แผนที่ "ดาวอังคาร" ทั้งดวงฉบับล่าสุด จากยานอวกาศโฮปของ UAE

Logo Thai PBS
แผนที่ "ดาวอังคาร" ทั้งดวงฉบับล่าสุด จากยานอวกาศโฮปของ UAE
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เปิดภาพแผนที่ดาวอังคารใหม่ล่าสุดจากข้อมูลของยานอวกาศโฮป พร้อมแจกไฟล์ภาพหนังสืออธิบายลักษณะทางธรณีวิทยาของดาวอังคารให้แก่คนทั่วไป

มหาวิทยาลัยนิวยอร์กประจำกรุงอาบูดาบี (New York University Abu Dhabi - NYUAD) และศูนย์วิทยาศาสตร์อวกาศแห่งชาติอาหรับเอมิเรตส์ ได้ร่วมกันสร้างแผนที่ดาวอังคารฉบับใหม่ล่าสุด จากข้อมูลรูปภาพ 3,000 รูปของยานอวกาศ ‘โฮป’ (HOPE) ซึ่งเป็นยานอวกาศลำแรกที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ส่งไปสำรวจดาวอังคาร เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 2021

ยานอวกาศโฮป ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจสำรวจทุกความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในชั้นบรรยากาศของดาวอังคารเป็นหลัก ยกตัวอย่างเช่น พายุฝุ่นขนาดยักษ์ที่มักมีขนาดใหญ่เสียจนปกคลุมดาวไปได้ทั้งดวง ผ่านเซนเซอร์ต่าง ๆ ซึ่งยานโฮปนั้นโคจรอยู่ในระยะที่ค่อนข้างห่างจากดาวอังคารระหว่าง 20,000 ถึง 43,000 กิโลเมตรโดยเฉลี่ย จึงทำให้กล้องบนยานสามารถถ่ายภาพดาวอังคารได้ทั้งดวงในครั้งเดียว

และนอกเหนือจากแผนที่ที่ได้รับการเผยแพร่ออกมาแล้ว ทางสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็ยังปล่อยภาพของดาวอังคารในมุมมองต่าง ๆ ในแต่ละช่วงเวลาของปีอีกมากมาย ซึ่งมีการนำมารวมกันมาเป็นสมุดแผนที่ หรือที่เรียกว่า ‘แอตลาส’ มาปล่อยเป็นไฟล์ให้ผู้คนทั่วโลกสามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้ฟรีอีกด้วย โดยมีเรื่องราวของดาวอังคารที่น่าสนใจแสดงอยู่ ดังนี้

Tharsis | ธาร์ซิส  ดินแดนภูเขาไฟยักษ์

ภาพจากยานอวกาศโฮปเผยให้เห็นถึงภูเขาไฟทรงโดมขนาดยักษ์ทั้ง 4 ลูก ที่ตั้งอยู่ทางซีกตะวันตกของดาวอังคาร ในอาณาบริเวณที่นักดาราศาสตร์ขนานนามว่า ‘ธาร์ซิส’ (Tharsis) ซึ่งรากศัพท์มาจากภาษากรีก-โรมัน ที่แปลว่า ‘ขอบโลกทิศตะวันตก’ โดยภูมิภาคธาร์ซิส นี้ถือเป็นที่ตั้งของภูเขาไฟ ‘โอลิมปัส’ (Olympus Mons) ภูเขาไฟที่สูงที่สุดในเขตธาร์ซิส และสูงที่สุดในระบบสุริยะของเรา

ด้วยแรงโน้มถ่วงที่ค่อนข้างต่ำของดาวอังคารประมาณ 1 ใน 3 ของโลก ทำให้ภูเขาไฟโอลิมปัสนี้มีความสูงมากกว่า 22 กิโลเมตร หรือ สูงกว่าภูเขาเอเวอเรสต์ประมาณ 2.5 เท่า ซึ่งสามารถสังเกตได้จากอวกาศอย่างชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามภูเขาไฟกลุ่มนี้ดับลงไปนานแล้ว ซึ่งคาดว่าการปะทุครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 25 ล้านปีที่แล้ว

ส่วนภูเขาไฟอีกสามลูกที่เหลือนั้นมีชื่อว่า อาร์เซีย (Arsia Mons) พาโวนิส (Pavonis Mons) และแอสคราเอียส (Ascraeus Mons) ซึ่งเรียงตัวขนานกันเป็นเส้นตรงอย่างสวยงาม โดยนักวิทยาศาสตร์คาดว่าภูเขาไฟกลุ่มนี้อาจเกิดที่หินหลอมเหลวหรือแมกมาทะลักขึ้นจากรอยแยกของแผ่นเปลือกดาวอังคาร คล้ายกับรอแยกสันเขากลางมหาสมุทรบนโลก เมื่อราว 4,000 ล้านปีก่อนในยุคสมัยที่ดาวอังคารยังคงมีน้ำบนพื้นผิว

Valles Marineris | หุบเขามาริเนอริส รอยบากแห่งดาวอังคาร

หุบเขามาริเนอริส (Valles Marineris) เป็นหุบเขาขนาดยักษ์ที่อยู่เยื้องไปทางตะวันออกของภูมิภาคภูเขาไฟธาร์ซิส โดยหุบเขามาริเนอริสนั้นเป็นหุบเขาที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะของเรา ซึ่งมีความลึกเฉลี่ย 4-5 กิโลเมตร ความยาวถึง 4,000 กิโลเมตร หรือ ใกล้เคียงกับระยะทางจากกรุงเทพฯไปยังกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

ข้อมูลจากทางฝั่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ระบุว่า หุบเขามาริเนอริสนั้น ได้ก่อตัวขึ้นมาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับภูมิภาคภูเขาไฟธาร์ซิส เนื่องจากน้ำหนักของภูเขาไฟเกิดใหม่นั้นได้กดทับแผ่นเปลือกดาวอังคาร ซึ่งก่อให้เกิดแรงดันมหาศาลสะสมตัวเอาไว้ ก่อนที่จะแตกออกกลายเป็นรอยบากขนาดใหญ่อย่างในปัจจุบัน

นอกจากนี้ บริเวณทิศเหนือของหุบเขามาริเนอริสนั้น ก็ยังมีลักษณะร่องรอยของทางน้ำไหลที่คาดว่าเคยเป็นน้ำตกโบราณมาก่อน จากการตรวจพบชั้นดินเหนียวจำนวนมาก โดยนักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อน้ำตกนี้ว่า Echus Chasma ซึ่งมีความกว้างมากถึง 100 กิโลเมตร ลึก 10 กิโลเมตร จึงทำให้น้ำตกนี้อาจเป็นน้ำตกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่ระบบสุริยะเคยมีมา

Planum Boreum | ที่ราบบอเรียม ขั้วเหนือที่อุดมไปด้วยน้ำแข็งแห้ง

ดาวอังคารนั้นมีระดับพื้นดินสูงต่ำแบ่งระหว่างซีกเหนือกับซีกใต้ของดาวได้อย่างชัดเจน โดยซีกใต้นั้นมักเต็มไปด้วยพื้นที่ราบสูง ภูเขาไฟ และหลุมอุกกาบาตเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ซีกเหนือของดาวนั้นกลับเป็นพื้นที่ราบเรียบ ซึ่งอยู่ต่ำกว่าค่ามาตรฐานดาวอังคาร 4-5 กิโลเมตร ทำให้นักวิทยาศาสตร์คาดว่าบริเวณนี้เคยเป็นพื้นของมหาสมุทรเมื่อครั้งที่ดาวอังคารยังคงมีน้ำ

แต่อย่างไรก็ดีในปัจจุบันน้ำบนดาวอังคารก็ได้สูญหายไปตามกาลเวลาแล้ว เมื่อชั้นบรรยากาศเริ่มหายไปพร้อมกับอุณหภูมิที่ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง น้ำบางส่วนบ้างก็ระเหยกลายเป็นไอน้ำลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศ บ้างก็แข็งตัวเป็นชั้นน้ำแข็งใต้ดิน หรือไม่ก็กลายเป็นน้ำแข็งที่ผสมรวมกับคาร์บอนไดออกไซด์แข็งซึ่งกระจุกตัวอยู่กันอย่างหนาแน่น ในบริเวณขั้วเหนือของดาวที่มีชื่อว่า ‘ที่ราบบอเรียม’

จึงเรียกได้ว่าขั้วเหนือของดาวอังคารนั้นเป็นร่องรอยทางประวัติศาสตร์ของดาวอังคารที่ยังเคยหลงเหลืออยู่ ซึ่งไม่แน่ว่าในอนาคตมนุษยชาติก็อาจได้เปลี่ยนแปลงสภาพดาวอังคารให้กลับมารองรับสิ่งมีชีวิตได้อีกครั้งหนึ่ง

ที่มาข้อมูล: SPACE.COM , New York Times , UAE Center for Space Science
ที่มาภาพ: UAE Center for Space Science
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง