สภาพัฒน์ฯ เผยหนี้ครัวเรือน ไตรมาส 3/2565 กลับมาเพิ่มขึ้น

เศรษฐกิจ
2 มี.ค. 66
15:18
989
Logo Thai PBS
สภาพัฒน์ฯ เผยหนี้ครัวเรือน ไตรมาส 3/2565 กลับมาเพิ่มขึ้น
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สภาพัฒน์ฯ รายงาน หนี้ครัวเรือนไตรมาส 3 ของปี 2565 เพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส ห่วงหนี้เสียกระจายทุกกลุ่มตั้งแต่วัยเริ่มทำงาน-เกษียณ แม้สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายแล้วก็ตาม

วันนี้ (2 มี.ค.2566) การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและนโยบายเปิดประเทศ ทำให้นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่าสถานการณ์แรงงานไทยในไตรมาส 4 ของปี 2565 ปรับตัวดีขึ้น ขยายตัวร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน

จำนวนผู้มีงานทำทั้งปี 2565 อยู่ที่ 39.2 ล้านคน แบ่งเป็นภาคเกษตร 11.9 ล้านคน นอกภาคเกษตร 27.3 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในภาคโรงแรมและการท่องเที่ยว

แต่ต้องจับตาการส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอตัว อาจกระทบแรงงานภาคอุตสาหกรรมการส่งออก ทั้งในแง่จำนวนผู้มีงานทำ ชั่วโมงการทำงาน และรายได้ หลังเงินเฟ้อไทยและค่าครองชีพยังอยู่ระดับสูง แม้ได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างแล้วก็ตาม

แม้สถานการณ์เศรษฐกิจฟื้นตัว แต่หนี้ครัวเรือนไทยไตรมาส 3 ของปี 2565 ขยายตัว ร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส นับจากไตรมาส 3 ของปี 2564

หากคำนวณสัดส่วน หนี้ครัวเรือนต่อ GDP จะลดลง จากระดับร้อยละ 88.1 มาอยู่ที่ร้อยละ 86.6 ต่อ GDP คิดเป็นมูลหนี้กว่า 14.9 ล้านล้านบาท

สภาพัฒน์ฯ พบว่า การขยายตัวของหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 3 ของปี 2565 ยังคงมาจากสินเชื่อส่วนบุคคล ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 20 มาอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับสินเชื่อบัตรเครดิต ขยายตัวแตะร้อยละ 10 ในไตรมาสนี้

ที่น่ากังวลใจ คือ ข้อมูลจากเครดิตบูโร ที่พบว่า ผู้มีอายุต่ำกว่า 30 ปี เป็นหนี้เสียบัตรเครดิตมากขึ้น ผู้อยู่ในวัยทำงานสร้างตัวอายุ 30-49 ปี เป็นหนี้เสียสินเชื่อรถยนต์และผู้มีอายุสูงกว่า 60 ปี ยังคงเป็นหนี้เสียและแบกภาระหนี้เฉลี่ย คนละ 77,000 บาท แม้อยู่ในวัยเกษียณแล้วก็ตาม

อีกทั้งยังพบว่าแม้สถานการณ์โควิต-19 คลี่คลาย แต่ปริมาณหนี้เสียในระบบยังสูงกว่า 400,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2565 โดยจำนวนบัญชีลูกหนี้ NPL เพิ่มขึ้นจาก 4.3 ล้านบัญชี เป็น 4.7 ล้านบัญชี ซึ่งเกือบร้อยละ 60 เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล แนะให้สถาบันการเงินให้ความสำคัญ ปรับโครงสร้างหนี้รายย่อยมากกว่านี้

นอกจากนี้ สภาพัฒน์ฯ ยังรายงานบทความเกี่ยวกับปัญหาภาษีเงินได้ส่วนบุคคลฯ ระบุโดยย่อว่า ในแต่ละปีมีผู้จ่ายเงินภาษีเพียง 4.2 ล้านคน จากจำนวนผู้ยื่นแบบภาษี 10.8 ล้านคน

ส่วนใหญ่ เป็นผู้มีรายได้ประจำทั้งผู้มีเงินได้จำนวนมากที่เป็นแรงงานนอกระบบ ยังไม่ได้เข้าระบบภาษี และยังพบว่า ผู้มีรายได้สูงใช้ประโยชน์จากสิทธิลดหย่อนและเงินบริจาคเป็นเครื่องมือประหยัดภาษีมากกว่าผู้มีรายได้ปานกลาง

จึงเสนอให้กระทรวงการคลัง เร่งขยายฐานภาษี ดึงแรงงานนอกระบบ เพิ่มรายการภาษีใหม่ และทบทวนรายการลดหย่อน เพื่อลดแรงกดดันทางการคลัง ที่มีแนวโน้มแบกภาระรายจ่ายสวัสดิการเพิ่มขึ้น จากการเข้าสู่สังคมสูงวัย

อ่านข่าวเศรษฐกิจเพิ่ม : 

ทรู - ดีแทค ควบรวมสำเร็จ ตั้ง "มนัสส์" นั่งซีอีโอคนใหม่ของ "ทรู คอร์ปอเรชั่น"

"มูเตลู" ธุรกิจดาวเด่น รายได้รวมปี 64 เพิ่มขึ้นกว่า 113%

ข่าวที่เกี่ยวข้อง