เปิดข้อมูล "เด็กเกิด" ลด-"ผู้สูงอายุ" เพิ่ม คาดอีก 70 ปี วิกฤตแรงงาน

สังคม
11 พ.ย. 65
13:23
5,368
Logo Thai PBS
เปิดข้อมูล "เด็กเกิด" ลด-"ผู้สูงอายุ" เพิ่ม คาดอีก 70 ปี วิกฤตแรงงาน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ปัจจุบันไทยมีเด็กเกิดใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น โดยวิถีชีวิตและปัจจัยทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดชะลอการมีบุตร ส่งผลต่อการขาดแคลนแรงงานในอนาคต

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยข้อมูลบนเว็บไซต์ opendata.nesdc.go.th ซึ่งเป็นฐานข้อมูลเปิดภาครัฐเพื่อสนับสนุนการติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ ระบุว่า

ประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่ลดลงต่อเนื่อง สวนทางกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุ

ข้อมูลจากกรมการปกครอง ปี 2564 มีเด็กเกิดใหม่ 5.4 แสนคน ซึ่งมีอัตราการเกิด ต่ำกว่า 6 แสนคน เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ถือเป็น อัตราการเกิดที่ต่ำที่สุดในรอบ 70 ปี สวนทาง และจำนวนผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งในปี 2564 มีผู้สูงอายุสูงถึง 121 ล้านคน

การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ประกอบกับปัจจัยทางเศรษฐกิจ

ถือเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ส่งผลให้ประชาชนทั่วไปชะลอการมีบุตร พบว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราการเกิดลดลง ได้แก่ การที่ผู้หญิง มีบทบาทในสังคมและมีส่วนร่วมในกลุ่มแรงงานมากขึ้น ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ความกังวลต่อภาระค่าใช้จ่าย ความไม่สมดุล ระหว่างการงานและครอบครัว การบีบคั้นทางเศรษฐกิจและ สังคมการเมือง และความเหลื่อมล้ำ ทั้งนี้ ในปัจจุบันสถานการณ์ การแพร่ระบาดของ COVID-19 อาจเป็นตัวเร่งให้การเกิดน้อย และการลดลงของประชากรไทยเร็วขึ้น

อัตราการเกิดที่ลดลง ส่งผลต่อการขาดแคลนแรงงานในอนาคต รวมทั้งเกิดภาวะพึ่งพิงวัย แรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น

โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดการณ์ว่าในปี 2583 หากอัตราการเกิด
ยังคงลดลง สัดส่วนวัยเด็กจะมีเพียงร้อยละ 12.8 ในขณะที่วัยแรงงานลดลงเหลือร้อยละ 56 และสัดส่วนของผู้สูงอายุสูงถึงร้อยละ 31.2 ขณะเดียวกัน ผลวิจัยของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกาคาดการณ์ว่า อีก 78 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะมีจำนวนประชากรลดลงครึ่งหนึ่งจาก 71 ล้านคน เหลือ 35 ล้านคน ซึ่งในอนาคตจะทำให้จัดเก็บภาษีได้ลดลง การขาดแคลน แรงงานที่มีฝีมือ ต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติ รวมทั้งรูปแบบ ครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไปจากครอบครัวขยายกลายเป็น ครอบครัวเดี่ยว การเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ ปัญหาความมั่นคง และขาดทรัพยากรมนุษย์ในการพัฒนาประเทศ

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

ควรเตรียมพร้อมรับมือในการให้ความสำคัญกับ อัตราการเกิดเพื่อสร้างสมดุลให้แก่จำนวนประชากร ในแต่ละช่วงวัยให้มีความเหมาะสม อาทิ นโยบายส่งเสริมการเข้าถึงระบบอนามัยการเจริญพันธุ์ที่มีคุณภาพครอบคลุมประชาชนทุกระดับ สร้างระบบการวางแผนชีวิตครอบครัวที่ได้มาตรฐาน

มุ่งเน้นการลงทุนทางสังคมเพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กให้เต็มศักยภาพ อาทิ ส่งเสริมให้มีศูนย์เด็กเล็กก่อนวัยเรียน ทั้งในสถานที่ทำงานภาครัฐ ภาคเอกชน และในชุมชนตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยเอื้อต่อการเรียนรู้

การส่งเสริมการใช้ชีวิตคู่ในกลุ่มคนโสดรุ่นใหม่เพิ่มสิทธิการรักษาภาวะมีบุตรยาก ให้กับประชาชนเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากร รองรับสังคมสูงวัยและลดภาระพึ่งพิงวัยแรงงาน

ที่มา : กองพัฒนานโยบายและนวัตกรรมทางสังคม,สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์,กรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง