ธนาวุฒิ คลิ้งเชื้อ-บุ้ง ทะลุวัง บนเส้นทางการเมืองไทย 34 ปี ไม่เปลี่ยน

การเมือง
15 พ.ค. 67
17:34
1,614
Logo Thai PBS
ธนาวุฒิ คลิ้งเชื้อ-บุ้ง ทะลุวัง บนเส้นทางการเมืองไทย 34 ปี ไม่เปลี่ยน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

หากยังจำกันได้ เมื่อ 14 ตุลาคม 2533 เคยเกิดเหตุการณ์ "ธนาวุฒิ คลิ้งเชื้อ" นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงชั้นปีที่ 2 เด็กหนุ่มวัย 20 ปี จาก จ.นครศรีธรรมราช ก่อเหตุใช้น้ำมันเบนซินราดและจุดไฟเผาตัวเอง เพื่อประท้วงรัฐบาลชาติชายโดยเรียกร้องให้พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นให้ลาออกจากตำแหน่ง

สิ่งที่ "ธนาวุฒิ"เชื่อและทำโดยใช้หลักการต่อสู้ที่เรียกว่า "สันติอหิงสา" โกนหัว, อดข้าว, กรีดเลือด และเผาตัวเอง สุดท้ายชีวิตของ "ธนาวุฒิ" ก็จบลงด้วยความโศกเศร้าของคนในครอบครัวและสังคม

ส่วนความฝันที่ว่าด้วยประชาธิปไตยของปวงชน จนทำให้ต้องลุกขึ้นมาเป็นหัวหอก ใช้พลังบริสุทธิ์ ขับไล่รัฐบาลพ่อค้า โค่นล้มเผด็จการรัฐสภา สถาปนารัฐสภาของปวงชน ก็ยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน คงเหลือแต่ชื่อไว้ในตำนาน หลายคนยังรู้จัก จำได้ ขณะที่อีกหลายๆคนไม่รู้จัก และอาจลืมเลือนเขาไปแล้ว

จากวันนี้ถึงวันนี้เวลาผ่านไปนานถึง 34 ปี แม้บ้านเมืองจะเปลี่ยนไป การติด ต่อสื่อสาร การเคลื่อนไหว รูปแบบการชุมนุมประท้วง การต่อสู้ของคนรุ่นต่อๆมาจะปรับเปลี่ยนรูปแบบ ก้าวกระโดดตามโลกโซเชียลไปอย่างไรก็ตาม

อ่านข่าว ราชทัณฑ์ ยังรอผลชันสูตร "บุ้ง ทะลุวัง" ยันยึดหลักสิทธิมนุษยชน

แต่ทว่าโครงสร้างการเมืองไทยและนักการเมืองไทย ก็ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก และผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง ก็ยังต้องสังเวยชีวิตให้กับความเชื่อ และความศรัทธาครั้งแล้ว ครั้งเล่า ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ "บุ้ง" น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม วัย 29 ปี นักกิจกรรมทางการเมืองกลุ่มทะลุวัง ที่ประท้วงอดอาหาร นานกว่า 100 วัน

แม้ในช่วงหลังจะยอมกลับมารับประทานอาหารอยู่บ้าง แต่การอดอาหาร ได้ส่งผลกระทบทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย กอปรกับการปฎิเสธรับสารอาหารทางหลอดเลือด ทำให้เกิดอาการช็อกและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา

เหตุการณ์นี้ ทำให้มีการจุดประเด็นคำถามว่า หลังการเสียชีวิตของ "บุ้ง เนติพร" จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หรือก่อให้เกิดการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรม และตามข้อเรียกร้อง ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะเห็นต่างทางการเมือง ดังที่คาดหวังหรือไม่

อย่างไรก็ตาม หากย้อนรอยเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับ "ธนาวุฒิ"เมื่อครั้งอดีต คำถามนี้คงไม่ต้องการคำตอบ

แม้หลายฝ่ายจะประเมินตรงกันว่า ไม่คาดคิดว่า "บุ้ง เนติพร"จะเอาชีวิตตัวเองมาเป็นเดิมพัน และเกิดเหตุซ้ำรอยกับ "ธนาวุฒิ" ในอดีตว่า "ทำตัวเอง" ส่วน ประเด็นที่ทำให้เกิดปัญหาและมีการถกเถียงในสังคม คือ ผู้เสียชีวิตถูกจำคุกเพราะละเมิดอำนาจศาล จึงทำให้ศาลไม่ให้ประกันตัว

ขณะที่ฐานความผิดอื่นที่เหลือ ศาลได้ให้ประกันมาโดยตลอด ดังนั้นข้อกล่าวหาที่ระบุว่า ศาลไม่ให้ผู้เสียชีวิตประกันตัวจากคดีทั้งหมด 7 คดี จึงฟังไม่ขึ้นและสามารถแก้กล่าวหาที่ทำให้ทุกฝ่ายปฎิเสธไม่ได้

อ่านข่าว นายกฯ เสียใจ "บุ้ง ทะลุวัง" เสียชีวิต สั่ง ยธ.สอบ

แม้การเสียชีวิตของ "บุ้ง เนติพร" จะทำให้มีนักกิจกรรมการเมือง และนักการเมืองบางคนออกมาเคลื่อนไหว แต่การเกิดกลุ่มผู้ชุมทางการเมือง หรือม็อบขนาดใหญ่ๆจะยังไม่เกิดขึ้น หรือที่เรียกว่า "จุดไม่ติด" แต่อาจมีการเรียกร้องหรือ เวทีชุมนุมของกลุ่มเล็กๆ เพราะยังไม่มีตัวเร่ง

และเหตุการณ์นี้อาจตรงกันข้าม หากเกิดขึ้นในสมัย รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เชื่อว่า สถานการณ์จะบานปลายและอาจเอาไม่อยู่ แต่สำหรับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีแฟนคลับหนาแน่น และส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการออกมาเคลื่อนไหวและการทำกิจกรรมทางการเมืองของกลุ่มทะลุวังอยู่แล้ว การจุดพลุเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจึงเป็นไปได้ยากมาก

ไม่ว่าจะเป็นความพยายามของพรรคการเมืองขั้วตรงข้ามและกลุ่มกิจกรรมการเมืองที่ต้องการขยายวงมาถึงเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และเอามาตรา 112 เข้ามารวมใน พ.ร.บ.นี้ ซึ่งหลายฝ่ายได้ประเมินโดยพิจารณาทั้งข้อดีและข้อเสียที่จะเกิดขึ้น และมองว่า พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลไม่น่าจะเอาด้วย

ส่วนการขยายประเด็นยุติธรรม 2 มาตรฐาน โดยเปรียบเทียบมาตรฐานการรักษาพยาบาลผู้ต้องขังที่มีอาการป่วยเหมือนกัน คือ "ทักษิณ ชินวัตร"ซึ่งกรมราชทัณฑ์ อนุญาตให้พักรักษาตัวอยู่ที่รพ.ตำรวจชั้น 14 ขณะที่ "บุ้ง เนติพร" ซึ่งป่วยจากการประกาศอดอาหาร เข้ารักษาตัวรพ.ธรรมศาสตร์และโรงพยา บาลราชทัณฑ์ จนเสียชีวิตในเวลาต่อมา ชนวนนี้จะทำให้ไฟการเมืองปะทุหรือไม่ ต้องดูในระยะยาว

ดังบทเรียนในอดีตเคยมีเด็กและเยาวชนออกมาเรียกร้อง แสดงความคิดเห็นทางการเมืองมาทุกยุค ...ยิ่งในปัจจุบัน ไม่มีการปิดกั้นการแสดงออกและยังให้สิทธิและเสรีภาพมากขึ้นกว่าเดิม โดยบริบทของสังคม ไม่น่าจะเกิดขึ้นจากแรงกระตุ้นแบบนี้ ซึ่งต้องทำใจยอมรับว่าเป็นบริบทของสังคมโลก

แต่บนเส้นทางการเมืองไทย การใช้ชีวิตของตัวเองเข้ามาแลก หลายครั้งๆ มันไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรทางการเมืองเลย ไม่ว่าจะกับพรรคการเมืองหรือนักการเมือง

อย่างไรก็ตาม ในแวดวงนักวิเคราะห์ เห็นว่า หากตั้งสมการจุดไฟการเมืองติดจริง ต้องย้อนถามรัฐบาลกลับว่า ต้องการให้ไปถึงจุดนั้นหรือไม่ เนื่องจากเหตุการณ์ "ทักษิณ" ในฐานะผู้ต้องหาขณะนั้น ได้สิทธิไปพักรักษาตัวชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ยังคาใจและกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนในสังคมมาก

ขณะเดียวกันในอนาคต หากยังจะมีอีกเหตุ คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งยังเป็นผูู้ต้องหา ซึ่งกำลังจะกลับเข้ามาในประเทศไทยอีก และหากยังปล่อยให้สถานการณ์มาถึงจุดนั้น ก็จะมีผู้เสียผลประโยชน์ มากกว่าจะได้ผลประโยชน์

ดังนั้นในครั้งนี้ หากมีการเคลื่อนไหว อยากให้ประชาชนจับตาดูว่า ใครจะเป็นผู้ได้และเสียผลประโยชน์ ถ้าปล่อยให้มีเหตุการณ์บานปลาย จนรัฐบาลไม่สามารถควบคุมได้ จะทำให้ฝ่ายความมั่นคงต้องขยับเข้ามาอีกรอบ ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องคิดหนัก โดยเฉพาะหากผลลัพธ์ของการขับเคลื่อนจะทำให้ฝ่ายความมั่นคงกลับมาเข้มแข็งเพิ่มขึ้น ชื่อว่า "ทักษิณ" คงไม่ยอม

อย่างไรก็ตาม สำหรับบทสรุปเบื้องต้น ประเมินว่า ม็อบมาแน่อาจเป็นกลุ่มเล็กๆจะแรงหรือไม่ ยังต้องรอลุ้น แต่เชื่อว่า สถานการณ์จะยังไม่บานปลายส่วนจะนำไปสู่ความรุนแรงหรือไม่ อาจต้องรอดูผลการผ่าพิสูจน์ร่างผู้เสียชีวิตจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ว่า เกิดจากสาเหตุใด และมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงหรือไม่ และลักษณะหรือรูปแบบการเสียชีวิต เป็นไปโดยผิดธรรมชาติหรือไม่

แม้ขณะนี้จะมีองค์กรต่างประเทศ และประเทศในกลุ่มยุโรปหลายประเทศ ออกมาเรียกร้องความยุติธรรม และแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งก็ต้องจับตาและประเมินสถานการณ์ว่า มีเบื้องหน้า เบื้องหลัง มีการปลุกเร้ามวลชนหรือไม่ แต่ในส่วนรัฐบาล เชื่อว่า ไม่ทำ เพราะไม่มีประโยชน์อะไรในทางการเมือง

ปฎิเสธไม่ได้ว่า การเสียชีวิตของ "บุ้ง เนติพร" ผู้ต้องขังที่อยู่ในความดูแลของกรมราชทัณฑ์ จะต้องมีผู้ออกมาแสดงความรับผิดชอบ โดยเฉพาะอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ในฐานะผู้กำกับดูแลโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ที่มีหน้าที่ดูแลผู้ต้องขังป่วยในเรือนจำ โดยเฉพาะปัญหาการรักษาพยาบาล

หากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่สามารถดูแลได้ ก็ต้องตอบคำถามสังคมว่า เหตุใดจึงไม่ส่งตัวกลับไปให้โรงพยาบาลธรรมศาสตร์รักษาดูแลต่อ แต่สุดท้ายทั้งหมดจะต้องรอฟังผลการชันสูตรศพว่า จะออกมาเป็นอย่างไร และเหตุใดจึงไม่สามารถปั้มหัวใจให้คืนกลับมาได้ เนื่องจากการอดอาหารไม่น่าจะเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต

ผ่านมาและผ่านไป บนเส้นทางความเชื่อและศรัทธา สายลมการต่อสู้ทางการเมือง ของคนทุกยุคทุกสมัย หลายคนๆได้ล้มหายตายจากไป คนใหม่ๆ รุ่นใหม่ๆ หน้าใหม่ก็เกิดขึ้นในวังวนการเมืองไทย 34 ปี แนวรบไม่เคยเปลี่ยน

อ่านข่าวอื่นๆ

ศาล รธน.ให้ขยายเวลา "ก้าวไกล" ยื่นคำชี้แจงยุบพรรค 2 มิ.ย.นี้

ทนายเผยชันสูตร "บุ้ง ทะลุวัง" ส่งเนื้อเยื่อตรวจแล็บ คาดผลออกพรุ่งนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง