วันนี้ (8 ก.ค.2568) ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้หญิงที่สมรสกับชายและได้รับอนุญาตให้ใช้นามสกุลของสามีต้องกลับไปใช้นามสกุลเดิมของตนเมื่อมีการหย่าร้าง ไม่เข้าข่ายเป็นการจำกัดเสรีภาพ ขัดหรือแย้งต่อหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 วรรคสอง และมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 วินิจฉัยว่ามาตรา 13 วรรคหนึ่งดังกล่าว ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม
ทั้งนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย จำนวน 1 คน คือ นายอุดม รัฐอมฤต ที่เห็นว่า มาตรา 13 วรรคหนึ่ง ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม ซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิในความเสมอภาค และการปกป้องจากการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม
การวินิจฉัยครั้งนี้ สืบเนื่องจากคำร้องที่ศาลจังหวัดธัญบุรี ส่งมายังศาลรัฐธรรมนูญ ภายหลัง นางแสงศรี จิยะจันทน์ จำเลยในคดีหมายเลขดำที่ พ.1240/2567 ได้ยื่นคำโต้แย้งว่า มาตรา 13 วรรคหนึ่ง ของ พ.ร.บ.ชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้หญิง ที่จดทะเบียนสมรสกับชายแล้วได้รับอนุญาตให้ใช้นามสกุลของสามี เมื่อหย่าจากสามีต้องกลับไปใช้นามสกุลเดิมของตน เป็นการจำกัดเสรีภาพของฝ่ายหญิง ขัดหรือแย้งต่อหลักความเสมอภาคของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 หรือไม่
อ่านข่าว : อดีตผู้ว่า ธปท.ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง รมว.คลัง
TDRI วิเคราะห์ผลกระทบภาษีสหรัฐฯ 36% เปิดเกมต่อรองไทยต้องแลกอะไร?