เหรียญ 2 ด้าน "บาทอ่อน-บาทแข็ง" ใครได้-ใครเสียประโยชน์

เศรษฐกิจ
28 ก.ย. 65
12:59
7,480
Logo Thai PBS
เหรียญ 2 ด้าน "บาทอ่อน-บาทแข็ง" ใครได้-ใครเสียประโยชน์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"ค่าเงินบาทอ่อน" ที่แตะ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อาจทำให้เกิดความสงสัยว่าจะส่งผลกระทบอย่างไร และมีใครบ้างที่ได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ หากเปรียบเทียบกับ "ค่าเงินบาทแข็ง"

เงินบาทอ่อนค่าแตะ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในวันนี้ (28 ก.ย.) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดเงินเฟ้อ จึงทำให้เงินไหลกลับ และทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่า กดดันให้เงินสกุลอื่นๆ อ่อนค่าลง รวมถึงเงินบาทของไทย

ในเวลาเดียวกัน เงินบาทที่อ่อนค่าทำให้มีทั้งคนได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ซึ่งข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า การแข็งค่าหรืออ่อนค่าของเงินบาท จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ส่งออก ผู้นำเข้า นักลงทุน และผู้ที่กู้เงินตราต่างประเทศ

ไทยพีบีเอสออนไลน์ รวบรวมข้อมูลจาก ธปท. เกี่ยวกับความแตกต่างระหว่าง "ค่าเงินบาทอ่อน" และ "ค่าเงินบาทแข็ง" รวมถึงผู้ที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์จากสถานการณ์ค่าเงิน

ความต่าง "บาทอ่อน-บาทแข็ง"

"ค่าเงินบาทอ่อน" คือ การใช้เงินบาทมากขึ้น ในการแลกเงินสกุลอื่นในจำนวนเท่าเดิม

ใครได้ประโยชน์ ?

- ผู้ส่งออก ได้ประโยชน์จากราคาสินค้าที่ถูกกว่าคู่แข่ง ทำให้มีรายได้ในรูปของเงินบาทเพิ่มขึ้น
- คนทำงานต่างประเทศ นำรายได้ที่เป็นเงินสกุลต่างประเทศ มาแลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้น
- ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่รับเงินสกุลต่างประเทศ นำรายได้มาแลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้น

ใครเสียประโยชน์ ?

- ผู้นำเข้า เสียประโยชน์จากราคาสินค้าต่างประเทศที่แพงขึ้น ทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าสูงขึ้น
- ประชาชน ซื้อสินค้าและบริการจากต่างประเทศแพงขึ้น
- ผู้ลงทุน นำเข้าสินค้าทุนแพงขึ้น เช่น เครื่องจักร อุปกรณ์ต่างๆ
- ผู้เป็นหนี้กับต่างประเทศ มีภาระหนี้เพิ่มขึ้น เพราะใช้เงินบาทมากขึ้นในการชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศ


"ค่าเงินบาทแข็ง" คือ การใช้เงินบาทน้อยลง ในการแลกเงินสกุลอื่นในจำนวนเท่ากัน

ใครได้ประโยชน์ ?

- ผู้นำเข้า ได้ประโยชน์จากราคาสินค้าต่างประเทศที่ถูกลง ช่วยลดต้นทุนการนำเข้าสินค้า
- ประชาชน ซื้อสินค้าและบริการจากต่างประเทศได้ถูกลง
- ผู้ลงทุน นำเข้าสินค้าทุนได้ถูกลง
- ผู้เป็นหนี้กับต่างประเทศ มีภาระหนี้ลดลง เพราะใช้เงินบาทน้อยลงในการชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศ

ใครเสียประโยชน์ ?

- ผู้ส่งออก เสียประโยชน์จากราคาสินค้าที่แพงกว่าคู่แข่ง ทำให้มีรายได้ในรูปของเงินบาทลดลง
- คนทำงานต่างประเทศ นำรายได้ที่เป็นเงินสกุลต่างประเทศ มาแลกเป็นเงินบาทได้น้อยลง
- ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่รับเงินสกุลต่างประเทศ นำรายได้มาแลกเป็นเงินบาทได้น้อยลง

"ผู้ประกอบการ" เตรียมตัวอย่างไร "รับมือเรื่องค่าเงิน"

ส่วนหนึ่งจากบทความ "เงินบาทผันผวน แบงก์ชาติทำอะไร" มีคำแนะนำให้ผู้ประกอบการเตรียมพร้อมรับมือเรื่องค่าเงิน ในขณะที่ภาวะค่าเงินบาทมีโอกาสผันผวนอีกในอนาคต ตามสถานการณ์เศรษฐกิจการเมืองของโลก

ปัจจุบันมีหลายเครื่องมือที่ช่วย "การบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน" เช่น สัญญา forward จะช่วยให้ผู้ประกอบการไม่ต้องลุ้นว่า เมื่อแปลงรายได้หรือรายจ่ายสกุลเงินตราต่างประเทศเป็นบาทแล้ว จะได้เงินบาทเท่าไร เพราะได้จองราคาไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว หรือการทำ netting/matching รายได้รายจ่ายสกุลเงินตราต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการหักกลบรายรับรายจ่ายสกุลเงินตราต่างประเทศกันไป เป็นต้น

เครื่องมือเหล่านี้จะทำให้ผู้ประกอบการล็อกรายได้ รายจ่าย (ต้นทุน) ที่เป็นเงินบาทได้ จึงหมดห่วงที่จะต้องลุ้นว่า สุดท้ายรายได้รายจ่ายสกุลเงินตราต่างประเทศนั้นจะแปลงเป็นบาทได้เท่าไร และจะมีกำไรหรือขาดทุนเท่าไหร่ เพราะค่าเงินเป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดา การบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนจึงเป็นเสมือนวัคซีนที่จะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ SMEs เพราะความผันผวนของค่าเงินบาท อาจส่งผลกระเทือนต่อฐานะของธุรกิจได้ค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทสามารถเคลื่อนไหวไปตามแรงซื้อ แรงขาย หรือที่เรียกว่ากลไกตลาด ซึ่ง ธปท.จะดูแลเมื่อเกิดความผันผวนสูงผิดปกติที่อาจส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ โดยการดูแลเป็นเพียงการซื้อเวลาให้ผู้ประกอบการได้ปรับตัว และทำได้เพียงช่วงสั้นๆ เพราะการฝืนกระแสตลาดจะเป็นการสะสมความเสี่ยงที่จะก่อปัญหาในระยะยาว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"เงินบาท" อ่อนค่าทะลุ 38 บาทต่อดอลลาร์ กดดันขึ้นดอกเบี้ย

เอกชนชี้ "เงินบาทอ่อน" ไม่กระทบแข่งขัน แนะรับมือดอกเบี้ยขาขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง