ลำไย (Longan) หรือชื่อวิทยาศาสตร์ Dimocarpus longan เป็นผลไม้เขตร้อนที่พบมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่รู้จักในภาษาจีนว่า "Dragon Eye" หรือ "ดวงตาพญานาค" เพราะลักษณะเนื้อในที่โปร่งใสและมีเมล็ดสีดำอยู่ตรงกลาง ในภาคเหนือของไทยเราก็คุ้นเคยกันในชื่อ "บ่าลำไย" ลำไยเป็นไม้ยืนต้นในวงศ์ Sapindaceae ให้ผลทรงกลมรวมกันเป็นช่อ เปลือกผลสุกมีสีน้ำตาล เนื้อลำไยมีสีขาวหรือชมพูอ่อน และมีเมล็ดสีดำเงาที่ล่อนออกจากเนื้อได้ง่าย นอกจากความอร่อยแล้ว ลำไยยังเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศไทยอีกด้วย
ข้อมูลจาก สป.อว. ระบุว่า ลำไยจัดเป็นผลไม้ที่ให้พลังงานและคาร์โบไฮเดรตสูง โดยลำไยสด 28 กรัม ให้พลังงาน 17 แคลอรี และมีน้ำตาลธรรมชาติถึง 3 ชนิด คือ กลูโคส ฟรุกโตส และซูโครส ที่สำคัญคืออุดมไปด้วยวิตามินซี ซึ่งลำไยสดเพียง 28 กรัม ก็ให้วิตามินซีสูงถึงร้อยละ 40 ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน นอกจากนี้ยังมีแร่ธาตุสำคัญอื่น ๆ เช่น ฟอสฟอรัส, เหล็ก, แคลเซียม, โพแทสเซียม, และ วิตามินบี 12 รวมถึงกรดอะมิโนและกรดไขมันที่เป็นประโยชน์
ลำไยยังเด่นด้วยสารต้านอนุมูลอิสระหลากหลายชนิด เช่น กรดแกลลิก, กรดเอลลาจิก, แทนนิน และสารคอริลาจิน (Corilagin) โดยเฉพาะในเมล็ดลำไยที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าส่วนอื่น ๆ สารเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับอนุมูลอิสระที่ทำลายเซลล์ในร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคร้ายแรงหลายชนิด

ภาพประกอบข่าว
ภาพประกอบข่าว
นานาประโยชน์ "ลำไย"
- บำรุงสมองและระบบประสาท ช่วยให้ความจำดีขึ้น กระตุ้นการไหลเวียนของออกซิเจนสู่สมอง และตามตำรับยาจีนโบราณยังใช้แก้อาการหลงลืมและป้องกันอัลไซเมอร์ได้
- สารกาบา (GABA) ที่พบในลำไย ช่วยปรับอารมณ์ให้ดีขึ้น ทำให้รู้สึกสงบ ผ่อนคลาย และช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น นอกจากนี้ วิตามินบี 12 ยังมีส่วนช่วยลดความเครียดและความอ่อนเพลียได้อีกด้วย
- วิตามินซีและสารต้านอนุมูลอิสระในลำไย ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ บำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่ง สดใส กระชับ และยังช่วยลดการสร้างเม็ดสีเมลานินอีกด้วย
- ข้อมูลจากสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล ชี้ว่าสารสกัดจากลำไย โดยเฉพาะเมล็ด มีคุณสมบัติต้านการอักเสบ ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการปวดข้อ และป้องกันโรคเก๊าท์ รวมถึงมีศักยภาพในการรักษาโรคกระดูกพรุนได้ด้วย
- สารต้านอนุมูลอิสระในลำไย ช่วยต่อสู้กับอนุมูลอิสระที่สร้างความเสียหายต่อเซลล์ โดยเฉพาะสารสกัดจากเนื้อลำไยอบแห้งมีฤทธิ์ต้านความเป็นพิษต่อยีน และช่วยยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็ง
- ลำไยช่วยกระตุ้นการทำงานของน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ทำให้เจริญอาหาร และยังช่วยป้องกันร่างกายจากอาการอ่อนเพลีย ทำให้รู้สึกสดชื่นและกระปรี้กระเปร่า
ภาพประกอบข่าว
ภาพประกอบข่าว
ข้อควรระวัง "ลำไย" หวานอร่อย แต่ต้องพอดี
แม้ลำไยจะมีประโยชน์มาก แต่การบริโภคในปริมาณที่มากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ เช่น
- ร้อนใน แม้ว่าความเชื่อที่ว่ากินลำไยมากแล้วร้อนในนั้น ยังไม่มีหลักฐานยืนยันอย่างชัดเจน แต่สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล ชี้ว่าอาจเกิดจากน้ำตาลที่สูงในลำไย ซึ่งตกค้างในปากและเป็นอาหารของแบคทีเรีย ทำให้เสี่ยงเกิดแผลร้อนในได้ อาหารหวานจัดอื่น ๆ ก็สามารถทำให้เกิดอาการร้อนในได้เช่นกัน
- ลำไยมีน้ำตาลสูง ผู้ป่วยเบาหวานจึงควรจำกัดปริมาณอย่างเคร่งครัด แต่ไม่จำเป็นต้องงดเสียทีเดียว แต่ควรบริโภคตามคำแนะนำของแพทย์เสมอ
- หญิงตั้งครรภ์ สามารถรับประทานลำไยได้ แต่ควรทานในปริมาณที่พอเหมาะและหลากหลาย เพราะอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง เสี่ยงเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้
ภาพประกอบข่าว
ภาพประกอบข่าว
รังสรรค์หลากเมนูจาก "ลำไย"
ด้วยรสชาติหวานอร่อยและประโยชน์มากมาย ลำไยจึงสามารถนำมาสร้างสรรค์เป็นเมนูที่หลากหลายและน่าสนใจได้ นอกจากการกินสดเป็นของว่างที่ช่วยคลายร้อน เรายังสามารถนำลำไยมาทำเป็น "น้ำลำไย" ที่ช่วยดับกระหายและให้ความสดชื่น ทำได้โดยนำลำไยมาล้าง แกะเปลือก ต้มในน้ำเดือด เติมน้ำตาลตามชอบ
เป็นส่วนผสมในอาหารคาวอย่าง "แมลงภู่หลงสวน" ซึ่งเป็นการผสมผสานรสชาติหวานจากลำไยกับความเผ็ดร้อนของเครื่องแกง โดยผัดกะทิกับเครื่องพริกแกงเผ็ด ใส่หอยแมลงภู่ สับปะรด เงาะ และลำไย ปรุงรสด้วยเกลือและน้ำตาล
"วุ้นน้ำลำไย" ทำง่ายและให้ความเย็นสดชื่น โดยต้มลำไยอบแห้งกับน้ำ เติมน้ำตาลและผงวุ้น คนจนละลายแล้วนำไปหล่อในพิมพ์ หรือ "วุ้นลำไยเยลลี่" ที่ถูกใจเด็ก ๆ ด้วยความหวานเย็นจากทั้งเยลลี่และลำไย เพียงแกะเปลือกลำไย คว้านเม็ด นำเยลลี่เข้าไมโครเวฟให้ละลาย แล้วนำลำไยมาใส่ถ้วยเล็กตามด้วยน้ำเยลลี่
เมนูขนมไทยประยุกต์อย่าง "บัวลอยชาโคลใส่ลำไย" ที่เพิ่มคุณค่าและสีสันให้น่ารับประทานยิ่งขึ้น โดยทำบัวลอยตามปกติแต่ผสมผงชาโคลกับแป้ง ปั้นแล้วต้มจนสุก จากนั้นตักบัวลอยใส่กะทิที่ต้มกับลำไย ปรุงรส
การนำลำไยมาทำเป็น "Longan Smoothie หรือ Longan Infused Water" ก็เป็นวิธีที่ง่ายและดีต่อสุขภาพเช่นกัน แม้แต่ในด้านความงามก็สามารถนำลำไยมาผสมกับโยเกิร์ตทำเป็นมาสก์บำรุงผิวหน้าเพื่อการดูแลผิวที่อ่อนโยนและสดชื่นได้ การบริโภคลำไยในปริมาณที่เหมาะสมและหลากหลายรูปแบบ จะช่วยให้เราได้รับประโยชน์จากผลไม้มหัศจรรย์นี้อย่างเต็มที่และปลอดภัย

ภาพประกอบข่าว
ภาพประกอบข่าว
ลำไยเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการและประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย ทั้งบำรุงสมอง ลดความเครียด บรรเทาอาการปวด และบำรุงผิวพรรณ อย่างไรก็ตาม การบริโภคควรอยู่ในปริมาณที่พอเหมาะ โดยเฉพาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อให้ลำไยเป็นผลไม้ที่ให้ทั้งความอร่อยและสุขภาพที่ดีอย่างแท้จริง ลำไยเปรียบเสมือนขุมทรัพย์แห่งธรรมชาติที่ซ่อนเร้นไว้ในผลกลมเล็ก เพียงแต่เราต้องรู้จักไขกุญแจแห่งการบริโภคอย่างพอดี ก็จะได้รับคุณประโยชน์อันล้ำค่าอย่างเต็มที่
แหล่งที่มาข้อมูล : สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, Netmeds, POBPAD, สป.อว.
อ่านข่าวอื่น :
เริ่มใช้แล้ว "อิมครานิบ 100" ลดผลข้างเคียง รักษามะเร็งมุ่งเป้า
แท็กที่เกี่ยวข้อง: