ออสเตรเลียใช้เชื้อราย่อยขยะ สร้างบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้

ต่างประเทศ
28 ก.พ. 66
08:18
442
Logo Thai PBS
ออสเตรเลียใช้เชื้อราย่อยขยะ สร้างบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้
ขยะ เป็นหนึ่งในปัญหาหลักที่ส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน ท่ามกลางความพยายามของทั่วโลกที่เดินหน้าคิดค้นวิธีกำจัดขยะอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ออสเตรเลียนำอีกหนึ่งวิธีมาใช้ โดยการรีไซเคิลด้วยการนำขยะอินทรีย์มาผ่านกระบวนการโดยใช้เชื้อราเป็นตัวช่วย

วันนี้ (28 ก.พ.2566) เชื้อรากลายมาเป็นตัวช่วยสำคัญในกระบวนการรีไซเคิลของบริษัทสตาร์ตอัปแห่งหนึ่งในนครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ที่เปิดตัวตั้งแต่ปี 2020 (พ.ศ.2563) และตั้งเป้าลดปริมาณขยะโดยเฉพาะ

อแมนดา มอร์แกน ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท เปิดเผยว่าทางบริษัทจะนำขยะอินทรีย์จากการเกษตรและการดำเนินธุรกิจต่างๆ เช่น เศษผัก ใบไม้ เศษผ้า ขี้เลื่อย รวมทั้งขยะจากอาหารต่างๆ มาใช้ ถ้าชิ้นใหญ่ก็นำมาบด ก่อนที่จะนำไปผสมกับไมซีเลียม (mycelium) หรือกลุ่มเส้นใยของเห็ดรา

จากนั้นนำไปบรรจุใส่แม่พิมพ์ตามรูปแบบที่ต้องการ และรอประมาณ 7 วันให้เชื้อราเติบโตและแข็งตัวจนขึ้นรูป ก็จะได้เป็นบรรจุภัณฑ์จากขยะ ที่สามารถใช้แทนบรรจุภัณฑ์พลาสติก แถมยังย่อยสลายได้อีกด้วย

มีการทดลองนำกากองุ่นที่เหลือจากกระบวนการผลิตไวน์มาผ่านกระบวนการ และได้ออกมาเป็นบรรจุภัณฑ์ใส่ขวดเครื่องสำอางและขวดไวน์ นอกจากนี้ยังมีการปรับสายพันธุ์ไมซีเลียมให้สามารถย่อยสลายก้นบุหรี่ได้ด้วย

ขยะจากเศษอาหาร เป็นหนึ่งในตัวการที่ทำให้เกิดแก๊สเรือนกระจก และต้องใช้พื้นที่ในการฝังกลบจำนวนมาก แถมบางส่วนยังปนเปื้อนในแหล่งน้ำด้วย ซึ่งจริงๆ แล้ววิธีนี้ไม่ได้แปลกใหม่ แต่เป็นครั้งแรกที่มีการนำมาใช้ในออสเตรเลีย

ออสเตรเลียตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 2025 (พ.ศ.2568) จะเลิกใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งทั้งหมด และบรรจุภัณฑ์ทุกชนิดในประเทศ จะต้องนำมาใช้ซ้ำ หรือนำไปผลิตซ้ำ หรือต้องย่อยสลายได้ ซึ่งปัจจุบันในออสเตรเลียมีบรรจุภัณฑ์ในตลาดประมาณ 6,300,000 ตัน และมีเพียงร้อยละ 54 เท่านั้นที่ถูกนำมารีไซเคิล

อ่านข่าวต่างประเทศเพิ่ม : 

ตุรกีเผชิญแผ่นดินไหวรอบใหม่ขนาด 5.6 เสียชีวิต 1 คน

ชาวอิสราเอลโจมตีชาวปาเลสไตน์ ล้างแค้นเหตุสังหาร

กัมพูชาเร่งตรวจ "ไข้หวัดนก" หวั่นระบาดจากคนสู่คน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง