จับตา! เวียดนามเล็งซื้ออาวุธสหรัฐฯ เพิ่มความหลากหลายคลังอาวุธ

ต่างประเทศ
16 ธ.ค. 65
18:27
529
Logo Thai PBS
จับตา! เวียดนามเล็งซื้ออาวุธสหรัฐฯ เพิ่มความหลากหลายคลังอาวุธ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สงครามในยูเครน ความขัดแย้งในอีกหลายจุดของโลก นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจค้าอาวุธเฟื่องฟูขึ้นอย่างรวดเร็ว "เวียดนาม"คือ 1 ในประเทศที่ทุ่มงบประมาณมหาศาลไปกับการนำเข้าอาวุธ

ปัจจุบันนี้ "เวียดนาม" ติดอันดับ 1 ใน 20 ประเทศที่นำเข้าอาวุธมากที่สุดในโลกและเคยไต่อันดับขึ้นสูงสุดถึงอันดับ 8 ของโลกเมื่อ 6 ปีที่แล้ว (2016) โดยในแต่ละปี รัฐบาลเวียดนามจะทุ่มเงินเพื่อจัดซื้ออาวุธนับพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แม้ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมายอดคำสั่งซื้อจะลดลง เนื่องจากโควิด-19 แต่ประเทศนี้ก็ยังเป็นประเทศเนื้อหอมในหมู่บริษัทค้าอาวุธข้ามชาติ

โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน เปิดเผยว่า บริษัทผู้พัฒนาอาวุธสัญชาติอเมริกัน 5 บริษัท ได้เข้าพูดคุยกับเจ้าหน้าที่กระทรวงความมั่นคงสาธารณะและกระทรวงกลาโหมแห่งชาติเวียดนาม ระหว่างที่มาร่วมออกบูธในงานจัดแสดงอาวุธ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่กรุงฮานอยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

แต่การพูดคุยครั้งนี้มีนัยสำคัญอะไร?

แม้จะเป็นการหารือในเบื้องต้นและไม่ได้รับประกันว่าจะมีการตกลงซื้อขายอาวุธกันหรือไม่ แต่นักวิเคราะห์มองว่าการพูดคุยครั้งนี้เปรียบเสมือนการเปิดศักราชใหม่ของกองทัพเวียดนาม ที่จะเปิดกว้างกับอาวุธสัญชาติอเมริกันมากขึ้น และส่งสัญญาณว่า เวียดนามพร้อมยกระดับความสัมพันธ์ด้านกลาโหมกับสหรัฐฯ ให้แน่นแฟ้นมากขึ้น

การหารือดังกล่าวมีการพูดถึงการจัดซื้ออาวุธหลายประเภท รวมถึงเฮลิคอปเตอร์เพื่อใช้ในงานด้านความมั่นคงภายใน และยังรวมถึง โดรน เรดาร์และระบบอื่นๆ เพื่อเฝ้าระวังและรักษาความปลอดภัยของประเทศ ทั้งทางบก ทางน้ำและอากาศ

ขณะที่ นายกฯ เวียดนาม พูดชัดเจนบนเวทีระหว่างกล่าวเปิดงานว่า เวียดนามหวังที่จะสร้างความร่วมมือและเปิดทางให้ประเทศ สามารถจัดหาอาวุธจากผู้ผลิตที่มีความหลากหลายมากขึ้นได้ หลังจากเวียดนามพยายามที่จะพัฒนากองทัพให้มีความทันสมัย

 

ปัจจุบัน แทบจะเรียกได้ว่า "รัสเซีย" เป็นประเทศที่ผูกขาดการส่งอาวุธให้กับเวียดนาม โดยข้อมูลจากสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศสตอกโฮล์มชี้ว่า ระหว่างปี 1995-2021 เวียดนามนำเข้าอาวุธจากรัสเซียทุกปี ซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็นมากกว่าร้อยละ 80 ของการนำเข้าทั้งหมด ทิ้งห่างอันดับ 2 อย่างอิสราเอลแบบไม่เห็นฝุ่น

ตัวเลขเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า กองทัพเวียดนามพึ่งพิงอาวุธจากรัสเซียแทบจะทั้งหมด โดยสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะอาวุธและระบบต่างๆ ที่กองทัพมีอยู่เดิม ใช้มาตั้งแต่สมัยสงครามเย็น ซึ่งเวียดนามได้รับการสนับสนุนจากอดีตสหภาพโซเวียต

ทำให้การเปลี่ยนไปใช้ระบบตะวันตกมีต้นทุน ทั้งเรื่องเงินและทรัพยากรคน นอกจากนี้ยังรวมถึงความพยายามในการซื้ออาวุธจากชาติตะวันตกที่ล้มเหลวในช่วงก่อนหน้านี้

1 ในความล้มเหลวในการเจรจาขอซื้ออาวุธจากชาติตะวันตก คือ ความพยายามในการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ "มิราจ-2000" จากฝรั่งเศสในช่วงทศวรรษที่ 1990

ซึ่งเป็นช่วงที่เวียดนามต้องการพัฒนากองทัพให้ทันสมัย หลังจากจีนเริ่มยกเครื่องกองทัพอากาศ โดยหันไปซื้อเครื่องบินรบจากรัสเซีย ทำให้เวียดนามไม่มีทางเลือก แต่การจัดซื้ออาวุธที่ดูเป็นเรื่องปกติธรรมดาสำหรับหลายประเทศ กลับไม่ง่ายแบบนั้นสำหรับเวียดนาม ซึ่งกำลังถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตร ทำให้การซื้ออาวุธจากชาติตะวันตกประสบปัญหา

ในขณะที่ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ยิ่งทำให้เวียดนามตระหนักถึงความจำเป็นในการจัดหาอาวุธจากหลายแหล่ง เพราะการหวังพึ่งรัสเซียอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ถูกนักในช่วงนี้ ในอดีตนั้นการทำสงครามของรัสเซียเคยส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาวุธเวียดนามไม่น้อย เช่น กรณีรัสเซียผนวกรวมไครเมียเมื่อปี 2014 ทำให้การจัดซื้อชิ้นส่วนอาวุธของเวียดนามจากยูเครนต้องหยุดชะงัก

ในปี 2016 สหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรเวียดนาม ทำให้บริษัทผู้ผลิตอาวุธสัญชาติอเมริกันสามารถเข้ามาทำการค้ากับเวียดนามได้ ซึ่งในเวลาเพียงไม่กี่ปี สหรัฐฯ ก็ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่ส่งอาวุธให้เวียดนามมากเป็นอันดับ 5

ขณะที่สัดส่วนการนำเข้าอาวุธจากรัสเซียลดลงเหลือประมาณร้อยละ 55 เท่านั้น ซึ่งจุดนี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงยุทธศาสตร์การจัดหาอาวุธของกองทัพเวียดนามที่เริ่มปรับเปลี่ยนมาก่อนหน้านี้แล้ว

แต่การจะหันไปซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ ไม่ใช่ว่าจะไม่มีอุปสรรค เนื่องจากปัจจัยแรกคือ ราคาอาวุธอเมริกันสูงกว่าหลายชาติ แถมยังอาจจะต้องมาปรับเปลี่ยนระบบภายในของกองทัพด้วย หรือกำลังพลอาจจะยังไม่คุ้นชินกับระบบตะวันตก ขณะที่ต้องยอมรับว่า ยังมีโอกาสที่สหรัฐฯ จะคว่ำบาตรเวียดนามในอนาคตจากประเด็นสิทธิมนุษยชนด้วย

ถึงจะมีแนวโน้วว่าเวียดนามจะตีจากรัสเซีย และหันมาซบอกสหรัฐฯ ในด้านอาวุธ แต่นักวิเคราะห์หลายคนเห็นตรงกันว่า ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะสหรัฐฯ เองก็ไม่ใช่ชาติเดียวที่เวียดนามสนใจ นอกจากนี้ยังมีอิสราเอล อินเดีย ยุโรป รวมถึงชาติในเอเชียอื่นๆ ด้วย

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง