ทั่วโลกเผชิญคุณภาพอากาศแย่ "เอเชีย" ติดอันดับมลพิษรุนแรง

ต่างประเทศ
16 มี.ค. 66
12:34
3,204
Logo Thai PBS
ทั่วโลกเผชิญคุณภาพอากาศแย่ "เอเชีย" ติดอันดับมลพิษรุนแรง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ทั่วโลกเผชิญปัญหาวิกฤตคุณภาพอากาศ แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากคุณภาพอากาศย่ำแย่กว่า 6 ล้านคน ขณะที่ภาพรวมปี 2022 พื้นที่ที่มีฝุ่น PM2.5 เกินเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศส่วนใหญ่กระจุกตัวในแถบเอเชีย

ปี 2022 เป็นอีกหนึ่งปีที่ปัญหามลพิษทางอากาศทั่วโลกอยู่ในขั้นวิกฤต ซึ่งรายงานคุณภาพอากาศโลกฉบับล่าสุดที่จัดทำขึ้นโดยบริษัทติดตามคุณภาพอากาศ IQAir พบว่า เมื่อปี 2022 มีประเทศและดินแดนที่มีคุณภาพอากาศตรงตามเกณฑ์แนะนำขององค์การอนามัยโลกเพียงแค่ 13 จากทั้งหมด 131 แห่งเท่านั้น

มลพิษทางอากาศยังเป็นภัยคุกคามหลักต่อสุขภาพของผู้คนทั่วโลก แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากคุณภาพอากาศย่ำแย่กว่า 6 ล้านคน และมีต้นทุนทางเศรษฐกิจสูงถึง 8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมากกว่า 270 ล้านล้านบาท คิดเป็นมากกว่า 6% ของ GDP โลก

หลายพื้นที่มีปริมาณฝุ่น PM2.5 เกินเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศ โดยพื้นที่ที่เผชิญปัญหาหนักๆ กระจุกตัวอยู่ในแถบเอเชียเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะจีนและเอเชียใต้ 

"ละฮอร์" ของปากีสถานกลายเป็นเมืองที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุดในโลกเมื่อปี 2022 กระโดดขึ้นมามากกว่า 10 อันดับจากปีก่อนหน้า วัดความเข้มข้นของ PM2.5 ได้มากกว่า 97 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) หรือเกือบ 20 เท่าของเกณฑ์แนะนำ ซึ่งอยู่ที่ไม่เกิน 5 มคก./ลบ.ม.

ขณะที่ 50 อันดับเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดของโลก เป็นเมืองที่อยู่ในอินเดียมากถึง 39 เมือง ตามมาด้วยปากีสถาน 4 เมือง จีน 2 เมือง และในอีก 5 ประเทศ ประเทศละ 1 เมือง

ส่วนสถานการณ์มลพิษในระดับประเทศ รายงานคุณภาพอากาศโลกปี 2022 ระบุว่า "ชาด" เป็นประเทศในแอฟริกาที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ขึ้นแท่นประเทศที่มีคุณภาพอากาศย่ำแย่ที่สุดของโลก ตามมาด้วยอิรักและปากีสถาน ซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนา

สาเหตุหลักๆ ของปัญหามลพิษทั่วโลกมาจากปัญหาไฟป่า และการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลจากการคมนาคมขนส่งและการผลิตพลังงานต่างๆ แม้ภาพรวมของปัญหาทั้งโลกจะดีขึ้นเล็กน้อยจากความพยายามของภาครัฐและประชาชน แต่สิ่งหนึ่งที่น่ากังวล คือ โลกอาจยังไม่เห็นถึงสถานการณ์จริงๆ ที่เกิดขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งตั้งข้อสังเกตถึงวิกฤตหมอกควันที่เกิดขึ้นในอเมริกาใต้ ตะวันออกกลางและโดยเฉพาะอย่างยิ่งแอฟริกา ว่าอาจมีการเก็บข้อมูลปัญหามลพิษไม่เพียงพอ เนื่องจากปัจจุบันภูมิภาคเหล่านี้ยังขาดแคลนอุปกรณ์และเครื่องมือ โดยเฉพาะสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ

ความกังวลนี้สอดคล้องกับรายงานสถานการณ์ของ IQAir ที่ทุกๆ ครั้งที่มีการเก็บข้อมูลในประเทศใหม่ๆ ประเทศเหล่านั้นมักจะมีมลพิษในปริมาณสูงจนติดอันดับต้นๆ ของตาราง

ส่วนสถานการณ์ในอาเซียน อินโดนีเซียถือเป็นประเทศที่มีมลพิษทางอากาศรุนแรงเป็นอันดับ 26 ของโลก ซึ่งถือว่าสถานการณ์เลวร้ายที่สุดในบรรดาชาติสมาชิกอาเซียน ตามมาด้วยลาว เวียดนาม เมียนมาและไทย

นับตั้งแต่โควิด-19 แพร่ระบาด เป็นเรื่องธรรมดาที่มลพิษจะน้อยลง เนื่องจากการบังคับใช้มาตรการคุมเข้มต่างๆ แต่ที่น่าสังเกต คือ อินโดนีเซีย เมียนมาและไทย ค่าความเข้มข้นของ PM2.5 ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าคนจะเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติแล้วก็ตาม

ต้นตอของปัญหามลพิษในภูมิภาคนี้ หลักๆ เป็นผลพวงมาจากการทำอุตสาหกรรม ผลิตไฟฟ้า การปล่อยมลพิษจากยานพาหนะต่างๆ ไปจนถึงการเผาป่า

รายงานคุณภาพอากาศโลก ระบุว่า เมื่อปี 2022 มีเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพียงแค่ 8 เมืองจากทั้งหมด 296 เมืองเท่านั้น ที่มีคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ดี-ตรงกับเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด หรือคิดเป็นเพียงแค่ 2.7% ของทั้งภูมิภาค

ขณะที่ประเทศที่มีอากาศบริสุทธิ์ มีทั้งออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เอสโตเนีย ฟินแลนด์ เกรเนดา ไอซ์แลนด์ และอีก 7 ดินแดนในแปซิฟิกและแคริบเบียน ซึ่งจากนี้ต้องจับตาว่ายุคหลังโควิด-19 จะทำให้ปัญหามลพิษทางอากาศกลับมาเลวร้ายเหมือนเดิมหรือไม่

วิเคราะห์โดย ทิพย์ตะวัน ธีรนัยพงศ์

อ่านข่าวอื่นๆ

IQAir เปิดเผย "ชาด" ขึ้นอันดับ 1 ประเทศคุณภาพอากาศเฉลี่ยแย่ที่สุดในโลกปี 2565

ทะลุ100% ! อาร์เจนตินาเผชิญวิกฤตเงินเฟ้อรุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปี

บราซิลพบ "หินพลาสติก" สะท้อนมลภาวะฝีมือมนุษย์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง