เลือกตั้ง2566 : วิเคราะห์ ส.ว.ยังตั้งป้อมไม่หนุน “พิธา”

การเมือง
22 พ.ค. 66
13:47
392
Logo Thai PBS
เลือกตั้ง2566 : วิเคราะห์ ส.ว.ยังตั้งป้อมไม่หนุน “พิธา”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
1 สัปดาห์ผ่านไปหลังเลือกตั้ง ยังวนเวียนอยูกับเรื่องเดิม ๆ โดยเฉพาะจะตั้งรัฐบาลได้สำเร็จหรือไม่ เมื่อทางสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ยังไม่ชัดเจนว่าเสียงส่วนใหญ่ จะโหวตเลือกนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่

กลุ่มแรกทยอยเปิดตัวให้สัมภาษณ์สื่อ ยืนยันพร้อมโหวตให้ แต่อีกส่วนหนึ่งยังคงตอกย้ำไม่โหวตให้ อ้างถึงเรื่องมาตรา 112 ถามกลับพรรคก้าวไกลจะแก้ไขหรือแตะมาตรานี้หรือไม่

กลุ่มหลังนี้ แม้มีเปิดตัวเปิดหน้าชัดเจนเพียง 4-5 คน นำโดยนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ ของวุฒิสภา ที่เคยเคลื่อนไหวจะแก้รัฐธรรมนูญปมนายกฯ ไม่เกิน 8 ปีมาแล้ว

กับนายสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนฯ วุฒิสภา และนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ที่เคยประฝีปากกับ ส.ส.ฝ่ายค้านมาแล้วหลายคน จนถูกมองว่าเป็นองครักษ์พิทักษ์รัฐบาลและลุงตู่ แต่นอกเหนือจากที่แสดงตัวตนเหล่านี้แล้ว ไม่มีคนวงนอกรู้ว่า ยังมี ส.ว.ที่เห็นสอดคล้องกัน ยืนหนุนอยู่ข้างหลังอีกเท่าไหร่

คำพูดที่ว่า “ถ้ายังไม่ชัดเจนเรื่องมาตรา 112 อย่ามาเรียกให้เสียเวลา ไม่มีทางโหวตให้” จึงไม่ใช่เรื่องมองข้ามง่ายๆ เพราะต้องไม่ลืมว่า ส.ว.ชุดนี้ที่มาจากการแต่งตั้ง เมื่อเดือนพ.ค.2562 จำนวน 200 คน จากทั้งหมด 250 คน

มีคนหน้าซ้ำที่เคยรับตำแหน่งในยุค คสช. ได้รับแต่งตั้งเป็น ส.ว. 157 คน มีทหารและตำรวจส่วนใหญ่ยศนายพล 103 คน มีอดีตข้าราชการ 143 คน และมีถึง 51 คน ที่นั่งควบตำแหน่งในแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ

การจะหวังเสียงอีก ส.ว.63-64 คนใน การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะมี ส.ว.ส่วนหนึ่งที่เปิดตัวพร้อมโหวตให้ รวมแล้วประมาณ 20 คน แต่ยังเหลืออีกกว่า 40 คนที่ต้องลุ้นหนัก แม้จะมีแรงกดดันจากผู้คนผ่านโลกโซเซียลเรียกร้องให้ ส.ว.โหวตตามฉันทามติของประชาชน

ยังไม่นับเรื่องพรรคก้าวไกลจะส่งแกนนำในพรรคไปเจรจาพูดคุยโน้มน้าว ส.ว. เพราะก่อนหน้านี้ เคยวิพากษ์โจมตีและจะปิดสวิตช์ ส.ว.มาแล้ว จะได้รับไมตรีครั้งนี้หรือไม่ รวมทั้งเรื่องแกนนำ ส.ส.พรรคเพื่อไทย กลุ่ม 2 ส.สามมิตร นายสมศักดิ์ เทพสุทิน และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ที่อาสาเจรจาชักชวน ส.ว.ก็ไม่แน่นักว่าจะได้ผล และยังโดนถูกตั้งข้อสังเกตด้วยว่า จะให้โหวตเลือกในรอบไหน รอบก้าวไกลเป็นแกนนำ หรือรอบพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ

เพราะกระแสข่าวความเห็นต่างยังไม่ลงตัวกันของพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะ 2 พรรคใหญ่ ก้าวไกลกับเพื่อไทย ทั้งในเรื่องมาตรา 112 ที่พรรคเพื่อไทยยืนยันไม่เอาด้วย และเรื่องจัดสรรกระทรวงและรัฐมนตรี ที่วงในยืนยันว่า พรรคเพื่อไทยไม่พอใจเป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้ว

รวมทั้งเรื่องประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่จะเป็นกุญแจดอกสำคัญเปิดประตู่สู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรี เพื่อไทย มองว่า ก้าวไกลจะยึดทั้งประมุขฝ่ายบริหาร และประมุขฝ่ายนิติบัญญัติไปพร้อมกัน ทั้งที่มีส.ส.มากกว่าเพียง 10 เสียง แม้จะมีความพยายามออกมาปฏิเสธข่าวของแกนนำหลายคนว่ายังไม่ถึงเวลาหารือ เรื่องกระทรวงและตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ในทางปฏิบัติ ไม่มีใครเชื่อว่าจะไม่มี

เนื่องจากพรรคเพื่อไทย ยังมีโอกาสเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ในฐานะพรรคใหญ่อันดับ 2 หากพรรคก้าวไกลไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ไม่ว่าจะจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะเสียงโหวตของส.ว. และจากปัจจัยภายในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง จึงเป็นที่มาของเสียงเตือนจากกูรูทางการเมืองหลายคนว่า ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดปัญหาขัดแย้งและแตกแยกกันได้

ขณะที่พรรคประชาชาติ ภายใต้การนำของนายวัน มูหะหมัด นอร์ มะทา มีความเห็นต่างจากพรรคก้าวไกลเรื่องสุราก้าวหน้าหรือเหล้าเสรี และสมรสเท่าเทียม โดยให้เหตุผลว่า ขัดแย้งกับหลักศาสนา เหล่านี้ คือเรื่องที่ต้องได้ข้อสรุปที่ชัดเจนก่อนจะร่วมกันแถลงเอ็มโอยูในวันที่ 22 พ.ค.2566 เสียด้วยซ้ำ

ในอีกด้านหนึ่ง วันนี้ก็ต้องจับตาดูท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หลังการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรครวมไทยสร้างชาติที่ “บิ๊กตู่” เป็นประธาน และต่อด้วยการประชุมส.ส.ของพรรคในวันเดียวกัน เพราะอาจจะมีความชัดเจนเรื่องท่าทีของฝ่ายขั้วรัฐบาลเดิม รวมทั้งเรื่องเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯแข่งกับฝ่ายชนะเลือกตั้ง ซึ่งจะมีผลต่อการโหวตเสียงเลือกนายกฯ ของส.ว.อย่างปฏิเสธไม่ได้

เพราะหากประกาศความชัดเจนว่า ยอมรับผลการเลือกตั้ง และไม่ไปต่อเรื่องส่งคู่ชิงตำแหน่งนายกฯกับนายพิธา จะทำให้ ส.ว.ที่ส่วนใหญ่มาจากการเลือกตั้ง ตัดสินใจได้อย่างอิสระ ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง ในวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในที่ประชุมรัฐสภา

เป็นสลักเดียวที่สำคัญ และสามารถลดทอนความขัดแย้งระหว่างว่าที่รัฐบาลใหม่กับส.ว. และลดความยุ่งยากทางการเมืองใด ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นภายหลังได้อย่างเป็นมรรคผลที่สุด

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เลือกตั้ง2566 : เลขาฯก้าวไกล ยัน MOU เป็นไปด้วยดี ลงตัวตามข้อเสนอพรรคร่วม

เลือกตั้ง2566: ย้อนศร "รัฐประหาร" 22 พ.ค. ถือฤกษ์ 16.30 น.ลงนาม MOU ตั้งรัฐบาล

เลือกตั้ง2566 : "ทนายอั๋น" ยื่น กกต.ขอตีตกคำร้อง "ศรีสุวรรณ" สอบหุ้น"พิธา"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง