รู้จัก “เชื้อเพลิง” สำหรับ “อากาศยานทางการทหาร” แต่ละชนิด


Logo Thai PBS
รู้จัก “เชื้อเพลิง” สำหรับ “อากาศยานทางการทหาร” แต่ละชนิด

รู้จัก “เชื้อเพลิง” สำหรับ “อากาศยานทางการทหาร” แต่ละชนิด เนื่องจากอากาศยานทางการทหารนั้นมักจะมีการใช้งานหรือพัฒนาการที่แปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา เช่น เครื่องยนต์ชนิดใหม่ ทำให้สูตรของเชื้อเพลิงนั้นมีหลายชนิดมาก ต่างจากเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยานพลเรือนที่มีมาตรฐานรับรองสำหรับการใช้งานทั่วโลก

หน่วยงานทางการทหารมักจะใช้ตัวย่อสำหรับเชื้อเพลิงทางการทหารว่า “JP” ซึ่งย่อมาจาก “Jet Propellant” ตามด้วยเลขต่อท้ายเพื่อแยกเชื้อเพลิงแต่ละชนิดออกจากกัน เชื้อเพลิง JP แต่ละแบบอาจจะมีความคล้ายคลึงกับเชื้อเพลิงของอากาศยานพาณิชย์ทั่วไปหรืออาจจะแตกต่างกันไปอย่างสิ้นเชิงก็ได้

เครื่องบินรบ MiG-29 ระหว่างการเติมเชื้อเพลิงบนพื้นดิน

เชื้อเพลิง JP-1 เป็นเชื้อเพลิงเจ็ตยุคแรก ๆ ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา มันทำมาจากน้ำมันก๊าดบริสุทธิ์ มีจุดวาบไฟสูง และมีจุดเยือกแข็งที่ต่ำ เชื้อเพลิง JP-2 เป็นอีกหนึ่งเชื้อเพลิงที่ถูกพัฒนาในช่วงยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 มันมีความคล้ายคลึงกับ JP-1 แต่ JP-2 นั้นมีจุดเยือกแข็งที่ต่ำกว่า อย่างไรก็ตาม ทั้ง JP-1 และ JP-2 ไม่ได้ถูกนำมาใช้งานอย่างแพร่หลาย

ส่วนเชื้อเพลิง JP-3 เป็นความพยายามในการพัฒนาเชื้อเพลิงต่อจาก JP-1 และ JP-2 ด้วยการเพิ่มความบริสุทธิ์ของเชื้อเพลิง

เครื่องบินรบ F-4 Phantom II ระหว่างการเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศ

มาถึงยุคของ JP-4 ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่มีการผสมกันระหว่างน้ำมันก๊าดกับน้ำมันเบนซินในอัตราส่วน 1:1 ซึ่ง JP-4 มีจุดวาบไฟต่ำกว่า JP-1 จึงเป็นอันตรายมากกว่า จุดวาบไฟของ JP-4 อยู่ที่ -18 องศาเซลเซียส แต่สูงพอที่หากเราจุดไม้ขีดไฟแล้วโยนลงไปในถังน้ำมันที่เต็มไปด้วย JP-4 มันจะไม่ติดไฟ JP-4 นั้นสามารถเผาไหม้ได้ดีกว่า JP-1 มันจึงถูกใช้งานเป็นเชื้อเพลิงหลักของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ระหว่างปี 1951 ไปจนถึงปี 1995 เมื่อ JP-4 ถูกแทนที่โดย JP-8

ภาพขณะทหารเรือกำลังตรวจสภาพของเชื้อเพลิง JP-5 บนเรือจู่โจมสะเทินน้ำสะเทินบก

JP-5 เป็นเชื้อเพลิงที่ถูกออกแบบมาให้มีจุดวาบไฟสูงถึง 60 องศาเซลเซียส ดังนั้นหมายความว่า JP-5 นั้นติดไฟได้ยากมากเทียบกับเชื้อเพลิงชนิดอื่น ๆ ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า JP-5 นั้นถูกออกแบบมาสำหรับการใช้งานในอากาศยานบนเรือบรรทุกเครื่องบิน ซึ่งเสี่ยงอันตรายจากการเกิดไฟไหม้ โดย JP-5 มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า AVCAT หรือ Aviation Carrier Turbine Fuel

เครื่องบินความเร็วเหนือเสียง Lockheed SR-71 Blackbird ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ

JP-6 ถูกออกแบบมาสำหรับเครื่องยนต์ Turbojet General Electric YJ93 โดยเฉพาะ ซึ่งถูกใช้งานในเครื่องบิน XB-70 Valkyrie ที่บินที่ความเร็วสูงสุดถึง Mach 3

ส่วน JP-7 เป็นเชื้อเพลิงชนิดหนึ่งที่ถูกออกแบบมาสำหรับการใช้งานในเครื่องยนต์ Turbojet Pratt & Whitney J58 โดยเฉพาะ ซึ่งถูกใช้งานในเครื่องบิน Lockheed SR-71 Blackbird ที่บินด้วยความเร็วสูงสุดมากกว่า Mach 3 เชื้อเพลิง JP-7 นั้นมีจุดวาบไฟสูงเพื่อป้องกันเชื้อเพลิงจากความร้อนที่ก่อตัวขึ้นระหว่างการบินด้วยความเร็วสูง

ภาพของท่อส่งเชื้อเพลิง JP-8 ในฐานทัพสหรัฐฯ

สำหรับ JP-8 นั้นเป็นเชื้อเพลิงทางการทหารที่ปัจจุบันถูกใช้อย่างแพร่หลายโดนกองทัพสหรัฐ คาดว่า JP-8 จะถูกใช้ต่อไปอีกอย่างน้อยจนถึงปี 2025

ส่วน JP-9 JP-10 และ JPTS นั้นเป็นเชื้อเพลิงสำหรับใช้ในจรวดมิสไซล์ เช่น Tomahawk Missile และ AGM-86 ALCM Missile

เรียบเรียงโดย : โชติทิวัตถ์ จิตต์ประสงค์

🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เชื้อเพลิงอากาศยานทางการทหารเชื้อเพลิงอากาศยานเชื้อเพลิงเครื่องบินเทคโนโลยีTechnologyเครื่องบินThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech InnovationInnovation Tech World
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ