"กรมประมง" ทำลายแล้ว “ปลาเรืองแสงจีเอ็มโอ” 3,640 ตัว

สิ่งแวดล้อม
7 ก.พ. 66
14:51
3,022
Logo Thai PBS
"กรมประมง" ทำลายแล้ว “ปลาเรืองแสงจีเอ็มโอ” 3,640 ตัว
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมประมง เผย ตั้งแต่ 1 ก.ย.-30 พ.ย.65 คนที่ครอบครองส่งคืน "ปลาเรืองแสงจีเอ็มโอ" ให้ทำลายแล้ว 3,640 ตัว คุมเข้มผู้ประกอบการขอขึ้นทะเบียนเพาะพันธุ์กว่า 30 ราย ที่ ราชบุรี และ นครปฐม

วันนี้ (6 ก.พ.2566) นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ ถึงความคืบหน้าหลังกรมประมงประกาศให้ผู้ที่ครอบครอง “ปลาเรืองแสงจีเอ็มโอ” หรือ ปลาที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรม (Genetically Modified Organisms : GMOs) ต้องนำมาคืนให้กับกรมประมง ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. - 30 พ.ย.2565 ที่ผ่านมา ว่า มีผู้ที่มาส่งคืน "ปลาจีเอ็มโอ" เพื่อให้กรมประมงนำไปทำลายแล้วจำนวน 3,640 ตัว นอกจากนี้ ยังผู้ที่มาของขึ้นทะเบียนเพาะพันธุ์ ทั้งหมด 32 ราย อยู่ในพื้นที่ จ.ราชบุรี และ นครปฐม

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ปลาเรืองแสง หรือ ปลาที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรม (Genetically Modified Organisms : GMOs) เป็นหนึ่งใน 13 ชนิดหรือสัตว์น้ำเอเลียนสปีชีส์ที่มีกฎหมายห้ามนำเข้ามาเพาะเลี้ยงเมื่อปี 2564 เพราะเป็นปลาที่มีความเสี่ยงจะเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหากหลุดรอดในระบบนิเวศ

 

ปลาเรืองแสง เป็นปลาที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรม ด้วยเทคนิคการนำยีนที่ได้จากแมงกะพรุนหรือดอกไม้ทะเลบางชนิดไปใส่ไว้ใน DNA ที่ควบคุมลักษณะทางพันธุกรรมของปลา และจะสร้างโปรตีนที่มีลักษณะเด่นขึ้นมา เมื่อถูกกระตุ้นด้วยแสงไฟ Blacklight จะทำให้ตัวปลาเรืองแสงสะท้อนขึ้นมาเกิดความแปลกตา สวยงาม 

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ปลาเรืองแสง ที่มีการตัดต่อยีนพันธุ์กรรมเพื่อให้ปลาเรืองแสง ขัดต่อข้อตกลง ในพิธีสารคาร์ตาเฮน่า ว่า ด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ มีเงื่อนไขที่ต้องดำเนินการป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อการที่ GMOs จะก่อให้เกิดอันตรายต่อความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งแวดล้อม และสุขอนามัยของมนุษย์ ซึ่งประทศไทยได้ลงนามไว้ โดยหากไทยไม่ดำเนินการควบคุมการเพาะเลี้ยงปลา GMOs อาจส่งผลกระทบตลาดปลาสวยงามของไทยได้

 

ส่วนมาตรการในเข้มงวดควบคุม กรมประมง มีชุดเฉพาะกิจในการควบคุมบังคับใช้กฎหมาย ตามมาตรา 65 และ มาตรา 144 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และ ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดพันธุ์สัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร พ.ศ.2564 ในตลาดที่มีการจำหน่ายปลาเรืองแสง และตลาดปลาสวยงามขนาดใหญ่ เข้าไปตรวจโดยไม่บอกล่วงหน้า หากพบการกระทำผิดจะดำเนินการตามกฎหมาย โดยในช่างที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการ ร้านจำหน่ายปลาสวยงาม โดยขณะนี้ยังไม่พบปลาเรืองแสงจำหน่ายแล้ว

 

อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ขอประชาสัมพันธ์ไปยังเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง ผู้ประกอบการปลาสวยงาม และกลุ่มลูกค้าปลาสวยงาม ว่าปลาสวยงามมีมากมายหลากหลายสายพันธุ์ ที่สำคัญเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลากัดมีความสามารถเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกอยู่ แล้ว เช่น ปลากัด ปลาหางนกยูง และปลาสวยยงามอื่น ๆ ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าในตัวเองได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการตัดต่อพันธุกรรมซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายในอนาคต

ทางแก้ปัญหาดีที่สุด คือ อย่าซื้อมาเลี้ยง เมื่อปลาเรืองแสงไม่ได้รับความนิยม ก็จะไม่มีคนนำมาขาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทยอยคืน “ปลาเรืองแสงจีเอ็มโอ” หลังกรมประมง ขีดเส้น 3 เดือน

ผู้เลี้ยง "ปลาเรืองแสง" วอนทบทวนคำสั่งห้ามเพาะเลี้ยง

"ปลาเรืองแสง" สวยอันตราย ตัดต่อ GMOs ใครมีให้คืนกรมประมง

ห่วงปลากัด GMOs รุกพันธุ์พื้นเมือง เสี่ยงถูกกีดกันการค้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง