ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ยังไม่สรุป "หินตกใส่-ให้เลือดผิด" ทำเหยื่อพระราม 2 เสียชีวิต

อาชญากรรม
2 พ.ค. 68
19:15
958
Logo Thai PBS
ยังไม่สรุป "หินตกใส่-ให้เลือดผิด" ทำเหยื่อพระราม 2 เสียชีวิต
ผู้ช่วย รมว.สธ. อ้างข้อมูล สสจ.สมุทรสาคร กรณี รพ.เอกชนรักษาผู้บาดเจ็บเศษปูนสะพานพระราม 2 หล่นใส่ ยืนยันมีการใช้เลือดผิดกรุ๊ปจริง เนื่องจากผลแล็บตรวจเลือดผู้บาดเจ็บผิด ด้าน "หมอแล็บแพนด้า" ตั้งข้อสังเกตโอกาสพลาดการตรวจกรุ๊ปเลือดในแล็บมี "น้อยมาก"

วันนี้ (2 พ.ค.2568) นายกองตรี ดร.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงกรณีการให้เลือดผู้บาดเจ็บ กรณีเศษปูนสะพานพระราม 2 หล่นใส่ จนได้รับบาดเจ็บรุนแรง โดยอ้างข้อมูล ที่ได้รับจากสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ที่เข้าไปตรวจสอบการรักษาของโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกที่เป็นผู้รักษาผู้บาดเจ็บ

โดยระบุว่า เมื่อส่งไปยังโรงพยาบาลเอกชนแห่งนั้น อ้างว่าตามหลักการ เมื่อไม่ทราบว่าผู้บาดเจ็บมีเลือดกรุ๊ปใด จะให้เลือดกรุ๊ปโอก่อน ซึ่งเป็นเลือดที่ให้ได้กับทุกกรุ๊ป ปรากฏว่า วันนั้นเลือดกรุ๊ปโอขาด จึงหาเลือดที่ตรงกับกรุ๊ปของผู้บาดเจ็บ แต่ผลแล็บที่ออกมาคลาดเคลื่อน เป็นเลือดกรุ๊ปเอ ทั้งที่จริงแล้วผู้บาดเจ็บมีเลือดกรุ๊ปบี ระหว่างการผ่าตัดได้ใช้เลือดกรุ๊ปเอไปก่อนแล้ว

หลังการผ่าตัดจึงทราบว่าผลเลือดไม่เข้ากัน จึงตรวจสอบ และพบว่าให้เลือดผิดกรุ๊ป เมื่อทราบปัญหา จึงส่งผู้บาดเจ็บ ซึ่งขณะนั้นยังมีสัญชาญชีพ แต่ไม่รู้สึกตัวไปยัง รพ.สมุทรสาคร

หลังผู้ได้รับบาดเจ็บเสียชีวิต มีญาติไปแจ้งผู้สื่อข่าวว่าโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรก ให้เลือดผิดกรุ๊ป ทางผู้สื่อข่าวมาสอบถามกับตนเอง จึงสั่งการให้สาธารณสุขจังหวัดฯ เข้าตรวจสอบ และพบว่าให้เลือดผิดกรุ๊ปจริง

ผู้ช่วย รมว.สธ. ย้ำว่า เรื่องนี้ต้องแยกเป็น 2 ประเด็น คือกรณีหินตกใส่ เป็นหน้าที่ของตำรวจ ส่วนกรณีให้เลือดผิด ญาติร้องเรียนแพทยสภา ให้ตรวจสอบมาตรฐานวิชาชีพของโรงพยาบาลได้

จากนั้นตำรวจจะสืบสวนสอบสวน โดยใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล และ พ.ร.บ.ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีญาติมาร้องเรียน ซึ่งสามารถไปร้องที่กระทรวงสาธารณสุข หรือ สสจ.สมุทรสาคร ได้

ด้านนายภาคภูมิ เดชหัสดิน หรือ "หมอแล็บแพนด้า" นักเทคนิคการแพทย์ ที่มีประสบการณ์ในธนาคารเลือด ทั้งการตรวจเลือด และการให้เลือด กว่า 16 ปี ยืนยันว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินหรือไม่ ปัจจุบันการให้เลือด จะให้ตรงตามหมู่เลือดของผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยมีเลือดกรุ๊ปเอ ก็จะให้เลือดกรุ๊ปเอ ไม่ให้เลือดกรุ๊ปอื่น การให้เลือดกรุ๊ปอื่น มีข้อยกเว้นเฉพาะภาวะสงคราม ซึ่งไทยไม่อยู่ในกรณีนั้น

ไม่ว่าผู้ป่วยจะอยู่ในสภาวะใด จะต้องตรวจกรุ๊ปเลือดผู้ป่วย ซึ่งมีการทดสอบในห้องแล็บด้วยกระบวนการที่ละเอียดรอบคอบ ซึ่งมีโอกาสผิดพลาด น้อยมาก แต่หากมีความผิดพลาดจริง เชื่อว่า เป็นความผิดพลาดระดับบุคคล

ด้าน เภสัชกร วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร อดีตรองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า หลักการ การให้เลือดผู้ป่วย ไม่ว่ากรณีใด ต้องมีการตรวจเลือดผู้ป่วย ว่าเลือดกรุ๊ปใด จากนั้น จึงตรวจสอบว่าเลือดที่จะให้ผู้ป่วย ปลอดเชื้อหรือไม่ แม้จะมีฉลากเขียนกำกับถุง ถึงความปลอดภัย

และสุดท้ายคือขั้นตอนสำคัญ เรียกว่าการ "Matching" อธิบายให้เข้าใจง่าย คือการนำตัวอย่างเลือดของผู้ป่วย ทดลองว่าเข้ากันได้กับเลือดที่จะให้หรือไม่ หากไม่มีปัญหา จึงจะให้เลือดผู้ป่วยได้ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ใช้เวลาไม่มาก กรณีที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอน อาจมีเงื่อนไขอื่นที่ต้องฟังคำชี้แจงจากผู้ที่เกี่ยวข้อง 

อ่านข่าวอื่น :

เริ่มวันนี้! M81 บางใหญ่-กาญจนบุรี 96 กม. "ฟรี" ทุกศุกร์-จันทร์

ลดราคาปุ๋ย 10 ล้านกระสอบ 79 สูตร หนุนชาวนา-เกษตรกรรับฤดูกาลเพาะปลูก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง