ทีมนักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลียคิดค้นเทคโนโลยีแห่งอนาคต ปลูกถ่ายแผงโซลาร์เซลล์ในดวงตาให้คนตาบอดกลับมามองเห็นได้อีกครั้ง
การปลูกแผงโซลาร์เซลล์เล็ก ๆ เข้าไปในดวงตาอาจดูเหมือนเป็นจินตนาการในนิยาย แต่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ (UNSW) ในประเทศออสเตรเลีย กำลังพัฒนาสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นจริง โดยคิดค้นอุปกรณ์ต้นแบบใหม่ที่สามารถฝังลงบนเรตินาของดวงตาเพื่อช่วยฟื้นฟูการมองเห็นได้ ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวจะใช้แผงโซลาร์เซลล์แบบเดียวกับที่ใช้ในการแปลงแสงแดดเป็นไฟฟ้า
นักวิจัยกำลังหาวิธีพัฒนาเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยฟื้นฟูการมองเห็นในผู้ที่มีเซลล์รับแสงที่เสียหาย ซึ่งเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่ตรวจจับแสงและสี โดยเริ่มจากค้นคว้าว่าเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์จะเปลี่ยนแสงที่เข้าตาให้เป็นไฟฟ้าได้อย่างไร และเลี่ยงเซลล์รับแสงที่เสียหายเพื่อส่งข้อมูลภาพไปยังสมอง
วิธีการที่นักวิจัยค้นพบและทำได้ไม่ยุ่งยาก คือ การติดแผงโซลาร์เซลล์เล็ก ๆ เข้าไปในดวงตา ซึ่งจะแปลงแสงเป็นแรงกระตุ้นไฟฟ้าที่สมองใช้ในการสร้างลานสายตา แผงโซลาร์เซลล์สามารถใช้งานได้เองตามธรรมชาติและพกพาได้สะดวก โดยไม่จำเป็นต้องมีการติดสายเคเบิลและสายไฟใด ๆ เข้าไปในดวงตา
เมื่อแสงตกกระทบเรตินาที่ด้านหลังของดวงตา ตัวรับแสงจะแปลงเป็นสัญญาณไฟฟ้า สัญญาณเหล่านี้จะเดินทางจากเรตินาผ่านเส้นประสาทตาไปยังสมอง ซึ่งจะกลายเป็นภาพที่คนทั่วไปเห็น ซึ่งในตอนนี้เทคโนโลยีนี้อยู่ในขั้นตอนการพิสูจน์แนวคิด และขั้นตอนต่อไป คือ การแปลงเซลล์แสงอาทิตย์ขนาดเล็กให้เป็นพิกเซลเล็ก ๆ ที่จำเป็นสำหรับการมองเห็นที่แม่นยำ
จากการดำเนินงานพบว่าอุปกรณ์จะทำงานเมื่อมีการฉายแสงเลเซอร์เท่านั้น และผู้ป่วยจะเห็นเฉพาะสีขาวดำที่มีความละเอียดค่อนข้างต่ำ ถึงแม้จะมีประสิทธิภาพของเซลล์แสงอาทิตย์แบบเรียงซ้อน แต่แสงแดดเพียงอย่างเดียวอาจไม่แรงพอที่จะทำงานร่วมกับเซลล์แสงอาทิตย์เหล่านี้ที่ฝังอยู่ในเรตินา อาจต้องสวมแว่นตาหรือแว่นตาอัจฉริยะที่ทำงานควบคู่กับเซลล์แสงอาทิตย์ที่สามารถขยายสัญญาณดวงอาทิตย์ให้อยู่ในระดับความเข้มที่ต้องการเพื่อกระตุ้นเซลล์ประสาทในดวงตาให้ทำงานอย่างแม่นยำขึ้น
ที่มาข้อมูล: interestingengineering, newatlas, unsw
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech