วันที่ 6 พ.ค.2568 เพจเฟซบุ๊ก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จ.สงขลา สรุปเนื้อหาจากรายงานเรื่อง The Impacts of Harmful Subsidies on Biodiversity and Ecosystems in Thailand” (UNDP BIOFIN, 2024) ของโครงการริเริ่มทางการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ (BIOFIN) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่พัฒนาโดย โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ กว่า 100 ประเทศทั่วโลก นำไปใช้เพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ
เพจคณะวิทยาศาสตร์ สรุปเนื้อหาของรายงานฉบับนี้กว่า 80 หน้า ซึ่งเป็นรายงานจากการศึกษาของ ดร.กิติเชษฐ์ ศรีดิษฐ์ และ ดร.สาร บำรุงศรี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้วิจัย ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 ถึงเดือนกรกฎาคม 2567

รายงานวิจัยชี้ให้เห็นถึงนโยบายภาษีที่ดินไทยกระทบความหลากหลายทางชีวภาพ “ตัดต้นไม้เลี่ยงภาษี” คือวิกฤตเงียบที่รัฐมองข้าม
รายงานล่าสุดจากโครงการ BIOFIN ภายใต้ UNDP ชี้ว่า นโยบายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของไทย ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลับกลายเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อความหลากหลายทางชีวภาพทั่วประเทศ
ตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ที่บังคับใช้โดยกระทรวงการคลังผ่านสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ที่ดินว่างเปล่าหรือไม่ได้ใช้งานอย่าง “เหมาะสม” จะต้องเสียภาษีในอัตราก้าวหน้า เริ่มจาก 0.3 % ของราคาประเมินและเพิ่มขึ้นทุก 3 ปี สูงสุดถึง 3 %
ผลกระทบที่ตามมาคือ เจ้าของที่ดินจำนวนมาก ถูกผลักให้ตัดต้นไม้ทำลายพืชพันธุ์ธรรมชาติ หรือปลูกพืชตามบัญชีที่รัฐกำหนด (แม้บางชนิดจะเป็นพืชต่างถิ่น) เพียงเพื่อให้เข้าเกณฑ์ “ใช้ประโยชน์แล้ว” และเลี่ยงภาระภาษีที่สูงขึ้น
พื้นที่ธรรมชาติในที่ดินเอกชนอาจทำหน้าที่เป็น “แหล่งหลบภัย” (Refugia) ของสิ่งมีชีวิตหรือเป็นจุดเชื่อมต่อของระบบนิเวศ ถูกทำลายลงอย่างกว้างขวางเพราะแรงกดดันด้านภาษีนี้

แม้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง จะยอมรับว่า ไม่มีเจตนาทำลายธรรมชาติ แต่ผลจากการออกแบบนโยบายโดยไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศวิทยาร่วมพิจารณา กลับสร้างผลเสียมหาศาลต่อความหลากหลายทางชีวภาพและยังไม่มีแนวทางชัดเจนในการให้สิทธิยกเว้นภาษีสำหรับที่ดินที่รักษาธรรมชาติไว้
ข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหา:
- ทบทวนกฎหมายภาษีที่ดิน: ควรมีการทบทวนการประเมินภาษีที่ดินและจัดทำแนวทางที่ชัดเจน โดยทำงานร่วมกับนักชีววิทยาเพื่อพิจารณาระบบนิเวศธรรมชาติ เมื่อให้การยกเว้นภาษี
- กำหนดคำนิยามใหม่: ควรมีการกำหนดคำนิยามของ "ที่รกร้างว่างเปล่า" ที่ใช้ในการเก็บภาษีใหม่ โดยอาจเสนอให้ที่ดินรกร้างที่ควรได้รับการยกเว้นภาษีต้องมีพืชต่างถิ่นไม่เกิน 50% ของพื้นที่
- ส่งเสริมความรู้: ควรมีการให้ความรู้พื้นฐานด้านนิเวศวิทยา/ความหลากหลายทางชีวภาพแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน
- สร้างความร่วมมือ: ควรมีการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างเจ้าของที่ดิน หน่วยงานท้องถิ่น และสถาบันการศึกษา เพื่ออนุรักษ์ที่ดินเพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและให้ได้รับการยกเว้นภาษีที่ดิน ควรมีบุคลากรด้านชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยท้องถิ่นเข้าร่วมในคณะกรรมการประเมินที่ดินของจังหวัด

กล่าวโดยสรุป การปลูกต้นไม้ตามรายการเพื่อลดหย่อนภาษีที่ดิน เป็นผลจากนโยบายที่ขาดความเข้าใจด้านนิเวศวิทยา ก่อให้เกิดการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติอย่างกว้างขวางและรวดเร็วทั่วประเทศ ส่งผลให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพพื้นเมืองอย่างมหาศาล ซึ่งเป็นผลกระทบเชิงลบโดยไม่ได้ตั้งใจแต่มีความเสียหายรุนแรง “นี่ไม่ใช่เรื่องของภาษีอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของวิธีที่ประเทศปฏิบัติต่อธรรมชาติ”
อ่านข่าว :