชุมชนและพื้นที่โดยรอบ และการจัดการช้างป่าแบบมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่ายผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ต้น" ต้นแบบพิทักษ์ป่า ภารกิจสุดท้ายผลักดันช้างทับลาน

"ช้างป่า" ทำร้ายพิทักษ์ป่าคลองเครือหวายตาย 1

จัดสวัสดิการช่วย "พิทักษ์ป่าภูหลวง"ถูกช้างทำร้ายเสียชีวิต

ปภ.จันทบุรี เตือนฤดูช้างผสมพันธุ์-ตกมัน ทำร้ายชาวบ้านดับ 4 ศพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง