เช็กให้ชัวร์! อาการ สาเหตุ การดูแลตัวเองเบื้องต้น "โรคอุจจาระร่วง"

สังคม
9 มิ.ย. 66
10:17
708
Logo Thai PBS
เช็กให้ชัวร์! อาการ สาเหตุ การดูแลตัวเองเบื้องต้น "โรคอุจจาระร่วง"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
จากกรณี สสจ.ภูเก็ต รายงานพบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงกระจายตัวในหลายพื้นที่ ทำให้ประชาชนตื่นตัวเรื่องการดูแลตัวเองขณะมีอาการท้องเสีย เช็กให้ชัวร์! สาเหตุและอาการท้องเสีย เกิดจากเชื้อโรคชนิดใด เพื่อการดูแล ตัวเองเบื้องต้นก่อนเข้าพบแพทย์

ท้องเสียหรืออุจจาระร่วง (Diarrhea) 

อาการถ่ายอุจจาระเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป ภายใน 24 ชั่วโมง

โดยทั่วไปอาการท้องเสียมักเกิดขึ้นและอาจหายไปได้เองภายใน 2-3 วัน หรือด้วยการทานยาสามัญประจำบ้าน เช่น ยาผงถ่านคาร์บอน แต่ในกรณีที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้ร่างกายขาดสารน้ำจนอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ หากท้องเสียและมีมูกเลือดปน แม้เพียงครั้งเดียว ควรรีบพบแพทย์

อ่าน : สธ.เปิดศูนย์ EOC สืบหาต้นตอ "โรคอุจจาระร่วง" ระบาดภูเก็ต

ท้องเสียมีอาการอย่างไร

ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงแตกต่างกันไป ตั้งแต่ระดับเบาไปจนถึงระดับรุนแรง ทั้งนี้อาการท้องเสียในระดับที่รุนแรงอาจมีความเชื่อมโยงกับโรคที่มีความซับซ้อนบางชนิดที่ต้องได้รับวินิจฉัย และทำการรักษาโดยแพทย์ อาการของโรคท้องเสียมีดังนี้

  • ปวดท้อง ปวดเกร็ง หรือปวดบิด
  • ท้องอืด ท้องเฟ้อ
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • มีไข้ ปวดศีรษะ
  • หน้าแดง และผิวแห้ง
  • อุจจาระมีเลือดปน
  • อุจจาระมีมูก หรือเมือกปน
  • ถ่ายอุจจาระบ่อย

อาการท้องเสียแบ่งได้ 2 ประเภท ตามระยะเวลาของการเกิดอาการ

  1. ท้องเสียแบบเฉียบพลัน (Acute diarrhea) เป็นอาการท้องเสียทั่วไป เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน โดยจะมีอาการประมาณ 1-3 วัน จากนั้นโดยส่วนมากอาการจะทุเลาลงและค่อย ๆ หายไปเอง โดยไม่ต้องใช้ยารักษาโรค หรือสามารถใช้ยาสามัญประจำบ้าน เช่น ยาผงถ่านคาร์บอน หรือ ผงเกลือแร่ โอ อาร์ เอส มักเกิดจากโรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบ เนื่องจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส หรือเชื้อปรสิต ดังนี้
    • เชื้อแบคทีเรีย มักปนเปื้อนในน้ำหรืออาหาร และก่อให้เกิดอาการท้องเสียตามมา เช่น เชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ เชื้อซาลโมเนลลา เชื้อชิเกลลา และเชื้ออีโคไล
    • เชื้อไวรัส มีอยู่หลายชนิดที่ก่อให้เกิดอาการท้องเสีย เช่น โรต้าไวรัส โนโรไวรัส ไซโตเมกาโลไวรัส เฮอร์พีส์ซิมเพล็กซ์ไวรัส ไวรัสตับอักเสบ
    • เชื้อปรสิต สามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านอาหารและน้ำที่ปนเปื้อน และอาศัยอยู่ในระบบย่อยอาหารของคนเรา โดยเชื้อปรสิตที่มักพบคือ เชื้อไกอาเดีย เชื้อแอนตามีบาฮิสโตลิติกาหรือเชื้อบิดอะมีบา และเชื้อคริปโตสปอริเดียม

  2. ท้องเสียแบบเรื้อรัง (Chronic diarrhea) เป็นอาการท้องเสียแบบต่อเนื่องเกิน 2 สัปดาห์ หรือเป็นๆ หายๆ ต่อเนื่องเรื้อรังเป็นระยะเวลายาวนาน ต้องรีบพบแพทย์ ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยต่อไปนี้
    • โรคในระบบทางเดินอาหารและโรคลำไส้ผิดปกติ เช่น โรคโครห์น โรคลำไส้อักเสบ โรคเซลิแอคหรือแพ้กลูเตน โรคลำไส้แปรปรวน โรคถุงผนังลำไส้อักเสบ โรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่
    • อาหาร บางคนอาจมีปัญหาในการย่อยสารอาหารบางประเภท เช่น การขาดน้ำย่อยสำหรับย่อยน้ำตาลแล็กโทส ซึ่งเป็นน้ำตาลที่พบมากในนมหรือผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับนม นอกจากนี้ การรับประทานสารทดแทนความหวานในปริมาณมากก็อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดอาการท้องเสียได้เช่นกัน
    • การตอบสนองต่อยาบางประเภท โดยยาบางประเภทสามารถทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ เช่น ยาปฏิชีวนะ ยารักษาโรคมะเร็ง หรือยาลดกรดที่มีแมกนีเซียม
    • การผ่าตัด อาการท้องเสียอาจเกิดขึ้นหลังจากเข้ารับการผ่าตัดบางชนิด เช่น การผ่าตัดลำไส้หรือการผ่าตัดนำถุงน้ำดีออกไป
ต้องระวังไม่ให้ร่างกายขาดสารน้ำเป็นสำคัญ

ภาวะขาดสารน้ำเป็นอันตรายอย่างยิ่งในเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หากผู้ที่ท้องเสีย มีสัญญาณของภาวะขาดสารน้ำอย่างรุนแรง ให้รีบนำส่งแพทย์ โดยเร็วที่สุด

อ่าน : "โรคอุจจาระร่วง" กระจายทั่วภูเก็ต ผู้ป่วยเด็ก-ผู้ใหญ่ วันละ 100 คน

อาการของผู้ที่อยู่ในภาวะร่างกายขาดสารน้ำ ในผู้ใหญ่

  • อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะหรือหน้ามืด
  • ปากแห้งหรือผิวหนังแห้ง
  • เหนื่อยล้า อ่อนแรง
  • กระหายน้ำอย่างมาก
  • ปัสสาวะน้อยหรือแทบไม่มีเลยและมีสีเข้ม
อาการท้องเสียเบื้องต้น ปวดท้อง ปวดหัว มีไข้

อาการท้องเสียเบื้องต้น ปวดท้อง ปวดหัว มีไข้

อาการท้องเสียเบื้องต้น ปวดท้อง ปวดหัว มีไข้

อาการของผู้ที่อยู่ในภาวะร่างกายขาดสารน้ำ ในเด็กหรือทารก

  • ปากและลิ้นแห้ง
  • ทารกไม่ปัสสาวะรดผ้าอ้อมเลย ตั้งแต่ 3 ชั่วโมง ขึ้นไป
  • มีอาการง่วงซึม ไม่ตอบสนอง หรือหงุดหงิดง่าย
  • ตาและแก้มตอบ หน้าท้องยุบลงผิดปกติ

การรักษาอาการท้องเสีย

อาการท้องเสียสามารถหายได้ด้วยตัวเอง หรือใช้ยาสามัญประจำบ้าน เช่น ยาผงถ่านคาร์บอน หรือผงเกลือแร่ โอ อาร์ เอส แต่หากอาการท้องเสียมีระยะเวลาต่อเนื่องเกิน 2-3 วัน และมีไข้สูงรวมถึงมีเลือดปนในอุจจาระ ควรรีบพบแพทย์ทันที เพื่อทำการรักษาด้วยวิธีการที่แตกต่างกันไป ตามสาเหตุของโรคท้องเสีย ได้แก่

  • ยาปฏิชีวนะ แพทย์อาจสั่งยาปฏิชีวนะหรือยาถ่ายพยาธิ เพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรีย หรือปรสิต อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย
  • การใช้ยารักษาเฉพาะอาการ อาการท้องเสียอาจแสดงออกซึ่งสัญญาณของโรคอื่น ๆ เช่น โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome: IBS) โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory bowel disease: IBD) เช่น โรคโครห์น (Crohn’s disease) โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง (Ulcerative colitis) โรคลำไส้อักเสบชนิดไมโครสโคปิก (Microscopic colitis) หรือภาวะแบคทีเรียที่เติบโตมากผิดปกติในลำไส้ เมื่อแพทย์สามารถระบุสาเหตุของอาการท้องเสียได้แล้ว แพทย์จึงจะสามารถทำการรักษาโรคได้อย่างตรงจุด
  • โปรไบโอติก (Probiotics) แพทย์อาจใช้โปรไบโอติก ซึ่งเป็นจุลชีพชนิดดีช่วยในการรักษา โดยจุลชีพเหล่านี้จะต่อสู้กับแบคทีเรียที่ไม่ดีอันเป็นสาเหตุของอาการท้องเสีย อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยการให้โปรไบโอติก ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์เท่านั้น

อาการท้องเสียจากการติดเชื้อ

โรคติดเชื้อจากไวรัสโรต้า สาเหตุจากไวรัสโรต้าเข้าสู่ร่างกายผ่านการนำมือ อาหาร หรือสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าปาก ส่งผลให้ผู้ป่วยมีไข้ อาเจียน ท้องเสีย และปวดท้อง พบมากในทารกและเด็ก และมักมีอาการรุนแรงกว่าผู้ใหญ่ หากอาการไม่ดีขึ้น ท้องเสียอย่างรุนแรง หรือมีสัญญาณของภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ลำตัวเย็น ปัสสาวะลดลง ตาโหล เป็นต้น ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันที

โรคติดเชื้อจากโนโรไวรัส สาเหตุจากไวรัสโนโร เข้าสู่ร่างกายผ่านการรับประทานอาหาร น้ำดื่ม และภาชนะใส่อาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ หรือจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ ส่งผลให้มีอาการท้องเสีย ปวดท้อง คลื่นไส้ มีไข้ต่ำ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะค่อย ๆ มีอาการดีขึ้นและหายได้เอง อย่างไรก็ตาม หากอาการไม่ดีขึ้นหรือถ่ายเหลวติดต่อกันเกิน 2-3 วันควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที เพราะอาจเสี่ยงเกิดภาวะขาดน้ำได้

การเพาะเชื้อหาสาเหตุการเกิดโรค

การเพาะเชื้อหาสาเหตุการเกิดโรค

การเพาะเชื้อหาสาเหตุการเกิดโรค

โรคติดเชื้อจากแบคทีเรีย E. coli (Escherichia coli) หรือ อีโคไล คือแบคทีเรียที่พบได้ในลำไส้ของคนและสัตว์ หลายสายพันธุ์ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ทว่าบางสายพันธุ์เมื่อเข้าสู่ร่างกายผ่านการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ อาจก่อให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเสีย หรือมีไข้ ซึ่งอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นและอาจหายเป็นปกติได้เอง แต่ในรายที่มีอาการรุนแรง เช่น อุจจาระมีเลือดปน มีภาวะขาดน้ำ หรือไตวาย ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

อาหารการกินช่วงท้องเสีย

หากมีอาการท้องเสีย ไม่ว่า ท้องเสียแบบเฉียบพลัน หรือท้องเสียแบบเรื้อรัง ไม่ควรงดรับประทานอาหาร แต่ให้เลือกรับประทานอาหารอ่อน ที่สะอาด ปรุงสุก และย่อยง่าย เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ซุปเต้าหู้ เนื้อปลา ชดเชยภาวะร่างกายขาดน้ำ หรือภาวะร่างกายสูญเสีย วิตามิน เกลือแร่ หรือสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย โดยหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด และอาหารมันจัด เนื่องจากทำให้เกิดการระคายเคืองของทางเดินอาหาร รวมทั้งอาจทำให้อาการท้องเสียแย่ลง

หากมีอาการท้องเสีย หรือมีอาการแทรกซ้อนจากท้องเสีย หรือมีอาการท้องเสียเรื้อรัง ควรรีบพบแพทย์เพื่อช่วยให้การวินิจฉัยโรคและการรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที

ที่มา : กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค, โรงพยาบาลเมดพาร์ค, POBPAD

อ่านข่าวอื่นๆ : แมงกะพรุนไฟโผล่หาดภูเก็ต เตือนลงทะเลให้ระวัง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง