จากข้อมูลของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) พบว่า ทั่วโลกมีอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายเป็นอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รับชัน 52 % ที่เหลือเป็นอาชญากรรมเกี่ยวกับ อาวุธปืน 6 % ยาเสพติด 14 % การฉ้อโกง 13 % อาชญากรรมอื่น ๆ 5 % รวมความสูญเสียจากอาชญากรรมสัตว์ป่าและป่าไม้ของประเทศไทย 91–114 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อปี เท่ากับประมาณ 3,276–4,104 ล้านบาทต่อปี


ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงได้จัดตั้ง “ศูนย์ข่าวกรองอาชญากรรมสัตว์ป่า (Wildlife Crime Intelligence Center: WCC)” ขึ้นในปี 2566 เพื่อเป็นกลไกกลางในการบูรณาการข้อมูลข่าวกรองด้านสัตว์ป่า เชื่อมโยงหน่วยงานด้านการข่าว การบังคับใช้กฎหมาย และความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยยึดโยงกับคณะกรรมการเครือข่าย Thailand-WEN ซึ่งเป็นกลไกสำคัญระดับชาติที่จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2550 เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์การบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการค้าสัตว์ป่าระหว่างประเทศ และอนุสัญญา CITES
ประกอบกับเมื่อคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 ต.ค.2566 นายกรัฐมนตรีเสนอว่า ได้รับข้อร้องเรียนว่า มีกลุ่มบุคคลได้กระทำความผิดกฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยการล่าและการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายในพื้นที่ตามแนวชายแดนไทยมาเลเซียอยู่บ่อยครั้ง

ดังนั้นเพื่อเป็นการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยรวมทั้งป้องกันปัญหาการรุกล้ำเขตแดงของต่างประเทศ จึงมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับกระทรวงกลาโหม กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ เพื่อติดตามดูแลและแก้ไขปัญหาการกระทำผิดโดยด่วน
ทั้งนี้ให้บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องเรื่องนี้อย่างเคร่งครัด รวมทั้งให้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานของประเทศเพื่อนบ้านด้วย ซึ่งคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว ลงมติเห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอ
เพื่อรองรับมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดย ศูนย์ข่าวกรองอาชญากรรมสัตว์ป่า (WCC) จึงร่วมมือกับคณะกรรมการเครือข่าย Thailand-WEN และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำ “แผนปฏิบัติการต่อต้านการล่าและการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายตามแนวชายแดน พ.ศ. 2567–2571” ขึ้น

เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ในการ:ป้องกันการลักลอบล่าสัตว์และการค้า ยกระดับกลไกข่าวกรองและการสืบสวน เสริมสร้างความร่วมมือในระดับท้องถิ่น ประเทศ มีวิสัยทัศน์มุ่งหวัง “ป้องกันและปราบปรามการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าให้หมดไป ภายใต้ความเข้มแข็งของเครือข่ายการบังคับใช้กฎหมายของประเทศไทย”
แผนปฏิบัติการนี้ประกอบด้วย 6 มาตรการหลัก ได้แก่
1.การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นร่วมกันในพื้นที่เสี่ยง
2.การพัฒนาศักยภาพบุคลากร
3.การสร้างเครือข่ายชุมชนชายแดนให้เป็นหูเป็นตา
4.การให้ความรู้และสร้างจิตสำนึกแก่เยาวชน
5.การขยายความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน
6.การใช้เทคโนโลยีและฐานข้อมูลเพื่อพยากรณ์และติดตามขบวนการค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ


ปัจจุบัน (พ.ค.2568) อยู่ระหว่างการนำเสนอแผนฯ ต่อคณะรัฐมนตรีรับทราบ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นกรอบในการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะการจัดตั้ง คณะทำงานบังคับใช้กฎหมายอาชญากรรมด้านสัตว์ป่าและพืชป่า (Thai Wildlife Taskforce) ภายใต้แผนปฏิบัติการนี้ แม้ยังไม่ได้จัดตั้งอย่างเป็นทางการ แต่ก็ได้มีการบูรณาการการปฏิบัติงานของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
มีผลการดำเนินคดีที่โดดเด่นหลายคดี เช่น การจับกุมเครือข่ายชาวเวียดนามเข้ามาทำไม้กฤษณาบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวและห้วยขาแข้ง การทลายเครือข่ายค้าลิงแสมข้ามชาติที่มีนายทุนเป้นผู้ต้องหาชาวกัมพูชา การสกัดจับแก๊งค้าลีเมอร์ - เครือข่ายเต่าดาวจากมาดากัสการ์ ยึดของได้หลายพันชิ้น การจับกุมชาวอินเดีย 6 คน ฐานลักลอบขน “แพนด้าแดง” และสัตว์ป่ารวม 87 ตัว ที่สนามบินสุวรรณภูมิ การจับกุมเครือข่ายไม้พะยูงและเครือข่ายไม้มีค่าที่มีนายทุนชาวจีนอยู่เบื่องหลัง เป็นต้น


แผนปฏิบัติการนี้จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนการอนุรักษ์สัตว์ป่าและปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ เช่น CITES และ SDGs อย่างเป็นรูปธรรมในอนาคตอันใกล้ การดำเนินงานของ ดังกล่าว กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช WCC และ Thailand-WEN จะเป็นแม่ข่ายสำคัญที่ยกระดับประเทศไทยจากผู้รับมือ มาเป็น “ผู้นำ” ในการขับเคลื่อนแนวทางป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมด้านสัตว์ป่าในภูมิภาคอย่างยั่งยืน ด้วยหลักการ “Network Beat Network” นั่นคือการใช้เครือข่ายผู้บังคับใช้กฎหมายเอาชนะเครือข่ายอาชญากรที่ทำการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมายนั่นเอง
เรียบเรียง : อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
อ่านข่าว : “ธรรมศาสตร์” อบรมผลิตสื่อเสียงบรรยายภาพ (AD) ส่งเสริม "คนพิการทางสายตา" เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร
เตือน 16 จังหวัดเหนือ-อีสาน เฝ้าระวังน้ำท่วม-ดินถล่ม ถึง 13 ก.ค.นี้
“เหนือ-ตะวันออก” ฝนตกหนัก มรสุมที่ปกคลุมอันดามัน-อ่าวไทย จะเริ่มแรงขึ้น