วิเคราะห์ "เกาหลีเหนือ" เผชิญวิกฤตอาหารรอบใหม่ ?

ต่างประเทศ
2 มี.ค. 66
13:22
499
Logo Thai PBS
วิเคราะห์ "เกาหลีเหนือ" เผชิญวิกฤตอาหารรอบใหม่ ?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"เกาหลีเหนือ" อาจเผชิญภาวะอดอยากครั้งร้ายแรง เบื้องต้นมีรายงานที่ยังไม่ได้รับการยืนยันว่ามีผู้เสียชีวิตแล้วจำนวนหนึ่ง ขณะที่มีการจัดประชุมใหญ่พรรคแรงงานหารือวาระด้านเกษตรกรรม

นอกจากการทดสอบขีปนาวุธและนิวเคลียร์แล้ว อีกด้านหนึ่งของ "เกาหลีเหนือ" คือสภาพความเป็นอยู่ของชาวเกาหลีเหนือที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากมาโดยตลอด สัญญาณที่บ่งบอกอย่างหนึ่งคือการเรียกประชุมคณะกรรมการกลางพรรคแรงงาน ที่ปกติแล้วไม่ได้จัดขึ้นบ่อยๆ และการประชุมยังระบุชัดเจนว่าจัดขึ้นเพื่อหารือวาระด้านเกษตรกรรม

ขณะนี้ เกาหลีเหนืออาจกำลังเผชิญภาวะอดอยากครั้งร้ายแรงที่สุด นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1990 ซึ่งเคยเกิดภาวะขาดแคลนอาหารรุนแรงมาก่อน

แม้ว่าสถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารจะไม่ได้เลวร้ายเท่ากับเมื่อกว่า 30 ปีก่อน แต่อาจเรียกได้ว่าน่ากังวลที่สุดนับตั้งแต่ คิม จอง-อึน ขึ้นแท่นผู้นำสูงสุดเมื่อปี 2011 เห็นได้จากความพยายามในการแสดงถึงการแก้ไขปัญหานี้ ผ่านการประชุมใหญ่ที่จัดขึ้นช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

สำนักข่าว KCNA ของทางการเกาหลีเหนือ รายงานกำหนดการอย่างเป็นทางการของการประชุมครั้งนี้ ว่าจัดขึ้นเพื่อวิเคราะห์และทบทวนโครงการปฏิวัติพื้นที่ชนบทในยุคใหม่และพิจารณาวาระเร่งด่วน หลังจากเผชิญปัญหาขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง

ปกติการประชุมเต็มคณะแบบนี้จะจัดขึ้นปีละ 1-2 ครั้งเท่านั้น แต่การประชุมใหญ่ครั้งนี้จัดขึ้นเพียง 2 เดือน นับจากการประชุมครั้งล่าสุด และเมื่อการประชุมครั้งนี้เจาะจงเฉพาะวาระด้านเกษตรกรรมเท่านั้น ยิ่งเติมเชื้อไฟให้กับข้อสงสัยที่ว่า เกาหลีเหนือกำลังประสบภาวะอดอยากรุนแรงอีกครั้งใช่หรือไม่

การจะเลี้ยงปากท้องประชากร 25 ล้านคน แต่ละปีเกาหลีเหนือจะต้องมีผลผลิตธัญพืชรวม 5.5 ล้านตัน ในจำนวนนี้หลักๆ คือข้าวและข้าวโพด แต่จำนวนผลผลิตเมื่อปี 2022 มีเพียง 4.5 ล้านตัน ซึ่งลดลงจากปีก่อนหน้า

หลังจากผลผลิตภายในประเทศไม่เพียงพอที่จะทำให้ประชาชนอิ่มท้องต่อเนื่องมานานหลายปี ทำให้เกาหลีเหนือต้องหันไปนำเข้าอาหารเพิ่มบางส่วน ซึ่งแม้จะนำเข้าอาหารมาทดแทนแล้ว ผู้เชี่ยวชาญยังประเมินว่าปี 2023 เกาหลีเหนือยังคงขาดแคลนอาหารอีกประมาณ 400,000 ตัน

ช่วงที่ผ่านมา สงครามรัสเซียยูเครนนอกจากจะทำให้ราคาอาหารแพง ราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้น ราคาปุ๋ยสำหรับเพาะปลูกก็เพิ่มขึ้น จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ซ้ำเติมเกาหลีเหนือยิ่งไปกว่าเดิม นอกจากนี้การละทิ้งนโยบายโควิดเป็นศูนย์อย่างฉับพลันของจีน ซึ่งนับเป็นคู่ค้าชาติเดียวของเกาหลีเหนือ ยังทำให้ความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้นและผลักให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ พุ่งขึ้นตามไปด้วย

ย้อนไปในช่วงกลางและปลายทศวรรษที่ 1990 เกาหลีเหนือเผชิญภาวะอดอยากครั้งเลวร้ายที่เป็นผลจากอุทกภัยในเดือน ส.ค.1995 ทำให้น้ำท่วมนาข้าวถึง 1 ใน 4 ของทั้งประเทศ จำนวนผู้เสียชีวิตจากภาวะอดอยากดังกล่าวประเมินว่ามีมากถึง 600,000-1,000,000 คน หรือคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 3-5% ของจำนวนประชากรเกาหลีเหนือทั้งประเทศในขณะนั้นที่มีอยู่ราว 20 ล้านคน

ภัยธรรมชาติเป็นสาเหตุเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะปัญหาความมั่นคงทางอาหารในเกาหลีเหนือเป็นปัญหาสะสม จากการยึดมั่นในนโยบายเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเองของรัฐบาล นั่นคือการพึ่งพาผลผลิตเฉพาะภายในประเทศ แต่ปัจจัยภายในไม่ได้เอื้อต่อการเพาะปลูกมากพอ เช่น คุณภาพดิน ความอุดมสมบูรณ์ต่างๆ รวมถึงระบบโครงสร้างพื้นฐาน ที่ทำให้เกษตรกรบางส่วนหันไปแผ้วถางป่าเพื่อทำไร่นา เมื่อเกิดฝนตกหนักก็ไม่มีต้นไม้ช่วยซับน้ำ ทำให้เกิดอุทกภัยทำลายพืชผลทางการเกษตร กลายเป็นปัญหาลูกโซ่ไม่รู้จบ

เบื้องต้น มีรายงานที่ยังไม่ได้รับการยืนยันว่า มีผู้เสียชีวิตจากภาวะอดอยากรอบนี้แล้วจำนวนหนึ่งในเกาหลีเหนือ แม้ว่าภาพรวมสถานการณ์อาจไม่เลวร้ายเหมือนช่วงกว่า 30 ปีก่อน แต่สถานการณ์ในปัจจุบันนี้อาจเรียกได้ว่าปัจจัยต่างๆ ถาโถมเข้ามาจนทำให้เกาหลีเหนือเสี่ยงที่จะเผชิญฝันร้ายจากภาวะอดอยากอีกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อหยิบเอาความเคลื่อนไหวในการจัดประชุมใหญ่พรรคแรงงานมาพิจารณา

แต่อีกด้านหนึ่ง มีการตั้งข้อสังเกตเช่นกันว่าการประชุมนี้อาจไม่ได้สะท้อนอะไร นอกจากเป็นความเคลื่อนไหวเพื่อการโฆษณาชวนเชื่อ และทำให้ชาวเกาหลีเหนือเห็นว่าผู้นำสูงสุดพยายามดูแลเรื่องปากท้อง เพื่อรักษาแรงสนับสนุนของประชาชนต่อการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของรัฐบาลเกาหลีเหนือต่อไป

วิเคราะห์โดย วินิจฐา จิตร์กรี

อ่านข่าวอื่นๆ

ปัญหาเงินเฟ้อและขาดแคลนอาหารในอังกฤษ

"ไต้หวัน" จ่อแจกเงินดึงนักท่องเที่ยว-กรุ๊ปทัวร์ต่างชาติ

รมต.คมนาคมกรีซ "ลาออก" หลังรถไฟชนกันตายมากกว่า 40 คน

 

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง