มีสิทธิทุกคน! ป่วยวิกฤตใช้สิทธิ "UCEP" รักษาฟรีทุกโรงพยาบาล

ไลฟ์สไตล์
20 ก.พ. 67
14:31
2,224
Logo Thai PBS
มีสิทธิทุกคน! ป่วยวิกฤตใช้สิทธิ "UCEP" รักษาฟรีทุกโรงพยาบาล
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
มารู้จัก "สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉิน วิกฤต หรือ "UCEP" ทำความเข้าใจทุกขั้นตอนก่อนใช้สิทธิ ทั้งกลุ่มอาการไหนที่เข้าข่ายบ้าง แล้วต้องติดต่อใคร หากเกิดเหตุฉุกเฉิน

อาการเจ็บป่วย หรือ อุบัติเหตุ เป็นสิ่งที่ทุกคนไม่อยากให้เกิดทั้งกับตัวเองและคนใกล้ชิด บ้างครั้งเราก็ไม่สามารถที่จะเลือกโรงพยาบาลได้ สถานพยาบาลที่อยู่ใกล้สุดจึงเป็นทางเดียวในการเพิ่มโอกาสช่วย "ชีวิต" ให้ผ่านพ้น "วิกฤต" แต่ก็ยังกังวลว่าจะพาไปรักษาที่ไหนดี รวมถึงต้องมีค่าใช้จ่ายเท่าไร วันนี้จะพาไปเข้าใจ "สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต"    

เข้าใจ สิทธิ "UCEP" คืออะไร?

"เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่" หรือ สิทธิ UCEP (Universal Coverage for Emergency Patients) เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ช่วยให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุด โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย จนพ้นระยะวิกฤต หรือ แพทย์ประเมินแล้วว่าสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย แต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง

แล้วใครบ้างที่ได้สิทธินั้น ต้องบอกว่าเป็นคนไทย ไม่ว่าจะเป็นสิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม สิทธิบัตรทอง หรือไม่ได้สิทธิอะไรเลย หากมีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ก็สามารถรักษาฟรีได้

6 อาการเข้าข่าย ภาวะฉุกเฉินวิกฤต 

ลองเช็กอาการเบื้องต้นว่า เข้าข่ายฉุกเฉินวิกฤต แบ่งออกเป็น 6 กลุ่มอาการใหญ่ ๆ ดังนี้ 

  • หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ
  • หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรงหายใจติดขัดมีเสียงดัง
  • ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น
  • เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง
  • แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกพูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วนหรือชักต่อเนื่องไม่หยุด
  • อาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่เป็นอันตรายต่อชีวิต หากพบอาการที่เข้าข่าย

สิทธิ UCEP นั้นผู้ป่วยจะได้รับการรักษาจนพ้นวิกฤตและสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย โดยเมื่อพ้น 72 ชั่วโมง จะส่งรักษาต่อที่หน่วยบริการประจำ โดยให้สถานพยาบาลที่ให้การรักษาเบิกค่าใช้จ่ายค่ารักษาจาก สปสช. ตามอัตราที่กำหนด กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน โทร.1669 ได้ทั่วประเทศ

ขั้นตอนการใช้สิทธิ ทำอย่างไร

ก่อนใช้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉิน ให้ทำตามขั้นตอนดังนี้

  • ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด โดยให้แจ้ง รพ.ว่าใช้สิทธิ UCEP
  • โรงพยาบาลประเมินอาการ และคัดแยกระดับความฉุกเฉิน
  • ระหว่างโรงพยาบาลประเมินอาการ ติดต่อ ศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูล ได้ตลอด 24 ชั่วโมง โทร 02-872-1669
  • กรณีเข้าเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤต จะได้รับความคุ้มครองตามสิทธิ UCEP ทันทีแต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง หรือ พ้นวิกฤต
  • กรณีไม่เข้าเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤตให้รีบประสานโรงพยาบาลตามสิทธิหากประสงค์รักษาต่อต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง

ทั้งนี้ หากป่วยฉุกเฉินแต่ "ไม่วิกฤตถึงแก่ชีวิต" สามารถเข้ารับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลรัฐที่ใกล้ที่สุด โดยยื่นเพียงบัตรประชาชนใบเดียว และแจ้งใช้สิทธิบัตรทองหรือสิทธิ 30 บาท

รู้ไว้ก่อน รอดชีวิต จำไว้ว่า "เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่"

9 ข้อควรรู้ ก่อนโทรแจ้งสายด่วน 1669

สถาบบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้แนะนำสิ่งที่ควรรู้ ก่อนโทรแจ้งสายด่วน 1669 สายด่วนที่ให้บริการเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตินอกสถานพยาบาล มีสิ่งสำคัญ ดังนี้

  • เมื่อพบเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินให้ตั้งสติและโทรแจ้งสายด่วน 1669
  • ให้ข้อมูลว่าเกิดเหตุอะไรมีผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บในลักษณะใด
  • บอกสถานที่เกิดเหตุเส้นทางจุดเกิดเหตุให้ชัดเจน
  • บอกเพศ ช่วงอายุ อาการจำนวนผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บ
  • บอกระดับความรู้สึกตัวของผู้ป่วย
  • บอกความเสี่ยงที่อาจเกิดซ้ำ เช่นอยู่กลางถนนหรือรถติดแก๊ส
  • บอกชื่อผู้แจ้งเบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้
  • ช่วยเหลือเบื้องต้นตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่
  • รอทีมกู้ชีพมารับผู้ป่วยเพื่อนำส่งโรงพยาบาล

ทั้งนี้ ตามหลักของการทำงานของ สายด่วน 1669 

เจ้าหน้าที่จะประเมินอาการว่า เข้าข่ายอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือไม่ เข้าข่ายอาการแบบไหน ก่อนส่งทีมผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินเข้าช่วยเหลือ แบ่งระดับความฉุกเฉินเป็น 5 ระดับ

  • ระดับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง)
  • ผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน (สีเหลือง)
  • ผู้ป่วยฉุกเฉิน ไม่รุนแรง (สีเขียว)
  • ผู้ป่วยทั่วไป (สีขาว)
  • ผู้รับบริการสาธารณสุขอื่นๆ (สีดำ)

ทั้งนี้ เมื่อผู้ป่วยถูกประเมินว่าเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต จะส่งทีมไปรับผู้ป่วย และส่งต่อไปรักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด ให้ทันท่วงทีต่อการรักษาชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน เพราะหากส่งถึงมือแพทย์ช้า อาจทำเสี่ยงถึงชีวิต จากนั้นโรงพยาบาลนั้น ๆ จะทำการรักษาจนพ้นวิกฤตแล้วจึงจะพิจารณาส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยมีสิทธิหรือมีประวัติในการรักษา

กรณีเจ็บป่วยที่ไม่ใช่ฉุกเฉินระดับวิกฤต

สำหรับกรณีเจ็บป่วยที่ไม่ใช่ฉุกเฉินระดับวิกฤต หรือผู้มีสิทธิบัตรทองที่เดินทางไปต่างถิ่นแล้วมีความจำเป็นต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล เช่น มีความดันโลหิตขึ้นสูง ปวดศีรษะมาก เกิดภาวะท้องเสียรุนแรง ไข้หวัด ปวดท้อง เคืองตา ทำแผลต่อเนื่อง ตัดไหม หรือยาหมด (ต้องกินยาต่อเนื่อง) 

สามารถเข้ารักษาได้ที่หน่วยบริการปฐมภูมิทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็น รพ.สต. ศูนย์สุขภาพชุมชน โรงพยาบาลประจำอำเภอ หน่วยบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาลประจำจังหวัด รวมถึงศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และคลินิกชุมชนอบอุ่น โดยยื่นบัตรประชาชนและแจ้งใช้สิทธิบัตรทอง

กรณีเจ็บป่วยเล็กน้อย 

กรณีเจ็บป่วยเล็กน้อย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ร่วมกับสภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข เพิ่มบริการให้ประชาชนมีความสะดวกมากขึ้น ดังนี้

• เจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการ ยื่นบัตรประชาชนใบเดียว ปรึกษาเภสัชกรและรับยาได้ที่ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการได้ทั่วประเทศ ไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยสังเกตสติกเกอร์ “ร้านยาคุณภาพของฉัน ให้บริการเจ็บป่วยเล็กน้อย” หรือดูรายชื่อร้านยาที่เข้าร่วมได้ที่ https://www.nhso.go.th/downloads/204

• เจ็บป่วยเล็กน้อย 32 อาการ ยื่นบัตรประชาชนใบเดียว เข้ารักษาโรคเบื้องต้นตามขอบเขตวิชาชีพได้ที่คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่นกว่า 600 แห่งที่เข้าร่วมได้ทั่วประเทศ สังเกตสติกเกอร์ คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น

• เจ็บป่วยเล็กน้อย 42 อาการ หากอยู่ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล 5 จังหวัด (นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม) มีที่อยู่ให้จัดส่งยาได้ พบหมอออนไลน์ รอรับยาที่บ้านผ่านแอปพลิเคชันสุขภาพ 4 ช่องทาง ดูรายละเอียดที่ https://www.nhso.go.th/news/4078

อ่านข่าวอื่น ๆ

อย่าลืม! ผู้ประกันตน ม.33 "ว่างงาน - ตกงาน" ลงทะเบียนรับเงินชดเชย

วันหยุดเมษายน 2567 : รื่นเริงเถลิงศกหยุดยาวสงกรานต์ 5 วันรวด

วันหยุดมีนาคม 2567 : เพราะทุกวันคือ "วันทำงาน"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง