วันนี้ ( 21 ก.ค. 2568) เว็บไซต์ “ฮั่วเซ่งเฮง” ทองโลกปรับตัวขึ้นในสัปดาห์ก่อน จากการที่หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทมส์ (Financial Times) รายงานโดยอ้างแหล่งข่าว ระบุว่า ปธน.ทรัมป์กำลังเรียกร้องให้มีการกำหนดภาษีศุลกากร “ขั้นต่ำ” ต่อสหภาพยุโรป (EU) ในอัตรา 15%-20% จากเดิมที่ทรัมป์เคยขู่ว่าจะเก็บภาษีในอัตราสูงถึง 30%
ส่งผลให้ EU กำลังพิจารณาเตรียมมาตรการภาษีศุลกากรที่จะเรียกเก็บจากสินค้ามูลค่า 84,000 ล้านดอลลาร์ กับสหรัฐฯ เนื่องจากในช่วงต้นเดือนนี้ EU กำลังเพิ่มความพยายามในบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯ และยื่นข้อเสนอว่า “การถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าที่ 10% เป็นสิ่งที่สามารถยอมรับได้”
อย่างไรก็ตาม ทางฝั่งจีนออกมายืนยันอย่างชัดเจนว่าการเจรจาระดับสูงที่ผ่านมากับสหรัฐฯ ได้ส่งสัญญาณเชิงบวก โดยไม่จำเป็นต้องย้อนกลับไปสู่สงครามภาษีอีก ซึ่งทางข้อมูลจากกรมศุลกากรจีนชี้ว่า ในเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา จีนส่งออกแร่หายาก (Rare Earths) เพิ่มขึ้นถึง 32% จากเดือนก่อนหน้า และทางบริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่อย่างเอ็นวิเดีย ซึ่งเป็นผู้นำด้านการผลิตชิป AI ได้ประกาศว่า จะกลับมาจำหน่ายชิป H20 “รุ่นเฉพาะประเทศจีน” ให้กับจีนอีกครั้ง ทางด้านกองทุนฯ SPDR ขายทอง 4.01 ตันในสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมสุทธิ 943.63 ตัน

ราคาทองตลาดโลกแนวรับ : 3,330 และ 3,311 ดอลลาร์แนวต้าน : 3,380 และ 3,400 ดอลลาร์ราคาทองโลกอยู่ในระยะ Sideway Up แนะนำใช้กลยุทธ์รอเข้าซื้อสะสมจากแนวรับที่ระดับ 3,330 ดอลลาร์ และขายทำกำไรหากราคาขึ้นทดสอบแนวต้านที่ 3,380 ดอลลาร์ แต่หากราคาหลุดแนวรับที่ 3,311 ดอลลาร์ แนะนำขายตัดขาดทุน
ราคาทองคำแท่ง 96.5%แนวรับ : 51,300 และ 51,100 บาทแนวต้าน : 51,700 และ 51,900 บาทราคาทองในประเทศยังคงแกว่งตัวในกรอบแคบ จึงแนะนำรอเข้าซื้อสะสมแนวรับที่ระดับ 51,300 บาท และขายทำกำไรหากราคาทดสอบแนวต้านที่ 51,700 บาท แต่หากราคาหลุดแนวรับที่ 51,100 บาทลงไป แนะนำขายตัดขาดทุน

ราคาทองคำ เปิดตลาด เช้านี้ บวก 50บาท (ครั้งที่ 2) ส่งผลให้ราคาทองคำแท่งขายออกบาทละ 51,450 บาท และราคาทองคำแท่งรับซื้อบาทละ 51,350 บาท ราคาทองรูปพรรณขายออกบาทละ 52,250 บาท และราคาทองรูปพรรณรับซื้อบาทละ 50,316.04 บาท ราคาทองคำตลาดโลก (Gold Spot) อยู่ที่ 3,353.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ อัตราแลกเปลี่ยนที่ระดับ 32.42 บาทต่อดอลลาร์
ราคาทองรูปพรรณรวมค่ากำเหน็จ 800 บาท มีราคาดังนี้ ทองครึ่งสลึง ราคาขาย 7,231บาท ทอง 1 สลึง ราคาขาย 13,663 บาท ทอง 2 สลึง/50 สตางค์ ราคาขาย 26,525บาท และทอง 1 บาท ราคาขาย 52,250 บาท ทองคำหนัก 2 บาท ขายออก 104,500 บาท ทองคำหนัก 5 บาท ขาย 261,250 บาท ภาพรวมราคาทองปี 2568 บวก 9,050 บาท เดือนม.ค. ทองคำบวก 2,050 เดือนก.พ. บวก 1,850 เดือน มี.ค. บวก 3,750 บาท, เดือนเม.ย. บวก 1,950 บาท เดือน พ.ค. ลบ 750 บาท เดือน มิ.ย. ลบ 550 บาท เดือนก.ค. บวก 850

ด้านกลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.10-32.75 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 32.39 บาท/ดอลลาร์ หลังแกว่งตัวแคบๆในกรอบ 32.36-32.57 บาท/ดอลลาร์
ขณะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญ แม้ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือนมิถุนายนของสหรัฐฯออกมาต่ำกว่าคาดเล็กน้อย แต่ผู้ร่วมตลาดเลือกที่จะสนใจข้อบ่งชี้ที่ว่าอัตราภาษีศุลกากรที่สูงขึ้นกำลังเริ่มส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าซึ่งสนับสนุนท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)ว่าจะยังคงไม่รีบกลับมาลดดอกเบี้ยในอนาคตอันใกล้

นอกจากนี้ ตลาดการเงินปรับตัวผันผวนตามกระแสข่าวที่ว่าประธานาธิบดีทรัมป์วางแผนจะปลดประธานเฟดออกจากตำแหน่งแต่ทรัมป์ได้ปฏิเสธในเวลาต่อมา ทางด้านเงินเยนแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 3 เดือนครึ่งก่อนการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกของญี่ปุ่นซึ่งคาดว่าพรรคฝ่ายรัฐบาลจะเสียเสียงข้างมากและการทำข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯอาจยากขึ้น ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นไทย 4,595 ล้านบาท แต่มียอดขายพันธบัตรสุทธิ 626 ล้านบาท
สำหรับในสัปดาห์นี้ ข่าวที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาการค้าจะยังเป็นปัจจัยชี้นำสำคัญ ในขณะเดียวกันเราตั้งข้อสังเกตว่าหากนักลงทุนกังวลมากขึ้นต่อความเป็นอิสระของเฟด ความน่าเชื่อถือด้านนโยบายจะถูกกระทบในวงกว้าง สถานการณ์เช่นนี้เพิ่มความไม่แน่นอนให้กับตลาดการเงิน
โดยความเสี่ยงที่เฟดจะถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองจะจำกัดการฟื้นตัวของเงินดอลลาร์ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯสุ่มเสี่ยงจะเผชิญความเสียหายในระยะยาวและจะส่งผลให้เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield Curve) สหรัฐฯชันขึ้นกรณีที่ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับการพยายามควบคุมอัตราเงินเฟ้อของเฟดถูกสั่นคลอน นอกจากนี้ ตลาดจะติดตามการประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ซึ่งคาดว่าจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 2.00% ในวันที่ 24 กรกฎาคม
สำหรับปัจจัยในประเทศ แม้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นในเดือนกรกฎาคม และเศรษฐกิจไทยเผชิญมรสุมหลายด้าน แต่เงินบาทกลับแข็งค่าสวนทางสกุลเงินส่วนใหญ่ในกลุ่มตลาดกำลังพัฒนา ขณะที่ราคาทองคำซึ่งได้รับอานิสงส์จากความเสี่ยงต่างๆ อาทิ กรณีเฟดอาจถูกคุกคาม ยังคงมีอิทธิพลต่อค่าเงินบาทในระยะสั้น อย่างไรก็ดี ต้องติดตามแนวทางเจรจาการค้าต่อไป อนึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคาดว่าสหรัฐฯจะลดอัตราภาษีศุลกากรกับไทยจาก 36% เป็นไม่เกิน 20% เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆในภูมิภาค โดยระบุว่าไทยปรับปรุงข้อเสนออย่างมากในการหารือรอบล่าสุด
อ่านข่าว:
สรุปราคาทองคำ 14 ก.ค.2568 ปิดตลาด ผันผวน 8 ครั้ง บวก 200 บาท
ราคา “ทองคำ” ฟื้นตัวระยะสั้น ครึ่งเช้าบวก 250 บาท
"จตุพร" สู้ภาษีทรัมป์ 36 % ภารกิจท้าทาย "พ่อบ้าน" พาณิชย์