ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

8 ปี 322 วัน เส้นทางการเมืองของ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกฯ คนที่ 29 ของไทย

การเมือง
11 ก.ค. 66
18:19
8,013
Logo Thai PBS
8 ปี 322 วัน เส้นทางการเมืองของ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกฯ คนที่ 29 ของไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"พล.อ.ประยุทธ์" ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ครั้งแรกเมื่อ 24 ส.ค.2557 และเป็นนายกฯ ติดต่อกัน 2 สมัย หากนับจนถึงวันนี้ (11 ก.ค. 2566) เขานั่งเก้าอี้มาแล้ว 8 ปี 322 วัน นับเป็นนายกฯ ที่ดำรงตำแหน่งมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย

ขณะที่ผู้นำฝ่ายบริหารที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกฯ คนที่ 3 ดำรงตำแหน่ง 8 สมัย รวมเวลา 15 ปี 25 วัน รองลงมาคือ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกฯ คนที่ 10 ดำรงตำแหน่ง 4 สมัย รวมเวลา 9 ปี 205 วัน

วาระในการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกวิพากษ์วิจารณ์และตีความอย่างกว้างขวางก่อนถึงเดือน ส.ค. 2565 ซึ่งเป็นช่วงที่นายกฯ คนที่ 29 นั่งบริหารราชการแผ่นดินครบ 8 ปี เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรค 4 ห้ามไม่ให้นายกฯ ดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปี ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง

ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อ 30 ก.ย.2565 ว่าความเป็นนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 170 วรรค 2 ประกอบมาตรา 158 วรรค 4 เนื่องจากดำรงตำแหน่งยังไม่ครบ 8 ปี พร้อมระบุว่า

ระยะเวลา 8 ปี ต้องเริ่มนับทันทีตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ (ฉบับปี 2560) มีผลใช้บังคับ

ทหารเสือราชินี

ก่อนดำรงตำแหน่งนายกฯ คนที่ 29 เกินกว่าครึ่งชีวิตของ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกใช้ที่กองทัพบก เริ่มจากผู้บังคับหมวดปืนเล็กกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์, ผู้บังคับกองร้อย, ผู้บังคับการกองพัน, ขยับขึ้นมาเป็นเสนาธิการกรม, เป็นรองผู้บังคับการกรม และเป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ในที่สุด ก่อนขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบกสายทหารเสือราชินี ในปี พ.ศ.2553

ในที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีของ รทสช. เมื่อวันที่ 25 มี.ค.2566 "แคนดิเดตนายกฯ คนที่ 1" แสดงถึงสายผูกพันกับ "กรมทหาร" อย่างลึกซึ้งว่า

ผมมีหัวใจสีม่วง ไม่ใช่เรื่องที่มาโกหกพูดให้ตัวเองดูดี 
กรมทหารมีสัญลักษณ์หัวใจสีม่วง คือหัวใจของคนใกล้ตาย

หนังสือ "เส้นทางพยัคฆ์ ประยุทธ์ จันทรโอชา" (สำนักพิมพ์มติชน 2557, หน้า 77) ของวาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหารอธิบายความหมายของหัวใจสีม่วงเอาไว้ว่า

"หัวใจสีม่วง" ประดับพระนามาภิไธยย่อ สก. นั้น ทรงให้คำอธิบายไว้ว่าหมายถึงผู้บริสุทธิ์ ซื่อสัตย์ สุจริต และจริงใจ เพราะผู้ที่ใกล้ตายหัวใจจะกลายจากสีแดงเป็นสีม่วง ในห้วงเวลานั้นบุคคลนั้นจะไม่พูดปดหรีอปิดบังสิ่งใดๆ

จากสนามรบสู่เก้าอี้นายกฯ

แม้ยังไม่ทันลุกจากเก้าอี้ ผบ.ทบ. ก็ได้ควบเก้าอี้นายกฯ หลังเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อ 22 พ.ค.2557 จากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ นั่ง นายกฯ สมัย 2 จากมติของสมาชิกรัฐสภา 500 เสียง (ส.ส. 251 เสียง และ ส.ว. 249 เสียง โดยประธานวุฒิสภางดออกเสียง)

แต่ในการเลือกตั้ง 2566 กลับเป็นสนามเลือกตั้งครั้งแรกในชีวิตนักการเมืองน้องใหม่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

  • สมัยที่ 1 (24 ส.ค.2557-5 มิ.ย.2562) ครม. ชุดที่ 61 สิ้นสุดลง หลังรัฐบาล คสช. กำหนดให้จัดการเลือกตั้งทั่วไป 24 มี.ค.2562 
  • สมัยที่ 2 (9 มิ.ย.2562-20 มี.ค.2566) ครม. ชุดที่ 62

แผนกบฏการเมืองล้มนายกรัฐมนตรี

แม้เป็นประมุขฝ่ายบริหาร และมีการจัดวางฐานอำนาจไว้อย่างดีผ่านกลไกราชการและระบบการเมือง แต่ทั้ง พล.อ. ประยุทธ์ ก็เคยถูก "คนกันเอง" เขย่าอำนาจเสียรังวัดอย่างหนัก

เริ่มจากยุคที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เกิดแรงกดดันในพรรค พปชร. มีข่าวเปลี่ยนตัวนายกฯ โดยปรากฏกระแสข่าวเรื่องการรวบรวมเสียงของ ส.ส. เพื่อโหวตคว่ำนายกฯ กลางสภา ในช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ และ 5 รัฐมนตรี ระหว่าง 31 ส.ค.-3 ก.ย.2564 ต่อมา ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ถูก "ปลดฟ้าผ่า" พ้นเก้าอี้ รมช.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมกับ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน หลังถูกเชื่อมโยงว่าอยู่เบื้องหลังความเคลื่อนไหวในขบวนการโหวตล้มนายกฯ

จนผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภายกให้ "แผนกบฏการเมืองล้มนายกรัฐมนตรี" เป็นเหตุการณ์เด่นแห่งปี 2564 เพราะ ไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่ลูกพรรคเดินเกมล็อบบี้ ส.ส.ในพรรคของตัวเอง เพื่อโค่นล้มนายกรัฐมนตรี

หากเปรียบเทียบกับ นายกฯ ในประเทศไทยที่มาจากสายทหาร เป็นนายกฯ ที่ไม่เคยผ่านการเลือกตั้ง และระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 8 ปีใกล้เคียงกัน เช่น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นั้น 

พล.อ.เปรม ไม่เคยโดนอภิปรายไม่ไว้วางใจแม้แต่ครั้งเดียวตลอดช่วงที่บริหารราชการแผ่นดิน

ผ่าวิกฤตเศรษฐกิจติดหนี้ ล้านล้านบาท

รัฐบาลประยุทธ์ เริ่มต้นบริหารประเทศด้วยการฟื้นฟูเสถียรภาพทางการเมืองหลังการ "ปิดประเทศ" ไปหลายเดือนของกลุ่ม กปปส. เมื่อการประท้วงหายไปจากท้องถนน นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาเที่ยวประเทศไทย จนทำสถิติสูงสุดถึงเกือบ 40 ล้านคน เมื่อปี 2562

นอกจากนั้น พล.อ. ประยุทธ์ ยังชูเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พร้อมพยายามต่อยอดโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) เพื่อส่งเสริมการลงทุนยกระดับนวัตกรรมและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงในประเทศไทย

แต่กลับไม่สมหวัง เพราะไร้ความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติ

ต่อมาปี 2563 เกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจโลกชะงักงัน ทั่วโลกล้วนปิดพรมแดน เศรษฐกิจไทยจากที่พึ่งพิงรายได้จากการท่องเที่ยว กลับได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง สิ้นปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลมียอดหนี้รวม 10.37 ล้านล้านบาท ขณะที่ GDP ขยายตัวเพียงร้อยละ 3.2

แต่นโยบายต่างๆ ที่ "โดนใจ" ประชาชนก็มีไม่น้อย ตามการสำรวจของสำนักวิจัยต่าง ๆ อาทิ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, โครงการ "คนละครึ่ง" และโครงการ "เราเที่ยวด้วยกัน"

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะประกาศลาออกจากสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ ในวันนี้ (11 ก.ค.2566) แต่สถานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของ รทสช. ยังคงอยู่ และยังดำรงตำแหน่ง รักษาการนายกฯ จนกว่า ครม.ชุดใหม่จะเข้าพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์

อ่านข่าวเพิ่ม : 

"ประยุทธ์" ประกาศวางมือการเมือง ลาออกพรรค รทสช.

"สุดารัตน์" ลาออก ส.ส. ไทยสร้างไทย ย้ำหนุน "พิธา" นายกฯ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง