ด้วยปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวไปไกล ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย กลายเป็นช่องทางให้บุคคลไม่หวังดีเข้าหาเด็ก-เยาวชน เพื่อวัตถุประสงค์ทางเพศ (Online Grooming) ด้วยความห่วงใย Thai PBS และ Thai PBS Sci & Tech จึงขอนำประเด็นนี้มาเผยแพร่ให้ได้ทำความเข้าใจกันมากขึ้น เพื่อร่วมด้วยช่วยเฝ้าระวัง-ลดความเสี่ยงจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งานโซเชียลมีเดีย-แพลตฟอร์มออนไลน์ของเด็ก ๆ และเยาวชนบ้านเรา
จากปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้สังคมทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย ต่างก็ออกมาตั้งคำถามว่า ใครกันแน่ที่จะต้องเข้ามาเป็น “ผู้พิทักษ์แห่งโลกดิจิทัล” (Digital Guardians) ที่จะมาช่วยในมุมของสังคมในการเฝ้าระวังและช่วยลดความเสี่ยงจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการใช้งานโซเชียลมีเดีย ตลอดจนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีอยู่จำนวนมากในปัจจุบันนี้ของเด็กและเยาวชน ตลอดจนคนใกล้ตัว ด้วยเหตุนี้ ETDA (เอ็ตด้า) หรือ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ จึงมีการจัดวงเสวนา ETDA LIVE ซีรีส์ DIGITRIBE EP. 2 ในหัวข้อ “Digital Guardians ใครกันต้องรับบทผู้พิทักษ์แห่งโลกดิจิทัล” เพื่อสะท้อนความเสี่ยง Online grooming ของเด็กไทยในปัจจุบัน
หากพูดถึงภัยออนไลน์ นอกจากปัญหา Cyberbullying หรือ การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ อีกปัญหาที่เด็กและเยาวชนต่างกำลังเผชิญและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นวันนี้ คงหนีไม่พ้นปัญหา Online Grooming ที่ผู้ใหญ่ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดีย หรือแม้แต่แอปพลิเคชันหาคู่เข้าไปทักทายเด็กหรือเยาวชนเพื่อทำความรู้จัก ตีสนิท พูดคุยให้เชื่อใจ ไว้ใจ ก่อนนัดเจอแล้วล่วงละเมิดทางเพศ และกระทำซ้ำ ๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ! ที่สำคัญ เด็กจำนวนไม่น้อยเสี่ยงตกเป็นเป้านิ่งที่จะถูก Online Grooming ได้ตลอดเวลา
ซึ่งจากข้อมูลของกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่สำรวจสถานการณ์เด็กไทยกับภัยออนไลน์ในช่วงเดือน พ.ค. - ก.ค. 65 จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 9 - 18 ปี จำนวน 31,965 คน พบว่า มีเด็กถึง 81% ที่มีแท็บเล็ตหรือสมาร์ตโฟนเป็นของตัวเอง กว่า 85% ใช้โซเชียลมีเดียเกือบทุกวัน, กว่า 54% เคยพบเห็นสื่อลามกอนาจาร โดยเด็กอายุ 10 ปีขึ้นไป กว่า 12 % เคยถูก Online Grooming
ในขณะที่ผลสำรวจของยูนิเซฟเมื่อปี 65 พบว่า เด็กถึง 46% รู้ช่องทางในการรับแจ้งเหตุ แต่มีเพียง 1-3% เท่านั้น ที่กล้าไปแจ้งตำรวจ แสดงให้เห็นว่า ทุกครั้งที่เกิดปัญหามีเด็กกว่า 97% ไม่กล้าไปแจ้งความ จากสถิติที่น่าตกใจนี้ ชี้ให้เห็นว่า นอกจาก เด็ก ๆ จะเข้าถึงสื่อออนไลน์ได้ง่ายแสนง่ายแล้ว หนำซ้ำเมื่อถูก Grooming เด็กก็มักเลือกที่จะเงียบไม่บอกใคร กว่าจะได้รับความช่วยเหลือก็สายเกินไป แต่การจะให้เด็กหรือเยาวชน ตัดขาดโลกออนไลน์ ไปเลยก็คงทำไม่ได้ สิ่งที่ทำได้ คือ การสร้างเกราะป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงและสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับพวกเขา
“เสี่ยง” ให้ “เซฟ” เริ่มง่าย ๆ ที่ตัว “เด็ก”
จากการพูดคุยในวงเสวนานี้ มีประเด็นที่น่าสนใจคือ “จริง ๆ แล้วการสร้างพื้นที่ปลอดภัยไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน” หากจะให้เริ่มที่ตัวเด็กเอง ก่อนอื่นเลย เด็กต้องเรียนรู้เรื่อง Digital literacy ทั้งในแง่การเรียนรู้ที่จะอยู่ในโลกดิจิทัลอย่างปลอดภัย และการรู้จักใช้โซเชียลมีเดียอย่างสร้างสรรค์ เช่น รู้จักตั้งค่าความเป็นส่วนตัว ปฏิเสธคำขอเป็นเพื่อนจากคนที่ไม่รู้จัก หลีกเลี่ยงการโพสต์ข้อมูลส่วนตัวในพื้นที่สาธารณะ รู้จักแยกแยะแพลตฟอร์มที่เชื่อถือได้กับแพลตฟอร์มที่มีความเสี่ยง และควรรู้จัก Digital footprint ว่าทุกอย่าง ทุกการกระทำบนโลกโซเชียล ไม่ว่าจะการรับ-ส่ง ภาพลามกอนาจาร การใช้ Hate speech การแชร์ Fake news การโพสต์ข้อความต่าง ๆ ด้วยอารมณ์ชั่ววูบหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ล้วนสะท้อนตัวตนของเราเองและจะกลายเป็น Digital footprint ที่จะอยู่ในโลกดิจิทัลตลอดไปและอาจย้อนกลับมาทำร้ายเราในภายหลังได้
ดังนั้น ก่อนโพสต์หรือแชร์อะไรต้องมีสติอยู่เสมอ และที่ขาดไม่ได้ เด็ก ๆ ควรฝึกให้มี Skill ในการเอ๊ะ ! ช่างสังเกต ช่างสงสัย ช่างซักถาม เจออะไรไม่ชอบมาพากล ต้องเอ๊ะ ! ไว้ก่อน แล้วรีบปรึกษาผู้ใหญ่ หรือ คนใกล้ชิด และอย่าไว้ใจใครง่าย ๆ ต้องจำไว้ว่า โลกออนไลน์ไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต
ความรักความผูกพันในครอบครัว คือ เกราะป้องกันที่แข็งแกร่งที่สุด
แน่นอนว่าเกราะแรกแห่งการป้องกัน คือ ความรักความผูกพันในครอบครัว ผู้ปกครองต้องให้ทั้งความรัก ให้ทั้งความรู้ และสร้างความมั่นใจให้แก่เด็ก ให้ความรัก โดยดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด คอยสังเกตความผิดปกติ คอยเป็นที่ปรึกษา ทำให้เด็ก ๆ ไว้วางใจ กล้าที่จะบอกเล่าปัญหาต่าง ๆ ให้ฟัง เพื่อปิดช่องว่างของความสัมพันธ์ ไม่ให้มิจฉาชีพฉวยโอกาสเข้ามาแทรกแซงได้ ให้ความรู้ ความเข้าใจกับเด็ก ๆ ถึงสารพัดภัยออนไลน์ที่จะมาในรูปแบบต่าง ๆ ให้เด็ก ๆ รู้เท่าทันความเสี่ยงที่พวกเขาจะได้รับ
รวมถึงสอนวิธีป้องกันและหลีกเลี่ยง และสุดท้าย คือ ให้ความมั่นใจ สร้าง Self-esteem ให้กับเด็ก ให้เขามีความภาคภูมิใจและเชื่อมั่นในตัวเอง ชมเมื่อเขาทำสิ่งดี ๆ แต่หากเขาทำอะไรที่ไม่เหมาะไม่ควรก็ไม่ควรดุด่าต่อว่าด้วยถ้อยคำที่รุนแรง แต่ควรใช้คำพูดอย่างสร้างสรรค์ อธิบายให้เข้าใจว่าทำไมไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสมอย่างไร พร้อมแนะนำวิธีที่ถูกที่ควร
“สื่อ” กระบอกเสียงขนาดใหญ่ ปลุกสังคมให้ ตื่น-ตระหนักรู้
ด้านตัวแทนของฝั่งสื่อมวลชน ย้ำชัดว่า สื่อนอกจากจะมีบทบาทในการนำเสนอข่าวสารต่าง ๆ แล้ว ยังมีบทบาทที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม โดยบทบาทสำคัญประการแรก คือ กระตุ้นความตื่นรู้ โดยคอยเป็นกระบอกเสียง สะท้อนปัญหาและถ่ายทอดให้สังคมได้รับรู้ คอยเตือนสังคมให้เกิดการตื่นตัวว่าขณะนี้ ตอนนี้เด็กและเยาวชนของเรากำลังตกอยู่ในความเสี่ยง เพื่อให้สังคมหันมาสนใจและช่วยกันจับตา ประการที่สอง สร้างเทรนด์ให้เกิดการตระหนักรู้ เช่น เมื่อเกิดเหตุการณ์ Online Grooming ขึ้น ควรมีการนำมาวิเคราะห์และตีแผ่ว่าเกิดจากอะไร พฤติกรรมแบบไหนที่เข้าข่ายสุ่มเสี่ยงถูก Grooming พ่อแม่ผู้ปกครองควรรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร เพื่อให้สังคมเกิดการตระหนักรู้และช่วยกันเฝ้าระวัง และเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลที่สะท้อนสถานการณ์ที่สังคมกำลังเผชิญไปหาทางป้องกันและแก้ไข
แพลตฟอร์มต้อง Take action ไม่ลอยตัว ภายใต้ Community standard เดียวกัน
ในการนี้วงเสวนาได้สะท้อนร่วมกันว่า เมื่อแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างโซเชียลมีเดีย คือ ช่องทางที่มาของปัญหา จึงปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้อง Take action ในการปกป้องผู้ใช้งาน โดยควรมีข้อกำหนดและมาตรฐานในการเข้าใช้บริการที่ชัดเจน เช่น ต้องมีการยืนยันตัวตน กำหนดอายุผู้ใช้ และสอดส่องดูแลความปลอดภัยของผู้เล่น ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ มีกระบวนการแจ้งรายงานที่ไม่ยุ่งยาก และให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพและความปลอดภัยของเด็กและเยาวชนมากกว่าการมุ่งเพิ่มยอด User โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบหรือความเสี่ยงที่จะตามมา และสร้างให้เกิดเป็นเทรนด์แพลตฟอร์มยุคใหม่ที่มีจรรยาบรรณและมีความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้เกิดเป็นเทรนด์ในอนาคตและเกิดค่านิยมใหม่ว่าถ้าแพลตฟอร์มไหนไม่คำนึงถึงความปลอดภัย ไม่ปกป้องเด็กและเยาวชน รวมถึงผู้หญิงและคนชรา แพลตฟอร์มนั้นอาจกลายเป็นแพลตฟอร์มเกรดบี หรือแพลตฟอร์มที่สังคมไม่ให้การยอมรับ
นอกจากนี้ ยังเผยอีกว่า วันนี้แพลตฟอร์มดิจิทัล ที่เราใช้ ๆ กัน มาจากทั่วโลก แต่ละประเทศก็มีกฎหมายและข้อบังคับไม่เหมือนกัน จึงเสนอว่า ไทยเองควรมี Community standard ที่เป็นมาตรฐานที่ทุกแพลตฟอร์มที่ให้บริการในประเทศไทยต้องปฏิบัติตาม เช่น การกําหนดอายุของคนที่ใช้บริการ รวมถึงกำหนดคอนเทนต์ ให้มีความเหมาะสม เพราะถ้าปล่อยให้แพลตฟอร์มกำหนดมาตรฐานกันเองแต่ละแพลตฟอร์มก็อาจมีมาตรฐานไม่เหมือนกัน
การเข้าถึงกระบวนการช่วยเหลือ ต้องไม่ซับซ้อน เข้าถึงง่าย
โดยจากสถิติทำให้เห็นว่าเด็กหรือเยาวชนที่ประสบปัญหาเข้ามาแจ้งความแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ อาจเพราะพวกเขามองว่า กระบวนการแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่พนักงานเป็นเรื่องซับซ้อน กว่าจะคุยกันรู้เรื่องหรือเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายได้ ต้องใช้เวลาในการพูดคุย อธิบายเล่าเรื่องราววนไปวนมาหลาย ๆ ครั้ง ดังนั้น เพื่อให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงกระบวนการช่วยเหลือได้ทันท่วงที ระบบการช่วยเหลือและขั้นตอนทางกฎหมายต้องไม่ยุ่งยาก มีช่องทางที่ใช้ในการติดต่อช่วยเหลือที่ชัดเจนไม่กระจัดกระจาย เพื่อให้เด็กหรือเยาวชนที่ถูกหลอกหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศรู้ว่าจะต้องแจ้งใคร ดำเนินการอย่างไร ที่สำคัญควรมีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการกลาง (War room) เฉพาะ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรับเรื่อง ติดต่อประสานงานและควบคุมการปฏิบัติการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดช่องทาง ที่ง่ายต่อเด็กในการติดต่อขอความช่วยเหลือหรือแจ้งความมากที่สุด
อีกประเด็นที่ไม่ควรมองข้ามคือ เมื่อเกิดเหตุแล้วต้องไม่ปล่อยให้เด็กต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว เพราะเด็กที่ถูกล่วงละเมิดจะตกใจ หวาดกลัว ไม่รู้จะทำยังไงต่อ และโดยมากจะไม่กล้าบอกผู้ปกครองหรือคนใกล้ชิด เพราะรู้สึกอับอาย หรือพอเล่าให้ฟังกลับถูกตำหนิ ถูกต่อว่า ดังนั้น คนรอบข้างต้องคอยให้กำลังใจและไม่ซ้ำเติม
แล้วใครกันล่ะที่ควรเป็น ผู้พิทักษ์แห่งโลกดิจิทัล ?
จากการพูดคุยครั้งนี้ได้ข้อสรุปที่สำคัญว่า “โลกไซเบอร์” เป็นโลกของพวกเราทุกคน อยากให้โลกใบนี้เป็นแบบไหนเราก็ต้องปฏิบัติแบบนั้น ถ้าอยากให้โลกไซเบอร์เป็นพื้นที่ปลอดภัย เราทุกคนก็ต้องช่วยกันสร้างพื้นที่ปลอดภัยขึ้นมา ช่วยกันสร้างเกราะป้องกัน ปกป้องดูแล พิทักษ์โลกแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ ผู้ปกครองที่เป็น “ผู้พิทักษ์ด่านแรก” ในการให้ความรัก ความอบอุ่น สร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันไม่ให้ลูกหลานถูกล่อลวงหรือชักจูงไปในทางที่ผิด
หรือแม้แต่ตัวเด็กและเยาวชนเองก็สามารถเป็นผู้พิทักษ์ได้โดยต้องรู้จักสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ตัวเอง และช่วยดูแลเพื่อน ๆ เพราะเด็กวัยนี้จะเชื่อและไว้ใจเพื่อนมากกว่าครูหรือผู้ปกครอง ด้านแพลตฟอร์ม ก็ต้องมีกรอบ กฎเกณฑ์ ข้อกำหนดที่ชัดเจนในการให้บริการ มีระบบตรวจสอบที่เข้มงวด และมีบทลงโทษผู้กระทำความผิดหรือละเมิดกฎเกณฑ์ชุมชนที่ชัดเจน สื่อ ก็ต้องคอยระแวดระวัง คอยเป็นหูเป็นตา คอยเตือน จุดประกาย ให้ความรู้ สร้างกระแสให้สังคมเห็นความสำคัญของปัญหาและร่วมมือกันป้องกัน ภาครัฐ ก็ต้องคอยดูแล ควบคุมและกำหนดทิศทางการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลให้เป็นไปอย่างเหมาะสม ซึ่งวันนี้ ไทยเราก็มีกฎหมาย DPS (Digital Platform Services) ที่มาเป็นกรอบในการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อให้คนไทยใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลได้อย่างมั่นใจและปลอดภัยมากขึ้น เป็นต้น
ในท้ายที่สุดแล้ว “ผู้พิทักษ์แห่งโลกดิจิทัล” อาจไม่ได้หมายถึง ใคร คนใดคนหนึ่ง หรือหน่วยงานใด หน่วยงานหนึ่ง แต่ผู้พิทักษ์ที่ยิ่งใหญ่และมีพลังมากที่สุด คือ เราทุกคนที่ใช้งานแพลตฟอร์ม เพราะ “EVERYONE CAN BE A HERO”
🎧 ปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : ETDA สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech