อาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมรายย่อย กำลังได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมนม โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีเกษตรกรหลายรายที่ต้องเลิกเลี้ยงเพราะขาดทุน ล่าสุดต้องพบกับภาวะนมล้นตลาด และการเข้านมผงเสรี ขณะที่ภาครัฐเตรียมปรับลดราคาน้ำนมดิบกิโลกรัมละเกือบ 1 บาท

แม้จะเป็นอาชีพที่อยู่บนความเสี่ยง เพราะไม่สามารถแข่งขัน ทั้งด้านคุณภาพและต้นทุนการผลิตกับประเทศผู้ส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นม อย่างออสเตรเลีย จากนิวซีแลนด์ ดังนั้นหากจะสรุปสถานการณ์ของอาชีพนี้ จากช่วงเตรียมตัวหรือเผาหลอก 20 ปีที่ผ่านมา กำลังเข้าสู่ช่วงเผาจริงของอาชีพเลี้ยงโคนม
นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2568 ที่ผ่านมา สินค้านมและผลิตภัณฑ์ ที่นำเข้าจากออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จะถูกลดภาษีนำเข้าเป็น 0 % รวมทั้งยกเลิกมาตรการที่ปกป้องการซื้อขายนมดิบของเกษตรกร ซึ่งเป็นผลจากความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ทำให้เกษตรกรกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อการซื้อขายน้ำนมดิบในประเทศ เพราะนมผงนำเข้าจาก 2 ประเทศนี้ มีราคาถูกกว่า

จากอาชีพที่มั่นคงกลายเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยง แต่สำหรับหลายครอบครัว อาชีพนี้กลับมีความสำคัญยิ่ง และอยากรักษาไว้ให้นานที่สุด อย่างที่ จ.ลพบุรี มีคุณแม่คนหนึ่งที่สามารถลาออกจากงานมาดูแลลูกได้อย่างเต็มที่ มีเวลาให้ลูก แต่ก็ยังมีรายได้จากการเลี้ยงโคนม
กว่า 5 ปีแล้วที่ ศิริลักษณ์ แป้นแก้ว หรือ แม่เจี๊ยบ ชาว อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ตัดสินใจลาออกจากงานประจำ เพื่อมาดูแลลูกทั้ง 2 คน

เธอบอกว่า แม้จะให้ความสำคัญกับการดูแลลูก แต่การหารายได้ก็จำเป็นเช่นกัน จึงตัดสินใจเริ่มเลี้ยงโคนมก่อน เมื่อฟาร์มเล็ก ๆ เริ่มมีรายได้ การลาออกจากงานประจำจึงไม่กระทบต่อรายรับรายจ่ายในครอบครัว
ที่ต้องปรับตัวคือต้องตื่นเช้ามากขึ้น จัดการงานในฟาร์ม รีดน้ำนมเสร็จ จากนั้นก็ให้เวลากับลูกๆ เต็มที่ สังคมสมัยนี้ครอบครัวต้องอบอุ่น เราต้องมีเวลาให้ลูกมากที่สุด
ลูกชายคนโตของแม่เจี๊ยบคือ ด.ช.ธรรมวัฒน์ สันตะ นักเรียน รร.เพ็ญพัฒนา จ.ลพบุรี หรือ น้องมาเฟีย อายุ 9 ขวบ ที่ทุกวันหยุดจะต้องไปฝึกซ้อมฟุตบอลกับสโมสรพัฒนานิคม ซิตี้ แม่เจี๊ยบจึงให้ความสำคัญกับสุขภาพ ให้ลูกดื่มนม พร้อมกับสอนให้เด็ก ๆ เห็นคุณค่าของนมโรงเรียน และอาชีพเลี้ยงโคนม
น้องมาเฟียบอกว่า น้ำนมโคสดที่คุณแม่รีด จะถูกส่งไปที่สหกรณ์โคนม จากนั้นจะถูกนำไปผลิตนมโรงเรียน ทุกครั้งที่ครูแจกนมโรงเรียนให้ เขาจะตั้งใจกินให้หมด เพราะรู้ดีว่านอกจากสุขภาพจะแข็งแรงแล้ว ยังทำให้แม่มีอาชีพมีรายได้

อาชีพเลี้ยงโคนมกำลังได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมนม การนำเข้านมผงเสรี ทำให้เกษตรกรต้องปรับตัว เน้นผลิตนมโคสดคุณภาพสูง แต่ก็ต้องพยายามลดต้นทุน การอยู่รอดของเกษตรกรรายย่อยที่มีโคนมไม่เกิน 20 แม่รีด จึงต้องอาศัยความช่วยเหลือจากสหกรณ์โคนม และภาครัฐ
ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในประเทศไทย 16,000 ราย ในช่วงปี 2564-2566 เป็นช่วงที่มีเกษตรกรหลายรายเลิกเลี้ยงโคนมจำนวนมาก เพราะต้นทุนอาหารสัตว์เพิ่มสูง โคป่วยด้วยโรคระบาด ทำให้น้ำนมดิบขาดตลาด แต่หลังจากมีการปรับราคาน้ำนมดิบ แก้ปัญหาโรคระบาดสัตว์ ปีนี้เกษตรกรสามารถผลิตน้ำนมดิบได้เพิ่มมากขึ้น เข้าสู่สถานการณ์นมล้นตลาด ซึ่งหลายภาคส่วนได้พยายามแก้ปัญหานี้ เพื่อให้เกษตรกรยังสามารถทำอาชีพนี้ต่อได้
ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2568 กรณีเพจเฟซบุ๊กสมาคมโคนมก้าวหน้า ระบุว่า เมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา มีการประชุม คณะอนุกรรมการด้านต้นทุนการผลิตซึ่งมีมติ เสนอให้ปรับลดราคาน้ำนมดิบลง 80 สตางค์ต่อกิโลกรัม โดยมตินี้จะถูกนำเสนอต่อ คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม หรือมิลค์บอร์ด เพื่อพิจารณา

ส่วนเฟซบุ๊กของ นาย สมพงษ์ ภูพานเพชร ประธานชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด ก็ระบุว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการต้นทุนและราคาน้ำนมดิบ ได้มีมติเพื่อเสนอต่อ คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม หรือ มิลค์บอร์ดเพื่อพิจารณาต่อไปดังนี้
1.ราคาน้ำนมดิบหน้าศูนย์ = 20.32 บาทต่อกิโลกรัม ลดลงจาก 21.25 บาท ต่อกิโลกรัม หรือลดลง 93 สตางค์
2.ราคาน้ำนมดิบหน้าโรงงาน =21.95 บาท ต่อกิโลกรัม ลดลงจาก 22.75 บาทต่อกิโลกรัม หรือ 80 สตางค์
การเตรียมปรับลดราคาน้ำนมดิบครั้งนี้ สร้างความกังวลใจให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมทั่วประเทศ ซึ่งต่างสะท้อนปัญหาว่า แม้ราคาอาหารสัตว์จะปรับลดลง แต่ต้นทุนการเลี้ยงโคนมอย่างอื่น ๆ รวมทั้งค่าครองชีพปรับเพิ่มขึ้น เกษตรกรได้กำไรน้อยอยู่แล้ว แต่ต้องพยายามประคับประคองฟาร์มให้อยู่รอด
รายงาน : พลอยไพฑูรย์ ธุระพันธุ์ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคอีสาน
อ่านข่าว : “กรมส่งเสริมสหกรณ์” ชี้แจง ทำไมวิทยาลัยเกษตรฯ ชวดโควตานมโรงเรียน
วิทยาลัยเกษตรฯ ชวดโควตานมโรงเรียน 2 ปีซ้อน
ย้อนรอยนมโรงเรียน 33 ปี ชิงสิทธิ งบฯ หมื่นล้าน
“สหกรณ์หนองโพฯ” ซื้อนมล้นช่วยเกษตรกร แต่โควตานมโรงเรียนลด