จุดยุทธศาสตร์รัฐคะเรนนี สมรภูมิที่แพ้ไม่ได้

ต่างประเทศ
26 ส.ค. 66
10:39
1,297
Logo Thai PBS
จุดยุทธศาสตร์รัฐคะเรนนี สมรภูมิที่แพ้ไม่ได้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กว่า 1 เดือนของการสู้รบในรัฐคะเรนนี ประเทศเมียนมา ทำให้มีผู้พลัดถิ่นกว่า 230,000 คน ในจำนวนนี้กว่า 9,000 คน ทะลักเข้ามายังชายแดน จ.แม่ฮ่องสอน รัฐคะเรนนีเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่กองทัพเมียนมาต้องเข้ายึดครองให้ได้ ท่ามกลางการต่อต้านอย่างหนักจากกลุ่มชาติพันธุ์

ใครเป็นใครในสมรภูมิรัฐคะเรนนี

รัฐคะยา หรือรัฐคะเรนนีเป็นที่อยู่ของกลุ่มชนชาติพันธุ์ที่เรียกตนเองว่า “คะเรนนี” หรือที่คนไทยรู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า “กะเหรี่ยงแดง” ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ รัฐคะเรนนีมีเนื้อที่ประมาณ 11,000 ตารางกิโลเมตร เทียบเท่ากับจังหวัดอุดรธานีของไทย

ชายแดนทางเหนือของรัฐคะเรนนีติดต่อกับรัฐฉาน ทิศตะวันตกและทิศใต้ติดกับรัฐกะเหรี่ยง ขณะที่ชายแดนด้านตะวันออกติดกับจังหวัดแม่ฮ่องสอนของไทย

 

 

กลุ่มชาติพันธุ์คะเรนนีมีแนวคิดต้องการการปกครองในรูปแบบสหพันธรัฐเช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในเมียนมา รัฐคะเรนนีในอดีตจึงเกิดเหตุการณ์สู้รบกับกองทัพเมียนมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งปี 2555 กองทัพแห่งชาติคะเรนนี หรือ KNPP ลงนามข้อตกลงหยุดยิงกับรัฐบาลเมียนมา และสามารถรักษาเสถียรภาพมาได้ในช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมา

แต่การรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2564 โดย พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย ได้ทำลายข้อตกลงการหยุดยิงและจุดประกายกระแสการปฏิวัติในหมู่ชาวคะเรนนี โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่หันมาจับอาวุธและเข้าร่วมกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) กลุ่มติดอาวุธเกิดใหม่ที่มีจุดประสงค์โค่นล้มและต่อต้านคณะรัฐประหาร

จากบทวิเคราะห์ของไมเคิล มอร์แกน สถาบันระหว่างประเทศสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการศึกษาด้านยุทธศาสตร์ หรือ IISS ระบุว่า ท่ามกลางความรู้สึกต่อต้านคณะรัฐประหารและรัฐบาลทหารของพล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่ายที่เพิ่มมากขึ้น ทาง KNPP ได้จัดหาอาวุธและฝึกอบรมกองกำลัง PDF ที่ก่อตั้งขึ้นโดยเยาวชนและกลุ่มคนรุ่นใหม่ในรัฐคะเรนนี ในเวลาต่อมา ทางกลุ่ม PDF เข้าร่วมต่อสู้กับกองกำลังป้องกันแห่งชาติคะเรนนีหรือ KNDF ทำให้ KNDF กลายเป็นหนึ่งในขบวนการติดอาวุธที่มีความแข็งแกร่งมากที่สุดนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร

 

 

IISS ประมาณการณ์ว่าสมรภูมิในรัฐคะเรนนี มีกำลังพลของฝ่ายทหารเมียนมาประมาณ 10,000 คน โดยในจำนวนนี้มีกองทัพแห่งชาติปะโอรวมอยู่ด้วย ขณะที่ กลุ่มต่อต้านมีกำลังพลประมาณ 12,100 คน จาก กองกำลังหลักๆ 3 กลุ่ม คือ KNPP, KNDF และ PDF แต่ในจำนวนนี้มีเพียง 5,500 คนเท่านั้นที่เป็นกำลังพลติดอาวุธ

แนวรบในรัฐคะเรนนี

ไมเคิล มอร์แกน จาก IISS ระบุว่า หลังการรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 กองทัพเมียนมาภายใต้การบริหารของสภาบริหารแห่งรัฐเมียนมา (SAC) เปิดยุทธการโจมตีในรัฐคะเรนนีอย่างหนักโดยเฉพาะที่เมืองลอยก่อ เมืองหลวงของรัฐคะเรนนี และเมืองเดมอโส่ เมืองขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของรัฐคะเรนนี แต่ในท้ายที่สุด ผลลัพธ์กลับออกมาตรงกันข้าม กองทัพเมียนมาไม่สามารถกวาดล้างฝ่ายต่อต้านและไม่สามารถยึดครองพื้นที่ได้สำเร็จ จึงหันมาใช้ยุทธวิธีเข้าควบคุมถนนสายหลักภายในรัฐคะเรนนีตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพื่อตัดตอนการส่งอาวุธ อาหาร ข้าว และยารักษาโรคไปยังกลุ่มติดอาวุธของฝ่ายต่อต้าน ด้วยความคาดหวังว่าฝ่ายต่อต้านจะอ่อนกำลังลงและพ่ายแพ้ไปในที่สุด

ด้านเน เน โพ ชาวคะเรนนี ผู้ประสานงานของชุดประสานงานเพื่อการบรรเทาทุกข์ฉุกเฉินในรัฐคะเรนนี (CTER) ให้ความเห็นว่า ทุกพื้นที่ในรัฐคะเรนนีคือจุดยุทธศาสตร์ของฝ่ายต่อต้าน แต่ดูเหมือนว่าในขณะนี้ กองทัพเมียนมาพยายามเข้ายึดครองพื้นที่หมู่บ้านเมเซซึ่งอยู่ติดกับ อ.แม่สะเรียงและ อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน หลังจากพ่ายแพ้และสูญเสียพื้นที่ตรงจุดนี้ไปเกือบทั้งหมด

อีกประเด็นหนึ่งที่เขาเน้นย้ำคือ ถ้าหากกองทัพเมียนมาเข้ายึดครองพื้นที่แนวชายแดนระหว่างรัฐคะเรนนีกับไทยได้ นั่นหมายถึงทาง SAC จะสามารถควบคุมการค้าแนวชายแดน และตัดเส้นทางลำเลียงสิ่งของ รวมถึงยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ที่ฝ่ายต่อต้านหาซื้อจากฝั่งไทย

 

 

นอกจากนี้ ทางกองทัพเมียนมายังพยายามเข้ายึดครองพื้นที่ที่เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างรัฐคะเรนนีกับรัฐฉาน และรัฐคะเรนนีกับรัฐกะเหรี่ยง ท่ามกลางการตรึงกำลังอย่างหนักของฝ่ายต่อต้าน ทำให้กองทัพเมียนมายังไม่สามารถเข้ายึดครองพื้นที่ดังกล่าวได้

น่าสนใจว่า ทั้งไมเคิล จาก IISS และ เน เน โพ จาก CTER วิเคราะห์ไปในทิศทางเดียวกันว่า ด้วยตำแหน่งของรัฐคะเรนนีที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองหลวงเนปิดอว์ ทำให้กองทัพเมียนมาและฝ่ายต่อต้านต่างต้องการยึดพื้นที่นี้เป็นฐานที่มั่นให้ได้

หากเดินทางโดยรถยนต์จากเมืองลอยก่อของรัฐคะเรนนี กองกำลังต่อต้านกองทัพเมียนจะใช้เวลาเคลื่อนพลไปยังเมืองหลวงเนปิดอว์ได้ภายในเวลา 5 ชั่วโมง และรัฐคะเรนนีเองยังเป็นฐานยิงที่มีศักยภาพโจมตีเมืองเนปิดอว์ หากกลุ่มต่อต้านมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีอานุภาพมากพอ

ที่ตั้งของรัฐคะเรนนียังเป็นจุดเชื่อมโยงกับฐานที่มั่นฝ่ายต่อต้านกองทัพเมียนมาทางใต้ในรัฐกะเหรี่ยงและทางเหนืออย่างรัฐฉานได้ ดังนั้น หากกองทัพเมียนมาเข้าควบคุมพื้นที่รัฐคะเรนนีได้ ทาง SAC จะได้เปรียบในทางยุทธศาสตร์ทันที ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชนชาติพันธุ์ในรัฐกะเหรี่ยงและรัฐฉานด้วยเช่นกัน


การลงโทษแบบเหมารวม กระทบพลเรือน

เน เน โพ จาก CTER แสดงความกังวลใจต่อยุทธการการสู้รบของกองทัพเมียนมาที่ใช้ยุทธวิธีโจมตีทางภาคพื้นและทางอากาศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหมู่บ้าน โรงเรียน โรงพยาบาล โบสถ์คริสต์ และคลินิกเคลื่อนที่

 

ภาพความเสียหายจากการโจมตีของ SAC ภายในรัฐคะเรนนี ภาพจาก  Poe Reh / CTER

ภาพความเสียหายจากการโจมตีของ SAC ภายในรัฐคะเรนนี ภาพจาก Poe Reh / CTER

ภาพความเสียหายจากการโจมตีของ SAC ภายในรัฐคะเรนนี ภาพจาก Poe Reh / CTER

ภาพความเสียหายจากการโจมตีของ SAC ภายในรัฐคะเรนนี ภาพจาก  Poe Reh / CTER

ภาพความเสียหายจากการโจมตีของ SAC ภายในรัฐคะเรนนี ภาพจาก Poe Reh / CTER

ภาพความเสียหายจากการโจมตีของ SAC ภายในรัฐคะเรนนี ภาพจาก Poe Reh / CTER

ทหารเมียนมาโจมตีชาวบ้านในลักษณะการลงโทษแบบเหมารวม (Collective punishment) โดยกล่าวหาว่าชาวบ้านให้การสนับสนุนกองกำลังฝ่ายต่อต้านฯ พวกเขาพยายามทำลายทุกอย่างที่ชาวบ้านสร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน โรงเรียน โบสถ์ และคลินิก เพราะถ้าหากเราไม่สามารถดำรงชีวิตได้ นั่นหมายความว่าพวกเราจะไม่มีทางอยู่รอด

ผู้ประสานงานจาก CTER กล่าวต่อว่า การโจมตีทางอากาศโดยเครื่องบินคือสิ่งที่ชาวคะเรนนีหวาดกลัวมากที่สุด เพราะเครื่องบินมักเข้าโจมตีหมู่บ้านหรือค่ายผู้ลี้ภัยในเวลากลางคืนซึ่งเป็นช่วงที่ชาวบ้านหลับสนิท และพวกเขาไม่สามารถหลบหนีการโจมตีได้ เมื่อภัยมาถึงตัว

ไม่ใช่ทุกหมู่บ้านที่มีหลุมหลบภัย บางครั้งสะเก็ดระเบิดชิ้นเล็กๆ ที่ทะลุเข้ามา ก็พรากชีวิตชาวบ้านได้แล้ว

ชาวคะเรนนีกว่า 230,000 คน กลายเป็นผู้พลัดถิ่น

ข้อมูลจากศูนย์สั่งการชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านด้านเมียนมา จ.แม่ฮ่องสอน ระบุว่า ล่าสุด มีผู้ลี้ภัยจากรัฐคะเรนนีอย่างน้อย 9,000 คน อพยพหนีภัยการสู้รบมาอยู่ในพื้นที่แนวชายแดน 5 จุด ใน อ.แม่สะเรียง อ.ขุนยวม และ อ.เมืองแม่ฮ่องสอน จ.แม่ฮ่องสอน

เน เน โพ จาก CTER ประเมินว่าขณะนี้ชาวคะเรนนีกว่า 230,000 คนกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศตนเอง และต้องหนีภัยการสู้รบอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยภายในรัฐคะเรนนี รวมถึงชายแดนจังหวัดแม่ฮ่องสอนของไทย
ภาพค่ายผู้ลี้ภัยการสู้รบภายในรัฐคะเรนนี ภาพจาก  Poe Reh / CTER

ภาพค่ายผู้ลี้ภัยการสู้รบภายในรัฐคะเรนนี ภาพจาก Poe Reh / CTER

ภาพค่ายผู้ลี้ภัยการสู้รบภายในรัฐคะเรนนี ภาพจาก Poe Reh / CTER

 

ผู้พลัดถิ่นในรัฐคะเรนนีต้องเผชิญกับความท้าทายในเรื่องความมั่นคงทางอาหารและที่อยู่อาศัย ภายใต้สถานการณ์สู้รบที่ไม่มีท่าทีจะคลี่คลายในเร็ววัน พวกเขาต้องอยู่ภายใต้สิ่งที่ก่อสร้างขึ้นด้วยไม้และผ้าใบซึ่งไม่เหมาะสมกับการอยู่อาศัยในระยะยาว ส่วนอาหารและยาซึ่งเป็นของจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตก็มีอยู่อย่างจำกัด

เมื่อสอบถามว่าผู้ลี้ภัยจากการสู้รบกว่า 9,000 คนที่เข้ามายังแนวชายแดนแม่ฮ่องสอน มาจากไหน ผู้ประสานงาน CTER บอกว่าเป็นชาวบ้านจากทุกที่ในรัฐคะเรนนีที่แสวงหาความปลอดภัย ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรและทำอาชีพค้าขาย

แม้ว่าทางการไทยจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอยู่แล้วก็ตาม แต่ผู้อพยพยังต้องการความช่วยเหลือผ่านการระดมทุนและการบริจาคอีกมาก จึงเป็นเรื่องท้าทายว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะบริหารพื้นที่รองรับที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างไร เนื่องจาก มีแนวโน้มว่า ผู้อพยพจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นในอนาคต

 

จิราภรณ์ ศรีแจ่ม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง