ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เตือนคนไทย อย่าให้ต่างชาติ ใช้ชื่อเป็น "นอมินี" เสี่ยงโทษหนัก

การเมือง
13:20
113
เตือนคนไทย อย่าให้ต่างชาติ ใช้ชื่อเป็น "นอมินี" เสี่ยงโทษหนัก
เตือนคนไทย ยอมให้ต่างชาติ ใช้ชื่อเป็นนอมินี ระวังโทษทั้งจำและปรับ ถูกยึดทรัพย์สิน ล่าสุดศาลอาญาสั่งลงโทษบุคคลและนิติบุคคล 23 รายในพื้นที่ภูเก็ต พบพฤติกรรมลักษณะนอมินี

วันนี้ (7 ก.ค.2568) นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลย้ำเตือนประชาชนอย่าตกเป็นเหยื่อรู้เท่าไม่ถึงการ ถูกต่างชาติหลอกเข้าข่ายนอมินีมีความผิดตามกฎหมาย ซึ่งจากสถิติกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบในแต่ละปีกรมฯ ได้ตรวจสอบธุรกิจที่เข้าข่ายมีความเสี่ยงเป็นนอมินีตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 เน้นการติดตามกรณีคนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าวหรือสนับสนุนการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ในธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง อาทิ ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ต อสังหาริมทรัพย์ และโลจิสติกส์ โดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยวของไทย เช่น ภูเก็ต ชลบุรี กรุงเทพมหานคร และเชียงใหม่

นายอนุกูล กล่าวว่า ล่าสุดศาลอาญามีคำพิพากษาตัดสินให้บุคคลและ นิติบุคคล 23 ราย มีพฤติกรรมในลักษณะนอมินี ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต มีความผิดต้องรับโทษทางกฎหมายปรับรายละ 200,000 บาท รอการลงโทษจำคุก 2 ปี โดยให้คุมความประพฤติ 1 ปี และสั่งให้จดทะเบียนเลิกบริษัท จึงขอเตือนคนไทยที่มีพฤติกรรมเอื้อให้ คนต่างชาติเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายให้ยุติการกระทำดังกล่าวโดยด่วน เพราะเป็นการกระทำที่มีความผิด มีโทษตามกฎหมายทั้งปรับและจำคุก รวมถึงยึดทรัพย์สิน

อย่าตกเป็น "นอมินี" เสี่ยงคุก-ปรับ-ยึดทรัพย์

สำหรับความผิดของผู้ที่ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าว เพื่อให้คนต่างด้าวสามารถประกอบธุรกิจ มีบทลงโทษดังนี้

1. โทษจำคุก ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้นอมินีอาจถูกจำคุกได้สูงสุดถึง 3 ปี

2. โทษปรับ นอกจากโทษจำคุกแล้ว ยังมีโทษปรับตั้งแต่ 100,000-1,000,000 บาท และหากฝ่าฝืนคำสั่งศาลก็อาจมีการปรับเพิ่มเติมอีกวันละ 10,000-50,000 บาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน

3. การถูกยึดทรัพย์สินหรือหุ้นที่ถูกถือครองโดยนอมินีอาจถูกยึดได้ตามกฎหมาย หากพบว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด

4. การยกเลิกใบอนุญาตประกอบธุรกิจที่ใช้นอมินีในการดำเนินการอาจถูกยกเลิกใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ซึ่งส่งผลให้บริษัทไม่สามารถดำเนินกิจการในประเทศไทยได้อีกต่อไป

ธุรกิจอำพรางประเภทต่างๆ ของคนต่างด้าว มักพยายามเลี่ยงข้อกฎหมายโดยใช้คนไทยเป็นตัวแทน (นอมินี) โดยที่ไม่ได้มีการลงทุน หรือประกอบธุรกิจจริง ซึ่งส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ และผู้ประกอบการในประเทศ เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เกิดความไม่โปร่งใสในการประกอบธุรกิจ และอาจเป็นต้นตอของการใช้ประเทศไทยเป็นแหล่งฟอกเงิน ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ประเทศในการลงทุนและประกอบธุรกิจ

นอมินี คืออะไร แบบไหนคือนอมินี

นอมินี (Nominee) คือ "ตัวแทน" ที่ถูกตั้งชื่อไว้ในนาม แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของผลประโยชน์ที่แท้จริง เช่น การให้บุคคลอื่นถือหุ้นแทน หรือเป็นกรรมการในนาม เพื่อปิดบังเจ้าของที่แท้จริง ซึ่งหากมีเจตนาแฝงเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย อาจเข้าข่าย ผิดกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว หรือฟอกเงิน ได้

กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) แนะนำหลักเกณฑ์การพิจารณารูปแบบของนอมินีประเภทต่างๆ ดังนี้

1.กลุ่มที่ปลอมเอกสารราชการ : มีการปลอมเอกสารราชการ บัตรประชาชน

2.กลุ่มที่นำบุคคลใกล้ชิด ซึ่งเป็นคนไทย มาเป็นกรรมการฯ หรือ ผู้ถือหุ้น : เป็นการนำกลุ่มคนใกล้ชิด เช่น คนขับรถ, พนักงานในบริษัท ที่เป็นคนไทย ที่ไม่มีความสามารถในการประกอบกิจการ มาจดทะเบียนเป็นกรรมการฯ หรือ ผู้ถือหุ้น โดยที่อำนาจการบริหารเป็นของกลุ่มคนต่างด้าวทั้งสิ้น

3.กลุ่มนอมินีในมิติทุน : เงินที่นำมาลงทุน หรือ ประกอบธุรกิจไม่ใช่เงินของผู้ถือหุ้นจริงๆ แต่กลับเป็นเงินของคนต่างด้าว

4.กลุ่มนอมินีในเชิงกฎหมาย : หุ้นบุริมสิทธิ

อ่านข่าว : “วิสุทธิ์” ชี้ “พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯ” ถอนก็เสี่ยง ไม่ถอนก็พัง

สำรวจพบ "แม่ลูกพะยูน - โลมาหลังโหนก" โชว์ตัวเกาะลิดี

คดีสูญหาย (พริก) "กะเหรี่ยง" ชำแหละวิถีคน "หนองหญ้าปล้อง"