พม่ามีความสำคัญต่อจีนอย่างมาก เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ทั้งป่าไม้ ก๊าซธรรมชาติ และสินแร่ต่างๆ ช่วยตอบสนองความต้องการด้านพลังงานที่เพิ่มมากขึ้นตามการเติบโตของประเทศจีน นอกจากนี้ พม่ายังเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการสร้างเส้นทางคมนาคมขนส่งสินค้าจากมณฑลยูนนานของจีนออกไปสู่ทะเลอันดามันได้โดยไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา
ขณะที่พม่าจำเป็นต้องพึ่งพาจีนซึ่งเป็นชาติมหาอำนาจเพียงชาติเดียวที่เป็นมิตรกับพม่าในช่วงที่ถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตรเป็นเวลาหลายสิบปี ทำให้ปัจจุบันจีนกลายเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในพม่า คิดเป็นมูลค่า 420,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 35 ของการลงุทนจากต่างชาติในพม่า
ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านพลังงาน เช่น การสร้างท่อส่งก๊าซและท่อส่งน้ำมันจากชายฝั่งด้านตะวันตกเฉียงใต้ของพม่าเชื่อมต่อไปยังมณฑลยูนนานทางใต้ของจีนความยาว 771 กิโลเมตร ซึ่งคาดว่าจะเสร็จในปีหน้า หรือโครงการสร้างเขื่อนมิตโซนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำกั้นแม่น้ำอิรวดีในรัฐคะฉิ่นทางตอนเหนือมูลค่า 108,000 ล้านบาท ที่ถูกระงับโครงการไว้เพราะแรงกดดันจากประชาชน นอกจากนี้ จีนยังแซงหน้าไทยกลายเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของพม่าเมื่อปีที่แล้วด้วยมูลค่าการค้าขายระหว่างกัน 156,000 ล้านบาท
รศ.สุเนตร ชุตินธรานนท์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่าอิทธิพลของจีนต่อพม่าที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นี่เอง เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้พม่าเปิดประเทศ
สอดคล้องกับความเห็นของอาจารย์ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำภาควิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งระบุว่าพม่าต้องการให้ชาติตะวันตกเข้ามาคานอำนาจกับจีน รัฐบาลพม่าออกแบบการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ให้นางอองซานซูจี ผู้นำการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า และกลุ่มชาติพันธุ์ได้เข้ามามีสิทธิ์มีเสียงมากขึ้น แต่รัฐบาลก็ยังกุมอำนาจในรัฐสภาอยู่ดี ภาพหลังการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม และเปิดโอกาสให้อองซานซูจีเข้ามามีบทบาทในการต่างประเทศ รวมถึงการเข้ามาของชาติตะวันตก จะส่งผลกระทบต่อจีนอย่างมาก
จีนจึงต้องปรับตัวขนานใหญ่ และทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาผลประโยชน์มหาศาลในพม่าไว้ และยังคงครองส่วนแบ่งอันดับ 1 ของประเทศที่เข้ามาหาผลประโยชน์ในพม่า โดยใช้ความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ที่อยู่ใกล้ชิดพม่า ซึ่งมีชายแดนร่วมกันยาวถึง 2,185 กิโลเมตร
นอกจากนี้ อาจารย์ดุลยภาคยังมองว่าจีนอาจจะใช้ยุทธวิธีทางการทูตที่ลุ่มลึกในการสนับสนุนกลุ่มชาติพันธุ์ตามแนวชายแดนให้เป็นปรปักษ์ต่อรัฐบาลพม่า ถ้าเห็นว่ารัฐบาลพม่ามีท่าทีที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อจีน รวมทั้งอาจจะใช้การทูตเชิงวัฒนธรรม และการตลาด เช่น การนำทุนจีน ภาษาจีน คนจีนไปตั้งถิ่นฐานในพม่า หรือการประกอบธุรกิจท้องถิ่นตามเมืองชายแดนต่างๆ จีนต้องคุมหมด เป็นต้น
ขณะที่การที่พม่าต้องรับฟังเสียงของประชาชนมากขึ้น อาจจะส่งผลกระทบต่อโครงการลงทุนต่างๆ ของจีน ซึ่งคนในท้องถิ่นพยายามคัดค้านอย่างหนัก เนื่องจากส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ และเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อจีนมากกว่าพม่า
ความสัมพันธ์ของพม่าและจีนจึงเป็นไปในลักษณะของความร่วมมือที่แฝงไว้ด้วยความขัดแย้ง และเมื่อมีตัวแสดงเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น จีน และพม่าต่างต้องปรับตัวเพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ต่างฝ่ายต่างพอใจไว้ สิ่งสำคัญก็คือ พม่าจะมีความสามารถในการจัดการกับชาติต่างๆ ที่ต้องการเข้ามาตักตวงผลประโยชน์ในพม่าหลังเปิดประเทศได้ดีแค่ไหน
แท็กที่เกี่ยวข้อง: