คณะสอบสวนเหตุบุกสภาสหรัฐฯ เสนอดำเนินคดี "ทรัมป์"

ต่างประเทศ
20 ธ.ค. 65
11:51
180
Logo Thai PBS
คณะสอบสวนเหตุบุกสภาสหรัฐฯ เสนอดำเนินคดี "ทรัมป์"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
คณะกรรมาธิการสอบสวนกรณีเหตุบุกอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ 6 ม.ค.2021 เสนอเรื่องต่อกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เพื่อพิจารณาดำเนินคดีกับโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดี ในคดีอาญา 4 ข้อหา

วันนี้ (20 ธ.ค.2565) คณะกรรมาธิการสอบสวนกรณีเหตุบุกอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ 6 ม.ค.2021 ตัดสินใจเสนอเรื่องต่อกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เพื่อพิจารณาดำเนินคดีกับโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดี ในคดีอาญาภายใต้ข้อกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมและอยู่เบื้องหลังเหตุความไม่สงบดังกล่าว

การสอบสวนที่ดำเนินมา 1 ปีครึ่ง ความเคลื่อนไหวครั้งนี้แม้จะเป็นในเชิงสัญลักษณ์ เนื่องจากทางคณะกรรมาธิการไม่มีอำนาจดำเนินคดีทางกฎหมาย แต่นับว่ามีความสำคัญเนื่องจากเมื่อกลางเดือนที่แล้ว ทรัมป์เพิ่งจะประกาศตัวลงชิงชัยในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกสมัย ซึ่งจะเกิดขึ้นในปี 2024 และหากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ตัดสินใจเดินหน้าดำเนินคดีจริง ผลอาจไปถึงขั้นการตัดสิทธิ์ให้ทรัมป์หมดคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ในอนาคต

สำหรับข้อสรุปของคณะกรรมาธิการสอบสวนกรณีเหตุบุกอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ระบุว่า โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธบดีสหรัฐฯ สมควรถูกตั้งข้อหาที่เกี่ยวข้องกับเหตุบุกอาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2021

โดยทางคณะกรรมาธิการ ระบุว่า อดีตผู้นำสหรัฐฯ ยุยงปลุกปั่นกลุ่มผู้สนับสนุน และให้การช่วยเหลือ ส่งเสริมผู้ก่อความไม่สงบในการละเมิดกฎหมายหลายต่อหลายข้อ ใจความสำคัญในการแถลงสรุปรายงานต่อกรณีนี้ ระบุว่า เหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 6 ม.ค.2021 จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่มีทรัมป์เป็นปัจจัย

ทางคณะกรรมาธิการที่ประกอบไปด้วยสมาชิกจากพรรคเดโมแครต 7 คน และรีพับลิกัน 2 คน ลงความเห็นว่า มีหลักฐานเพียงพอที่จะเอาผิดทรัมป์ใน 4 ข้อหา ได้แก่ 1.ขัดขวางกระบวนการของรัฐ 2.สมรู้ร่วมคิดในการกระทำการฉ้อฉลต่อชาติ 3.สมรู้ร่วมคิดในการกล่าวหรือแจ้งข้อความที่เป็นเท็จ 4.ข้อหาผลักดัน ช่วยเหลือสนับสนุนส่งเสริมการก่อความไม่สงบ

ข้อสรุปนี้มีขึ้นหลังการสอบสวนที่ดำเนินมายาวนานถึง 18 เดือน ถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงสุดท้ายของวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์

คณะสอบสวนผลักดันดำเนินคดีอดีตผู้นำสหรัฐฯ 4 ข้อหา

สำหรับ 4 ข้อหา ที่คณะกรรมาธิการสอบสวนกรณีเหตุบุกอาคารรัฐสภาสหรัฐฯแนะให้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เดินหน้าดำเนินคดีอดีตประธานาธิบดีทรัมป์  

1. ข้อหาขัดขวางกระบวนการของรัฐ ฐานความผิดนี้กำหนดให้การกระทำใด ๆ ที่ขัดขวาง ใช้อิทธิพลหรือหน่วงเหนี่ยว กระบวนการใด ๆ ของรัฐ หรือพยายามกระทำการดังกล่าว ถือเป็นความผิดอาญา ทางคณะกรรมาธิการแนะให้ดำเนินคดีในข้อหานี้เนื่องจากทรัมป์จงใจยับยั้งกระบวนการรับรองผลการเลือกตั้งของสภาคองเกรส

2. สมรู้ร่วมคิดในการกระทำการฉ้อฉลต่อชาติสหรัฐฯ ความผิดฐานนี้หมายถึงการที่บุคคล 2 คนขึ้นไปสมรู้ร่วมคิดกันก่อการคุกคามสหรัฐฯ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หรือหลอกลวงรัฐ หรือหน่วยงานใด ๆ ของรัฐ ซึ่ง คณะกรรมาธิการเชื่อว่า ทรัมป์ร่วมมือกับบุคคลอื่น ๆ เพื่อเตะถ่วงการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลสหรัฐฯ และสร้างความเข้าใจผิดแก่ประชาชนเรื่องผลการเลือกตั้ง พ.ย.2020

3. สมรู้ร่วมคิดในการกล่าวหรือแจ้งข้อความที่เป็นเท็จเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปกปิด ให้ข้อมูลเท็จหรือแจ้งข้อความหรือเอกสารเท็จทั้งที่ตระหนักดีว่าไม่เป็นความจริง ถือเป็นการกระทำความผิดอาญา โดยคณะกรรมาธิการอ้างว่าทรัมป์และผู้สนับสนุนวางแผนจะพลิกผลการเลือกตั้งในรัฐสมรภูมิสำคัญ 7 รัฐ เพื่อให้ทรัมป์ชนะเลือกตั้ง

4. ข้อหาก่อความไม่สงบ ข้อหานี้เกี่ยวกับความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ช่วยเหลือ หรือมีส่วนร่วมในการก่อความไม่สงบ หรือต่อต้านต่อทางการสหรัฐฯ โดยคณะกรรมาธิการอ้างว่า ทรัมป์ส่งเสริมให้ผู้สนับสนุนเดินทางไปยังกรุงวอชิงตัน เพื่้อก่อความวุ่นวาย และระหว่างที่เกิดความรุนแรงขึ้น ทรัมป์ก็ไม่ได้พยายามกระทำการใด ๆ เพื่อหยุดยั้ง


ย้อนเหตุการณ์หลังจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พ.ย.2020 ทรัมป์ชิงเก้าอี้ไบเดน ผลออกมาว่าทรัมป์แพ้ แต่เขายืนยันว่า ถูกโกง และในวันที่ 6 ม.ค.2021 ซึ่งสภาสหรัฐฯ มีกำหนดจะรับรองผลการเลือกตั้ง เกิดเหตุที่ไม่มีใครคาดคิด เมื่อกลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์บุกเข้าไปในอาคาร ทำลายข้าวของ สร้างความเสียหาย และทำให้มีผู้เสียชีวิต มีผู้ที่ถูกจับกุมในเหตุวันนั้นมากกว่า 900 คน ตามข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ

ขณะที่ทรัมป์ปราศรัยอยู่บนเวทีที่ห่างออกไปไม่ไกลจากที่เกิดเหตุ แต่ข้อหนึ่งที่ทางคณะกรรมาธิการหยิบยกมาเป็นเหตุผลในการผลักดันการดำเนินคดีทรัมป์ คือเขาไม่พยายามยับยั้งผู้สนับสนุน ให้ยุติการใช้ความรุนแรง แต่กลับเพิกเฉยอยู่นาน กระทั่งเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ผู้นำสหรัฐฯ ในขณะนั้นจึงออกปากขอความสงบ และแทบจะในทันทีที่ทรัมป์ส่งสารดังกล่าวออกไป ผู้ก่อเหตุส่วนหนึ่งยุติการก่อความรุนแรงแทบจะในทันที

ทั้งนี้ ข้อสรุปและข้อเสนอของคณะกรรมาธิการสอบสวนในวันนี้ไม่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย และกระทรวงยุติธรรมมีอำนาจตัดสินใจในขั้นสุดท้ายว่าจะดำเนินคดีต่ออดีตผู้นำสหรัฐฯ และพวกพ้องหรือไม่ แต่ข้อสรุปนี้อาจเป็นตัวผลักดันให้กับการสืบสวนคดีอาญาที่ อัยการพิเศษกำลังดำเนินการต่อทรัมป์และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องอยู่ได้ รวมทั้งอาจจะมีผลทางการเมืองมากกว่าทางกฎหมาย

คณะกรรมการสอบสวนชุดนี้จะยุติบทบาทของตนลงในวันที่ 3 ม.ค.ที่จะมาถึง เมื่อพรรครีพับลิกันจะขึ้นมาเป็นผู้นำเสียงข้างมากในสภาล่างสหรัฐฯ แทน 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง