หมอไม่พร้อม "แบก " งานหนัก- เงินน้อย- ถูกฟ้อง

สังคม
6 มิ.ย. 66
18:29
1,494
Logo Thai PBS
หมอไม่พร้อม "แบก " งานหนัก- เงินน้อย- ถูกฟ้อง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

เมื่อ 10 ปีก่อน ปัญหาขาดแคลนแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐเคยเกิดขึ้นมาแล้ว สาเหตุไม่ได้เกิดจากแพทย์ พยาบาล ลาออก หรือคนไข้ล้นโรงพยาบาล แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้ระบบสาธารณสุขของไทย ต้องเผชิญกับวิกฤตขาดแคลนแพทย์

มายด์ เภสัชกรประจำโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ย่านนนทบุรี บอกว่า การลาออกของบุคลากรทางแพทย์ในโรงพยาบาลสังกัดรัฐบาล ไม่ได้มีแค่ แพทย์ พยาบาล แต่ยังมีเภสัชกรรวมอยู่ด้วย เนื่องจากได้รับค่าตอบแทนที่น้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับเงินเดือนและภาระงานในหน้าที่รับผิดชอบ

แม้ผู้ที่เรียนจบคณะแพทย์ศาสตร์และเภสัชศาสตร์ ใช้เวลาเรียนในมหาวิทยาลัย 6 ปีเท่ากัน แต่แพทย์จะเรียนหนักกว่า และเมื่อจบการศึกษาแล้วต่างฝ่ายต้องกลับไปใช้ทุน 2 ปี ในโรงพยาบาลรัฐบาล

มายด์ เล่าว่า สำหรับผู้ที่เป็นเภสัชกรหากทำงานโรงพยาบาลรัฐ เงินเดือนเริ่มต้นอยู่ที่ 17,000-18,000 บาท ได้ค่าใบประกอบวิชาชีพอีก 5,000 บาท และอาจมีโอทีเพิ่มเติม แต่ไม่มากนัก หากทำงานโรงพยาบาลเอกชนจะมีรายได้มากกว่านี้ ทั้งการควงเวร หรือการขึ้นเวรปกติ 

ขณะที่แพทย์ประจำโรงพยาบาลของรัฐ หรือโรงพยาบาลชุมชน แม้เวลาการทำงานอยู่ที่ 176 ชั่วโมง/เดือน เท่ากับแพทย์โรงพยาบาลเอกชน ตั้งแต่ 08.00-16.00 น. แต่โรงพยาบาลรัฐเปิด 24 ชั่วโมง หมออยู่เวรเช้า ดึก ต่อเวรค่ำ จึงต้องทำเวลาตรวจคนไข้ให้เร็วที่สุด

โดยแพทย์ 1 คน ต้องตรวจคนไข้อัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 60-100 คนต่อวัน จำนวนนี้ยังไม่รวมกับจำนวนคนไข้ OPD หรือผู้ป่วยนอก ซึ่งต้องใช้เวลาให้เสร็จภายใน 2-3 นาทีต่อคนไข้หนึ่งคน หลังตรวจผู้ป่วยเสร็จในช่วงเช้า ต่อจากนั้นหมอจะต้องขึ้นราวน์วอร์ดอีกครั้ง

"หมอจะต้องตื่นประมาณตีสี่ หรือตีห้าเตรียมตัวขึ้นราวน์วอร์ด ในช่วง 07.00 น. เพื่อลงไปตรวจคนไข้ OPP ที่นอนรออยู่บนเตียงทั้งตึกในโรงพยาบาล เสร็จแล้วจึงลงไปตรวจ OPD ต่อ ถ้าเป็นโรงพยาบาลเอกชน งานของหมอจะไม่หนักขนาดนี้ แต่โรงพยาบาลเอกชน ก็ยังแบ่งออก 2 ประเภท คือ โรงพยาบาลเอกชนที่รับประกันสังคมและโรงพยาบาลเอกชนที่รับเงินสด"

มายด์ บอกว่า ด้วยงานที่หนักทำให้มีแพทย์ลาออกจำนวนไม่น้อยในแต่ละปี แม้จะมีแพทย์จบใหม่บรรจุทดแทน แต่การดูแลผู้ป่วยก็มีงานล้นมือ ต้องยอมรับว่าอาชีพแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐจะแบกงานหนักช่วงแรก

ระยะยาวถือเป็นอาชีพที่มีความมั่นคงสูง มีทุนเรียนต่อแพทย์เฉพาะทาง เป็นอาจารย์สอนนักเรียนแพทย์ หรือเปิดคลินิกส่วนตัว หากจัดการเวลาตัวเองได้ และไม่ส่งกระทบต่อผู้ป่วยที่ให้การดูแลอยู่

ในอดีตแพทย์ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะที่อยู่ในโรงพยาบาลรัฐ จะมีอุดมคติเสียสละและอุทิศตนให้กับงานเพื่อดูแลผู้ป่วย แต่ปัจจุบันเมื่อสภาพสังคม เศรษฐกิจ วิถีชีวิตและวัยเปลี่ยน ความคิดของแพทย์รุ่นใหม่ก็เปลี่ยนไปด้วย

แพทย์รุ่นใหม่จะไม่แบกรับอะไรที่เป็นภาระหนัก เขาจะไม่เป็นเดอะแบก การทำงานต้องมีเวลาพัก เรียกว่า Work life and Balance ไม่อยากเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง หรือถูกกดดันจากผู้ป่วย ปัจจุบันผู้ป่วยและญาติก็ไม่ธรรมดา มีการแอบถ่ายคลิป ตั้งแต่เข้าห้องตรวจ 

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาแบกรับคนไข้สิทธิประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งคนไข้ส่วนนี้ล้นโรงพยาบาล ขณะที่อัตราการบรรจุแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐ มีไม่พอกับการรับมือจำนวนผู้ป่วย แพทย์ต้องทำงานติดต่อกัน 36 ชั่วโมง มีเวลาพัก 12 ชั่วโมงก็ต้องมาขึ้นเวรต่อ

ประเด็นปัญหาที่เภสัชกรคนดังกล่าวระบุ สอดคล้องกับข้อมูลที่ อิงครัตน์ แพททริคค์ สีเขียวสุขวงกฎ เคยทำวิจัยไว้เมื่อปี 2557 เรื่อง "ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการลาออกของแพทย์ในระบบราชการของโรงพยาบาลในประเทศไทย" ตีพิมพ์ในวารสารบัณฑิตศึกษา มนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 ม.ค.-มิ.ย. 2559

โดยระบุว่ามี 14 ข้อ ประเด็นหลักๆ สำคัญ เช่น มีปัญหากับผู้บริหารหน่วยงาน หรือผู้บังคับบัญชา ความก้าวหน้าในด้านหน้าที่การงาน  ภาระหน้าที่หนักเกินไป ค่าตอบแทนที่แตกต่างกันระหว่างภาครัฐเอกชน ลาไปศึกษาต่อ ค่านิยมทางสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไปในด้านเกียรติยศ ศักดิ์ศรีและความมั่นคงในวิชาชีพ

ปัญหาคนไข้ล้นมือจากโครงการเพื่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโครงการ 30 บาท ความเสี่ยงจากการฟ้องร้องแพทย์ผู้ทำการรักษา และกฎหมายต่างๆ ที่ออกมาบังคับใช้กับแพทย์ เช่น พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ร.บ. ยา กฎหมายชันสูตร ฯลฯ

เมื่อหมอไม่พร้อมที่จะเป็นเดอะแบก จึงไม่น่าแปลกใจที่วิกฤตแพทย์ลาออกจากโรงพยาบาลรัฐจะเกิดขึ้นทุกปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง