ดัน "น้ำบูดูสายบุรี" นำร่อง soft power สู่ตลาดโลก

ภูมิภาค
18 ธ.ค. 65
13:47
563
Logo Thai PBS
ดัน "น้ำบูดูสายบุรี" นำร่อง soft power สู่ตลาดโลก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นายกรัฐมนตรี หนุน ศอ.บต.จับมือเชฟชุมพล ดัน “น้ำบูดูสายบุรี” เตรียมรังสรรค์เมนูใหม่ ขยายตลาดกลุ่มใหม่ หวังดัน soft power อัตลักษณ์ท้องถิ่นจังหวัดชายแดนใต้สู่ตลาดโลก

วันนี้ (18 ธ.ค.2565) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ กล่าว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชื่นชมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการผลักดัน soft power อัตลักษณ์ท้องถิ่นจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพื่มรายได้แก่ประชาชน

ล่าสุด ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มีโครงการเรือธง “สายบุรี บูดู สู่ตลาดโลก” ซึ่งจะร่วมมือกับเชฟชุมพล แจ้งไพร ในการพัฒนารสชาติน้ำบูดู ให้ตรงกับรสนิยมผู้บริโภคต่างชาติมากขึ้น รวมถึงพัฒนาเมนูอาหารที่มีน้ำบูดูเป็นส่วนประกอบให้หลากหลาย เพื่อส่งเสริมการบริโภค สร้างความสนใจจากผู้บริโภคกลุ่มใหม่

น.ส.รัชดา กล่าวว่า น้ำบูดูเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาวมลายูมุสลิมทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้และมาเลเซีย และเป็นสินค้าเศรษฐกิจของคนในพื้นที่ ผลิตเป็นอุตสาหกรรมส่งในประเทศและส่งออกไปยังหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

น้ำบูดูสายบุรี นำร่องผลักดันสู่ตลาดโลก 

ทั้งนี้ พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต.รายงานต่อนายกรัฐมนตรีว่า ตลาดส่งออกสินค้าน้ำบูดูของไทยมีโอกาสเติบโตอีกมาก ทางศอ.บต.จึงกำหนดโครงการเรือธงขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมการบริโภคในประเทศและขยายตลาดสู่ตลาดฮาลาลทั่วโลกให้มากยิ่งขึ้น

โดยเลือกน้ำบูดู อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เป็นพื้นที่นำร่อง เพราะเป็นแหล่งผลิตใหญ่ เป็นต้นน้ำในการพัฒนาน้ำบูดูให้เป็นที่รู้จัก ที่ผ่านมามีการแปรรูปให้ทานง่ายขึ้น เช่น ทำเป็นผงบรรจุซอง อัดแท่งใส่กล่อง เพื่อยืดอายุการรับประทาน มีหลายระดับความเค็มให้เลือก และพัฒนาให้เป็นส่วนผสมของอาหารอื่นๆ

ภายใต้โครงการ “สายบุรี บูดู สู่ตลาดโลก” ทางศอ.บต จะเป็นหลักในการขับเคลื่อนร่วมกับส่วนราชการต่างๆ ภาคเอกชน และประชาชน มีเชฟชุมพลฯ เป็นผู้ให้คำแนะนำเรื่องคุณภาพ รสชาติ และรังสรรค์เมนูน้ำบูดูเพื่อส่งเสริมการบริโภค เพิ่มเติมจาก ข้าวยำ บูดูทรงเครื่อง ซึ่งเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปเป็นอย่างดี

ขณะที่ภาคเอกชนที่จะเข้าร่วม จะต้องมีโรงงานที่กระบวนการผลิตได้มาตราฐานสากลและฮาลาล ทั้งนี้ ยังมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในห่วงโซ่การผลิตด้วย นั่นหมายความว่า โครงการนี้จะสามารถสร้างอาชีพและรายได้แก่ประชาชนในละแวกได้เป็นจำนวนมาก ครอบคลุมกลุ่มชาวประมง เกษตรกร และกลุ่มแม่บ้าน ส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชนอย่างยั่งยืน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง