วิน จยย.-แท็กซี่ไฟฟ้าบุกคมนาคมทวงถามแก้ไขปัญหา "รถป้ายขาว"

เศรษฐกิจ
22 มี.ค. 66
12:33
196
Logo Thai PBS
วิน จยย.-แท็กซี่ไฟฟ้าบุกคมนาคมทวงถามแก้ไขปัญหา "รถป้ายขาว"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารับจ้างสาธารณะ และกลุ่มสมาคมแท็กซี่ยานยนต์ไฟฟ้า บุกกระทรวงคมนาคมเพื่อทวงถามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหารถป้ายขาวที่ให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน มาวิ่งให้บริการทับเส้นทางจนกระทบต่อรายได้ของวินฯ ที่ถูกกฎหมาย

วันนี้ (22 มี.ค.2566) กลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารับจ้างสาธารณะ บุกกระทรวงคมนาคม เพื่อติดตามทวงถามถึงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ถึงแม้จะมีการประกาศยุบสภาแล้ว แต่ก็ยังอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาแก้ไข โดยเฉพาะเรื่อง แกร็ปวินผิดกฎหมาย ที่ยังเอารถออกมาวิ่งให้บริการอยู่ ซึ่งก็ได้สร้างปัญหาให้กับวินที่วิ่งอย่างถูกกฎหมาย ขาดรายได้และผู้ใช้บริการน้อยลง

ตัวแทนรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า (EV) รับจ้างสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และกลุ่มสมาคมแท็กซี่ยานยนต์ไฟฟ้า ได้นัดรวมตัวกันที่บริเวณด้านหน้ากระทรวงคมนาคม เพื่อยื่นหนังสือถึง นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม ในฐานะรักษาการ รมว.คมนาคม โดยการมาครั้งนี้ เป็นการติดตามทวงถามเรื่องการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน เนื่องจากสมาคมผู้ขับขี่จักรยานยนต์ไฟฟ้า (EV) รับจ้างสาธารณะ และเครือข่ายได้ทำหนังสือร้องเรียนแก้ปัญหามาหลายปี

ทั้งนี้ ปัจจุบันปัญหาหลายเรื่องยังไม่ได้รับการแก้ไขให้แล้วเสร็จ โดยเฉพาะการขอให้ทบทวนเรื่องหมวดรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล หรือ ป้ายขาว ที่นำมาจดทะเบียนเป็นป้ายเหลือง วิ่งผ่านแอปพลิเคชัน ที่กรมการขนส่งทางบก แจ้งว่า ได้ส่งเรื่องให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว แต่ยังไม่ทราบผล ซึ่ง ปัจจุบันรถจักรยานยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของบริษัท แกร็บ ยังนำรถผิดกฎหมายมาวิ่งให้บริการอยู่ อีกทั้งยังคงรับผู้โดยสารที่หน้าวิน สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ขับขี่วินทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร

สันติ ปฎิภาณรัตน์ นายกสมาคมผู้ขับขี่จักรยานยนต์ไฟฟ้า EV รับจ้างสาธารณะ ระบุว่า ถึงแม้จะมีการยุบสภาแล้ว แต่ก็อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาบังคับใช้กฎหมายกับบริษัทแกร็บให้หยุดนำรถผิดกฎหมายมาวิ่งให้บริการ

ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะ หายออกจากระบบประมาณ 50,000-60,000 คัน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และต้นทุนราคาน้ำมันเชื้อเพลงที่สูงขึ้น จากก่อนหน้านี้ มีผู้ให้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 50 เขต ประมาณ 120,000 คัน แต่ปัจจุบันเหลือแค่ประมาณ 71,000 คันเท่านั้น

ภายหลังการยื่นหนังสือข้อร้องเรียนแล้วเสร็จ ทางกลุ่มสมาคมรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารับจ้างสาธารณะและสมาคมรถแท็กซี่ยานยนต์ไฟฟ้าจะมีการประชุมหารือร่วมกับผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง