ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ค่ายมวย "ลูกพระยม" ทางเลือกผู้ต้องขัง สู่ นักค้ากำปั้นมืออาชีพ

อาชญากรรม
17:24
101
ค่ายมวย "ลูกพระยม" ทางเลือกผู้ต้องขัง สู่ นักค้ากำปั้นมืออาชีพ

เมื่อ 18 ปีที่แล้ว "แซมซั่น ส.ศิริพร" เป็น "นักมวยหญิง" คนแรกที่คว้า "แชมป์โลกมวยสากลอาชีพ" มาครอง หากย้อนเส้นทางก่อนจะเข้าสู่สังเวียนนักชกมืออาชีพ แซมซั่น หรือ "ส้ม" ศิริพร ทวีสุข เคยเดินก้าวพลาด ทำให้ถูกกักขังอยู่ในทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิง ต่อมาสถานที่แห่งนี้ ได้เปิดโอกาสให้เธอได้รับฝึกซ้อมกีฬามวย จนสามารถพลิกชะตาชีวิต กลายเป็นสุดยอดมวยหญิงในยุคนั้น

แซมซั่น ส.ศิริพร สร้างผลงานทุกครั้งเมื่อขึ้นชกเป็นเครื่องหมายการันตีคุณภาพ จนกรมราชทัณฑ์อนุญาตให้พักโทษ ออกมาใช้ชีวิตนอกเรือนจำ โลดแล่นอยู่ในสังเวียนผืนผ้าใบในวงการมวย ทำสถิติชกชนะ 39 ครั้ง ชนะน็อค 21 ครั้ง, ชนะคะแนน 18 ครั้ง, แพ้ 4 ครั้ง โดยแพ้คะแนน 4 ครั้ง เคยได้รับรางวัลเกียรติยศบุคคลในวงการกีฬามวยแห่งชาติ และนักมวยสากลอาชีพหญิงยอดเยี่ยม หลังแขวนนวม "แซมซั่น" ในวัย 42 ปี ได้ไปใช้ชีวิตเป็นเทรนเนอร์ หรือ "ครูมวย" อยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น

แซมซั่น ส.ศิริพร สุดยอดนักชกหญิง ในอดีต

"แซมซั่น ส.ศิริพร" สุดยอดนักชกหญิง ในอดีต

"แซมซั่น ส.ศิริพร" สุดยอดนักชกหญิง ในอดีต

นักมวยมีชื่อที่แจ้งเกิดจากเรือนจำ ไม่ได้มีเพียง "แซมซั่น ส.ศิริพร" แต่ยังมี "อำนาจ รื่นเริง" อดีตผู้ต้องขังอีกคนหนึ่งที่ได้รับโอกาสฝึกวิชาชีพ โดยเลือกฝึกซ้อมมวยอยู่ในเรือน จำกลางชลบุรี ได้เข้าลงนวมแข่งกีฬาแดนสามัคคีเกมส์ที่ทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง ชกชนะได้เหรียญทอง ทำให้สโมสรราชทัณฑ์ส่งไปแข่งขัยกระทั่งติดทีมชาติไทย

และเป็นนักชกโอลิมปิกเข้ารอบ 8 คนสุดท้าย "อำนาจ" ไม่ใช่นักมวยในรูปแบบเดินหน้าเข้าปะทะแต่ชกแบบจังหวะฝีมือ สามารถในการต่อยมวยไทยและมวยสากลสมัครเล่น ปัจจุบัน แขวนนวมแล้วเช่นกัน

หากนับจาก 2 ยอดนักมวยดังในอดีตแล้ว กรมราชทัณฑ์ได้ว่างเว้นจากการจัดให้มีการแข่งขันกีฬาแดนสามัคคีเกมส์ นานกว่า 10 ปี และต้นเดือนก.พ.2568 สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้มีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ "ก้องศักด ยอดมณี" ผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) มีนโยบายสนับสนุนด้านการกีฬาให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำและทัณฑสถาน เพื่อพัฒนาด้านทักษะอาชีพและกีฬาให้ผู้ต้องขังหลายประเภท เช่น ฟุตซอล เซปักตะกร้อ วอลเลย์บอล มวยไทยและมวยสากล

โดยกรมราชทัณฑ์ได้ทำการเปิดค่ายมวย "ลูกพระยม" ใน 18 เรือนจำทั่วประเทศ เป็นเรือนจำชาย 17 แห่งและเรือนจำหญิง 1 แห่ง มีการจ้างครูมวย หรือ "เทรนเนอร์" เข้ามาฝึกสอนในแดนกีฬา ทั้งนี้เพื่อให้ผู้พ้นโทษออกไปแล้วสามารถต่อยอดมีอาชีพทำกิน ถือเป็นการให้โอกาสผู้ที่เคยกระทำความผิด และคืนคนดีกลับสู่สังคม

ปัจจุบันมีผู้ต้องขังที่สมัครเป็นนักมวยเข้าร่วมโครงการจำนวน 884 คน มี เรือนจำ 5 แห่ง ที่เปิดสอนทั้งมวยไทยและมวยสากล เช่น ค่ายมวย "ลูกพระยมวัยหนุ่มอโยธยา" ทัณฑสถานวัยหนุ่มพระนครศรีอยุธยา ,ค่ายมวยเกียรติดาวทอง ลูกพระยม เรือนจำกลางขอนแก่น , ลูกพระยมทูบีฯ มวยไทยยิมส์ เรือนจำกลางพิษณุโลก , ค่ายมวยท.บำบัดเกาะแต้ว ลูกพระยม ทัณฑสถานบำบัดพิเศษสงขลา

นอกจากนี้ ยังมีการเปิดสอนมวยไชยยาให้กับผู้ต้องขังที่ ค่ายมวย ส.วังชมพู ลูกพระยมที่เรือนจำ อ.ไชยยาด้วย ส่วนเรือนจำที่เหลือจะเปิดสอนมวยไทย ไม่ว่าจะเป็น ค่ายมวย "ส.ลูกพระยม ตาก" เรือนจำกลางตาก หรือค่ายมวย "เพชรระนอง ส.ลูกพระยม" หรือ มวยไทยจดทะเบียน "ค่ายพยัคฆ์เมืองนรา ลูกพระยม" เรือนจำนราธิวาส , ค่ายมวย ส.สมุย ลูกพระยม และค่ายมวยหญิง "ศ.ชลนรี ลูกพระยม" เรือนจำหญิงชลบุรี ซึ่งขณะนี้ผู้ต้องหญิงสมัครเป็นนักกีฬามวยจำนวน 30 คน

ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ ระบุว่า เหตุที่ใช้ชื่อ "ลูกพระยม" เป็นชื่อค่าย เนื่องจากพระยมเป็นเทพเจ้าแห่งยมโลกและเป็นผู้ควบคุมผู้กระทำผิด  หน้าที่ราชทัณฑ์ เป็นผู้มีอำนาจลงโทษมนุษย์ เมื่อตายไปแล้ว สัญลักษณ์ คือ พระหัตถ์ขวาถือขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือกงจักร ประทับบนหลังราชสีห์ และตราพระยมทรงสิงห์เริ่มใช้มาตั้งแต่ สมัยพระสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา กำหนดให้เป็นตราพญายมราชและในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการสร้างตราพระยมทรงสิงห์ด้วยทองคำใช้เป็นตราประจำตำแหน่งกรมพระนครบาลพระราชทานแก่เจ้าพระยายมราช

ต่อมาใช้เป็นตราประจำตำแหน่งกรมพระนครบาล ซึ่งกรมราชทัณฑ์หรือกรมนักโทษเป็นหน่วยงานในสังกัด และเมื่อปี 2542 กรมราชทัณฑ์ได้แจ้งสำนักนายกรัฐมนตรีประกาศใช้ตราพระยมทรงสิงห์เป็นเครื่องหมายของกรมราชทัณฑ์เป็นต้นมา

สำหรับนักชกในสังกัดค่าย "ลูกพระยม" ได้มีการขึ้นชกจริงนำร่องไปแล้วหลายแมตช์ เมื่อเร็วๆนี้ เป็นนักชกจากเรือนจำสมุย 3 คน ทั้งคนไทยและต่างชาติ คือ ลมใต้ ศ.สมุย ลูกพระยม, มัตเตโอ ศ.สมุย ลูกพระยม(อิตาลี) และจิมมี่ ศ.สมุย ลูกพระยม (ออสเตรเลีย) ทั้งหมดเป็นผู้ต้องราชทัณฑ์ที่มีประพฤติดี

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า การเปิดเรือนจำกีฬา และค่ายมวย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ฝึกความอดทน ความมีระเบียบวินัยในตนเอง ฝึกทักษะความรู้ด้านศิลปะป้องกันตัวมวยไทย เพื่อสามารถนำไปต่อยอด ประกอบอาชีพที่สุจริตภายหลังพ้นโทษ 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2568 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดรายการชกมวยที่เรียกว่า PRISION FIGHT ถือเปิดตัวอย่างเป็นทางการระหว่างนักชกค่าย"ลูกพระยม"กับนักมวย"ค่ายจิตรเมืองนนท์" ซึ่งการขึ้นชกบนเวทีสำหรับนักมวยแล้ว ถือเป็นโอกาสสำคัญ สำหรับผู้ต้องขัง เพราะหากสามารถชกชนะในรายการต่าง ๆ จนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นแชมป์ ก็อาจมีสิทธิได้ออกไปชกกับบุคคลทั่วไปในหลายๆ เวทีและรายการสำคัญๆ เช่น คิงส์ คัพ หรือชิงแชมป์ประเทศไทย

สำหรับนักชกที่จะได้รับสิทธิ์ไปชกข้างนอกได้จะต้องอยู่ในข่ายได้รับการคัดเลือก แล้วจะต้องเป็นนักโทษชั้นดี และเหลือโทษเด็ดขาดไม่เกิน 2 ปี และหากมีความสามารถขั้นติดทีมชาติก็มีสิทธิ์ที่จะได้พักโทษออกไปชกมวยอาชีพ เหมือนนักมวยรุ่นพี่ในอดีต

สำหรับตารางการฝึกซ้อมมวยของผู้ต้องขังที่เป็นนักมวยจะมีเทรนเนอร์และครูมวยจากภายนอกและในเรือนจำเข้ามาดูแลการซ้อมในทุก ๆ วัน โดยจะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ เช้าและบ่าย เริ่มตั้งแต่ตื่นมาวิ่ง กระโดดเชือก ล่อเป้า ชกลม และลงนวม จนถึงเย็น โดยมีนักโทษรุ่นพี่ที่มีความรู้เรื่องเชิงมวยเป็นผู้ฝึกสอนให้ รวมถึงการดูเทคนิคการต่อสู้และการชกของนักมวยเก่งๆ จากหน้าจอโทรทัศน์ที่ผู้คุมเปิดให้ดูด้วย

ความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขัง อาจมีทั้งสมหวัง ผิดหวัง และการเปิดค่ายมวย "ลูกพระยม" ในเรือนจำของกรมราชทัณฑ์ ก็เช่นกัน นอกจากจะเป็นการเพิ่มทักษะเพื่อให้ผู้ต้องขังเกิดแรงจูงใจในการปรับตนเป็นพลเมืองดีแล้ว จะเป็นประตูที่นำไปสู่อาชีพที่มีความก้าวหน้า มั่นคง และสังคมยอมรับในฝีมือด้วย

เป็นที่น่าจับตาว่าในจำนวนผู้ต้องขังกว่า 800 คน จะมีใครบ้างสามารถไต่บันใด ก้าวขึ้นมาคว้าแชมป์มวยไทย มวนสากล และเป็นนักค้ากำปั้นมืออาชีพ ได้เหมือน "แซมซั่น ส.ศิริพร" หรือ "อำนาจ รื่นเริง" นักมวยรุ่นพี่ได้บ้าง

อ่านข่าว

 ปิดฉาก 31 ปี "โจว จิ้งหัว" หนีคดีข้ามแดน "ฟอกลูก-สวมสิทธิ" ไทย

สะเทือน "ดงขมิ้น" ผ้าเหลืองร้อน ถูก "สีกา" สอยร่วง 19 รูป

คำไต่สวน "พยานเบิกความ" คดี "ทักษิณ" ชั้น 14 รพ.ตำรวจ