ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ต้องหอบงานไปทำที่สภาฯ งานเฉพาะหน้า รมต.ใหม่กันล่ม

การเมือง
15:07
36
ต้องหอบงานไปทำที่สภาฯ งานเฉพาะหน้า รมต.ใหม่กันล่ม
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
วันเปิดสภาฯ วันแรก ซึ่งมีความสำคัญในด้านจิตวิทยา เรื่องเสถียรภาพรัฐบาล และตรงกับวันที่ครม.แพทองธาร 1 / 2 เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตน ผลปรากฏ สภาฯ ล่ม ประธานในที่ประชุมรีบชิงปิด หลังสส.ฝ่ายค้านเสนอให้นับองค์ประชุม

เป็นปัญหาเดิม ๆ ซ้ำซาก แก้ไม่ตก และเหตุผลฟังไม่ขึ้น แม้มือกฎหมายคนสำคัญ นายชูศักดิ์ ศิรินิล จะตอบคำถามสื่อเป็นเรื่องเกมการเมือง ปกติวันพฤหัสบดี ซึ่งเป็นวันตั้งกะทู้ถาม สส.มาประชุมน้อยอยู่แล้ว เมื่อพรรคร่วมมากันน้อย จึงเป็นบทเรียนสำคัญ ต้องมีการปรับตัว ต่อไปรัฐมนตรีและสส.ของพรรครัฐบาล ต้องเอางานมาทำที่สภาในวันประชุมสภาด้วย

ท่ามกลางท่าทีกุลีกุจอของรัฐมนตรีใน ครม.ชุดใหม่ หลังเข้าเฝ้าถวายสัตย์ฯ แสดงท่าทีรีบร้อนจะไปเข้าประชุมสภาที่เกียกกาย แต่สุดท้ายไปไม่ทัน สภาฯ ล่มเสียก่อน

ทั้งที่รู้ดีอยู่แล้วว่า สส.ฝ่ายรัฐบาลขณะนี้ ตัวเลขเป็นทางการอยู่ที่ 256 เสียง ฝ่ายค้าน 239 เสียง มากกว่ากันเพียง 15-16 เสียง ขนาดนับรวมประธานในที่ประชุมที่ต้องวางตัวเป็นกลาง แต่ส่วนหนึ่งอาจเพราะไปเชื่อแกนนำรัฐบาลบางคน ที่อ้างมี สส.ในมือมากกว่าตัวเลขจริง รัฐบาลมีเสียงสนับสนุนมากถึง 270-280 เสียง ทำให้ สส.ส่วนหนึ่ง พลอยเชื่อและมโนไปด้วย

ทั้งที่บทบาทและหน้าที่หลักของ สส.ตามรัฐธรรมนูญ เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ใช่มีหน้าที่ไปเดินตามฝ่ายบริหาร หรือไปเป็นฝ่ายบริหารเสียเอง หรือถึงได้รับโอกาสแล้ว แทนที่จะลาออกจาก สส. แต่จะกลัวขาลอย พ้นจากรัฐมนตรีเมื่อไหร่ จะไม่มีตำแหน่ง สส.รองรับ หรือกลัวถูกมองว่าเส้นไม่ใหญ่จริง จึงไม่ลาออก

จึงเป็นที่มาของสภาล่มซ้ำแล้วซ้ำอีก แม้บางครั้ง อาจไม่ได้เกิดจาก สส.ขาดประชุม แต่ล่มเพราะไม่ยอมแสดงตนเป็นองค์ประชุม หรือตั้งใจไม่ให้ผ่าน เช่น ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ผู้ทรงเกียรติดูจะไม่อินังขังขอบ หรือยอมรับว่าเป็นความผิดของตนเอง จนเป็นเรื่องปกติไปแล้ว

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีแนวทางสาระพันหวังแก้ปัญหาสภาล่ม ตั้งแต่ติดรายชื่อประจาน ตัดเงินเดือน หรือจ่ายเป็นรายได้รายวันเฉพาะวันที่มา การคาดโทษ แจกใบเหลือง ใบแดง ให้พ้นจากสส. กระทั่งเสนอให้ยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. ไต่สวนว่า เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่ กระทั่งเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง หรือระทั่งเคยเสนอให้มอบรถปิกอัพให้กับ สส.ที่ไม่ขาดประชุม แต่โดน “ทัวร์ลง” เพราะเป็นหน้าที่ของ สส.อยู่แล้ว

แต่สาเหตุสำคัญ ที่ทำให้ สส.ไม่กลัวการโดดร่ม คือการเปิดช่องให้สามารถส่งหนังสือลาประชุมสภาได้ จึงกลายเป็นแนวทางปฏิบัติเรื่อยมา และระดับ สส.อาวุโส หัวหน้าพรรคใหญ่บางคน โดนแฉว่า แทบไม่เข้าร่วมประชุมสภาเลย ลงชื่อเสร็จก็เผ่นกลับบ้าน

จึงได้เห็นการฉกฉวยโอกาสของนักการเมือง หวังเอาเปรียบประชาชนที่ต้องจ่ายเงินเสียภาษี เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการจ่ายเงินเดือน เดือนละ 1.13 แสนบาท ไม่รวมสวัสดิการและสิทธิพิเศษต่าง ๆ ทั้งค่ารักษาพยาบาล ตั๋วเครื่องบิน ที่พัก เดินทางไปต่างประเทศท่องเที่ยวแต่อ้างว่าไปดูงาน รวมถึงเงินเดือนผู้ช่วยและผู้ชำนาญการประจำตัวถึง 8 คน

ยังไม่นับค่าอาหารฟรีในวันประชุมสภา มื้อละ 861 บาท มีพร้อม 3 มื้อ เช้า กลางวัน เย็น วันไหนประชุมสภาเลิกค่ำหรือดึก ตั้งแต่ 2 ทุ่มขึ้นไป จะมีมื้อดึกเพิ่มให้อีก สส.พรรคประชาชน อย่างน้อย 2-3 คน เคยเปิดเผยว่า ค่าอาหาร สส. ปกติอยู่ที่ประมาณ 5 แสนบาทต่อคน แต่ในวันประชุมเลิกดึก จะอยู่ที่ 7 แสนบาทต่อวัน

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีรายได้จากค่าเบี้ยประชุมกรรมาธิการ ซึ่งแต่ละคนจะเป็นได้ไม่เกิน 2 คณะ อีกทั้งวันประชุม จะเป็นวันเดียวกับประชุมสภาผู้แทนฯ ทำให้สัปดาห์หนึ่งๆ ทำหน้าที่ในสภาเพียง 2 วัน คือ การประชุมวันพุธและพฤหัสบดี

จึงจะได้เห็นภาพการเดินสาย ทั้งจากห้องประชุมใหญ่ ไปรับค่าเบี้ยประชุมกรรมาธิการของ สส. แทนที่จะใส่ใจทำหน้าที่ สส.ให้ดีมีคุณภาพ แต่มีคำถามมากมายว่า จะไปรับรู้สาระเรื่องต่าง ๆ ที่มีการประชุมกันอย่างครบถ้วนได้อย่างไร ในเมื่อต้องเดินสาย เข้าห้องประชุมใหญ่ และประชุมกรรมาธิการ

การกำชับให้รัฐมนตรี และ สส. ต้องเอางานไปทำที่สภาฯ ด้วยของนายชูศักดิ์ แม้ด้านหนึ่ง อาจจะยิ่งส่งผลให้ได้คุณภาพน้อยลงไปอีก เพราะต้องใช้เวลาเดินสาย ทั้งห้องประชุมใหญ่และกรรมาธิการแล้ว ยังต้องแบ่งเวลาสำหรับตรวจและเซ็นเอกสารงานของกระทรวงด้วย แต่อย่างน้อย อาจเป็นการกระตุ้นให้ท่านผู้ทรงเกียรติเหล่านี้ ได้ตระหนักในภาระหน้าที่ ที่อาสาเข้ามาทำงานให้ประชาชน

ที่สำคัญ หากหวังจะได้มรรคผลมากกว่านั้น ต้องใส่เรื่อง “จิตสำนึก” เข้าไปด้วย เพราะหากขาดจิตสำนึกแล้ว จะหอบงานเป็นคันรถไปทำที่สภา ก็อาจสูญเปล่า ไม่ได้ช่วยอะไรเลย

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส

อ่านข่าว : "สุชัชวีร์" ลาออก "ปชป." ยืนยันไม่ได้ขัดแย้ง ขอทำงานด้านศึกษา

"ชาญชัย" เข้าฟังไต่สวนคดีชั้น 14 ตั้งข้อสงสัยใบเสร็จรักษาตัว "ทักษิณ"

"ดร.เชษฐา" ชี้เลือกตั้งใหม่ "เพื่อไทย" ไม่เหมือนเดิม หมดอำนาจต่อรอง