รัสเซีย-ยูเครน ปัดอยู่เบื้องหลัง "เขื่อนโนวา คาคอฟกา" แตก

ต่างประเทศ
7 มิ.ย. 66
08:02
1,733
Logo Thai PBS
รัสเซีย-ยูเครน ปัดอยู่เบื้องหลัง "เขื่อนโนวา คาคอฟกา" แตก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เมื่อวานนี้เกิดเหตุเขื่อนแตกทางตอนใต้ของยูเครน ส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นระหว่างที่ยูเครนกำลังเปิดปฏิบัติการโจมตีโต้กลับรัสเซีย ซึ่งทั้งรัสเซียและยูเครนต่างกล่าวโทษกันไปมาว่า ต่างฝ่ายต่างเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุเขื่อนแตกนี้

วันนี้ (7 มิ.ย.2566) ภาพถ่ายดาวเทียมเผยให้เห็นสภาพก่อนและหลังจากการเกิดความเสียหายขึ้นที่ เขื่อนโนวา คาคอฟกา ทางตอนใต้ของยูเครน ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัสเซีย หลังจากน้ำหลายล้านลิตรไหลบ่าออกมาจากเขื่อน ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอดีตสหภาพโซเวียต และเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำด้วย

สภาพเขื่อนโนวา คาคอฟกา ก่อน-หลัง

สภาพเขื่อนโนวา คาคอฟกา ก่อน-หลัง

สภาพเขื่อนโนวา คาคอฟกา ก่อน-หลัง

ประชาชนในภูมิภาคเคอร์ซอนของยูเครน ได้รับผลกระทบจากเหตุเขื่อนแตก หลายคนต้องเร่งอพยพออกจากที่พักอาศัย ขณะที่ทางการเร่งส่งเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลืออพยพ จากเดิมที่ได้รับผลกระทบจากการอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีภาวะสงครามอยู่ก่อนแล้ว หน่วยงานรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินของยูเครน เปิดเผยว่า จนถึงช่วงบ่ายวานนี้ตามเวลาท้องถิ่น ได้อพยพประชาชนแล้วไม่ต่ำกว่า 1,300 คน โดยมีบ้านเรือนหลายร้อยหลังที่ถูกน้ำท่วม

ขณะที่การประเมินโดยเจ้าหน้าที่ทางการยูเครน ชี้ว่าประชาชนประมาณ 40,000 คน ต้องอพยพออกจากพื้นที่เพื่อความปลอดภัย ประกอบด้วยผู้ที่อาศัยอยู่ทางตะวันตกของแม่น้ำดนีโปร ซึ่งเป็นพื้นที่ในการดูแลของยูเครน 17,000 คน กับอีกกว่า 25,000 คน ทางตะวันออกของแม่น้ำ ที่รัสเซียเข้ายึดครอง

ขณะที่สื่อรัสเซียเปิดเผยภาพภารกิจของหน่วยงานรับมือเหตุฉุกเฉินของรัสเซีย ที่ส่งเจ้าหน้าที่กู้ภัยเข้าไปยังภูมิภาคเคอร์ซอนของยูเครนเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน

ยูเครนเตรียมยื่นเรื่องศาลระหว่างประเทศสอบเขื่อนแตก

โวโลดีมีร์ เซเลนสกี ปธน.ยูเครน ระบุว่า เหตุการณ์นี้ถือเป็นความเสียหายอันใหญ่หลวงในเชิงสิ่งแวดล้อม และอัยการยูเครนกำลังเร่งยื่นเรื่องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศเพื่อให้เปิดการสอบสวน

อนุสัญญาเจนีวาห้ามการมุ่งเป้าโจมตีเขื่อน เนื่องจากเป็นสิ่งที่จะทำอันตรายต่อพลเรือน ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน ระบุว่า เหตุการณ์นี้ถือเป็นการก่ออาชญากรรมต่อผู้คน ธรรมชาติ และชีวิต รวมถึงกล่าวหารัสเซียว่าก่อการร้าย พร้อมเรียกร้องให้ UN เรียกประชุมฉุกเฉินคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

"โนวา คาคอฟกา" เขื่อนแตกจุดพลิกเกมสงคราม?

เขื่อนโนวา คาคอฟกา ตั้งอยู่ที่เมืองชื่อเดียวกัน ในภูมิภาคเคอร์ซอน ทางตอนใต้ของยูเครน ปัจจุบันเขื่อนนี้อยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพรัสเซีย ที่นี่เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอดีตสหภาพโซเวียต เริ่มการก่อสร้างในยุคของ โจเซฟ สตาลิน และสร้างเสร็จในยุคนิกิตา ครุสชอฟ กักเก็บน้ำได้ 18 ลบ.กม. ใกล้เคียงกับปริมาณน้ำที่ทะเลสาบ Great Salt  ในรัฐยูทาห์ของสหรัฐฯ ปัจจุบันจ่ายน้ำเลี้ยงทั้งตอนใต้ของแม่น้ำ รวมถึงไครเมีย และยังผันน้ำเพื่อใช้ในระบบหล่อเย็นของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซียร่วมด้วย

ตัวเขื่อนพาดผ่านแม่น้ำดนีโปร เป็นสะพานเชื่อม 2 ฝั่งแม่น้ำเข้าไว้ด้วยกัน จนกลายเป็นพื้นที่แนวหน้าของการสู้รบ เสมือนแบ่งเขตยึดครองระหว่างฝ่ายรัสเซียกับยูเครน โดยทางตะวันตกของแม่น้ำ ยูเครนยังครองอยู่

จนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงว่าอะไรทำให้เขื่อนแตก แต่นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งประเมินจากภาพความเสียหาย และคาดว่า เป็นไปได้ว่าเกิดจากการระเบิดที่ตัวเขื่อน มากกว่าจะถูกโจมตีจากระยะไกล เนื่องจากความเสียหายรุนแรงจนไม่น่าจะมีอาวุธชนิดไหนทำให้เกิดผลขนาดนี้ได้ น่าจะเป็นการติดตั้งระเบิดปริมาณมากๆ ไว้กับที่เขื่อนและจุดระเบิดมากกว่า

น้ำทะลักเข้าสู่เขตที่อยู่อาศัย

น้ำทะลักเข้าสู่เขตที่อยู่อาศัย

น้ำทะลักเข้าสู่เขตที่อยู่อาศัย

ตามการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญหลายคน เห็นคล้ายกันว่ายูเครนไม่น่าอยู่เบื้องหลังเหตุนี้ เพราะเขื่อนแตกที่ทำให้น้ำทะลักไปตามแม่น้ำดนีโปรตอนล่างครั้งนี้ จะกระทบกับการโจมตีโต้กลับของยูเครนอย่างแน่นอน พูดง่ายๆ คือทำให้ข้ามแม่น้ำยากขึ้น และยังทำให้รัฐบาลยูเครนต้องแบ่งสรรพกำลังหรือความสนใจไปดูแลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่สามารถมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการโจมตีโต้กลับได้มากเท่าเดิม

รัสเซีย-ยูเครน ปัดอยู่เบื้องหลังเหตุเขื่อนแตก

สำหรับต้นตอที่แท้จริงของเหตุ ทั้งรัสเซียและยูเครนกล่าวโทษกันไปมา ทางฝั่งยูเครนระบุว่า รัสเซียจงใจระเบิดเขื่อน ที่ใช้ผลิตไฟฟ้าร่วมด้วย ส่วนฝ่ายรัสเซียระบุว่า ยูเครนโจมตีครั้งนี้เพื่อพยายามเบี่ยงเบนความสนใจไปจากการโจมตีโต้กลับรัสเซียที่ไม่ประสบผลสำเร็จ และต้องการตัดการส่งน้ำไปยังไครเมีย

นอกจากนี้ยังมีข้อสันนิษฐานจากเจ้าหน้าที่ซึ่งทางการรัสเซียแต่งตั้งเข้าไปดูแลในพื้นที่ยึดครอง ที่คาดเดาว่าเขื่อนอาจจะถล่มลงมาเอง แต่ไม่มีฝ่ายใดออกมาแสดงหลักฐาน หรือมีข้อสันนิษฐานใดที่มีหลักฐานรองรับในขณะนี้

ขณะที่ทางการสหรัฐฯ ระบุว่า ยังไม่มีข้อสรุปว่าฝ่ายใดอยู่เบื้องหลังเหตุที่เกิดขึ้นกันแน่ และไม่แสดงความเห็นว่าเหตุการณ์นี้จะส่งผลอย่างไรต่อปฏิบัติการโจมตีโต้กลับของยูเครน ด้านผู้ช่วยผู้แทนถาวรสหรัฐฯ ประจำองค์การสหประชาชาติ ระบุว่า ข้อสันนิษฐานที่ว่ายูเครนระเบิดเขื่อนของตัวเองดูจะไม่สมเหตุสมผลเท่าไรนัก

ส่วนผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำจากเยอรมนี ระบุว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับ เขื่อนโนวา คาคอฟกา และปริมาณน้ำมหาศาลที่ทะลักออกจากเขื่อนขณะนี้ ทำให้ไม่มีทางที่จะซ่อมแซมความเสียหายได้เลย

อ่านข่าวเพิ่ม :

ทั่วโลกต้องการ "บุคลากรสาธารณสุข" อีก 10 ล้านคนในทศวรรษนี้

เยียวยาผลงานศิลปะ นศ.ในหอศิลป์เสียหายระหว่างจัด "บางกอกไพรด์"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง