ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สัตว์เลี้ยงในจตุจักร ความปลอดภัยที่ถูกตั้งคำถาม ?


Insight

13 มิ.ย. 67

อธิเจต มงคลโสฬศ

Logo Thai PBS
แชร์

สัตว์เลี้ยงในจตุจักร ความปลอดภัยที่ถูกตั้งคำถาม ?

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1281

สัตว์เลี้ยงในจตุจักร ความปลอดภัยที่ถูกตั้งคำถาม ?
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

จากเหตุไฟไหม้ตลาดนัดจตุจักรในโซนสัตว์เลี้ยง ส่งผลให้เหล่าสัตว์หลายชีวิตต้องตาย และกลายเป็นภาพสะเทือนใจผู้คน ถึงตอนนี้ หลายฝ่ายตั้งคำถามถึงมาตรฐานความปลอดภัย Thai PBS พูดคุยกับตัวแทนของกลุ่มผู้ค้าสัตว์เลี้ยงจากตลาดนัดสวนจตุจักร “สุทธิลักษณ์ นากผสม” นายกสมาคมผู้นิยมสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ (TEPA)  ในฐานะผู้ทำงานร่วมกับกลุ่มผู้ค้าในย่านที่ประสบเหตุมาอย่างยาวนาน ความเป็นอยู่ของเหล่าสัตว์เลี้ยงเป็นอย่างไร ? ความปลอดภัยเพียงพอหรือไม่ ? ข้อกังวลที่เกิดขึ้น และมาตรฐานป้องกันเหตุที่อาจเกิดต่อไปเป็นอย่างไรบ้าง ?

สัตว์เพื่อการค้าขาย ย้อนที่มา “ตลาดซื้อขายสัตว์เลี้ยง” และมาตรฐานการดูแล

“ตลาดนัดจตุจักร” เป็นจุดหมายหนึ่งสำหรับคนที่อยากซื้อสัตว์ไปเลี้ยง จนทำให้กลายเป็นตลาดค้าขายสัตว์เลี้ยงแหล่งใหญ่ของประเทศมานาน สุทธิลักษณ์ย้อนเล่าถึงความเป็นอยู่ของสัตว์เลี้ยงในอดีตให้ฟัง 

“ย้อนกลับไปราว 10 กว่าปีก่อน ภาพความเป็นอยู่ของสัตว์อาจไม่น่าดูนัก เพราะต้องยอมรับว่าตลาดนัดจตุจักรในส่วนสัตว์เลี้ยงยังมีการค้าขายสัตว์เถื่อน แต่หลังจากมีการออกกฎหมายควบคุม กรมปศุสัตว์และกรมอุทยานแห่งชาติมีมาตการในการเข้ามาควบคุมดูแลสวัสดิภาพของสัตว์ พูดได้ว่าถึงตอนนี้ร้านค้าสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่น่าจะมากกว่า 90 เปอร์เซนต์ เป็นผู้ค้าที่ขายสัตว์เลี้ยงอย่างถูกต้อง มีเอกสารรับรองการนำเข้าเพาะเลี้ยง รวมถึงมีการปฏิบัติตามมาตรฐานอย่างดี”

มาตรฐานที่สุทธิรักษ์พูดถึง คือมาตรฐานตาม พรบ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ซึ่งระบุถึงการจัดสวัสดิภาพความเป็นอยู่ให้สัตว์ ทั้งความสะอาดของที่อยู่อาศัย การให้อาหาร โดยสุทธิลักษณ์เผยต่อว่า กลุ่มผู้ค้าสัตว์เลี้ยงมีการรวมตัวแบ่งตามชนิดของสัตว์เลี้ยง เช่น กลุ่มนก กลุ่มปลา กลุ่มงู แล้วจะคอยช่วยกันสอดส่องดูแล โดยมีกรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในประเด็นนี้

“เราพบเห็นสัตว์มีสภาพผอม หรือกรงดูสกปรก เราจะมีการถ่ายรูปและช่วยกันตักเตือน หากไม่มีการปรับปรุง กลุ่มก็จะมีการกดดัน เพราะหากเกิดภาพที่ไม่งาม ก็จะโดนตำหนิกันทั้งหมด บางร้านค้าที่ไม่สามารถปรับปรุงให้ได้ตามมาตรฐาน ก็จะปิดตัวไปเอง”

“ถึงตอนนี้ ยังมีบ้างที่ความเป็นอยู่ของสัตว์ ขนาดกรงอาจจะแออัดเกินไป ด้วยขนาดพื้นที่ของร้านที่เล็ก แต่ก็อยากจะจัดแสดงสัตว์เลี้ยงจำนวนมาก ทางกลุ่มผู้ดูแลจะช่วยกันสอดส่อง ช่วยเตือนกัน เพื่อให้มีการจัดหาที่อยู่อื่น ๆ ให้สัตว์ตามช่วงเวลา”

“สุทธิลักษณ์ นากผสม” นายกสมาคมผู้นิยมสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ

เจาะอินไซต์ ความปลอดภัยของร้านค้าสัตว์มีหรือไม่ ?

เบื้องต้นจากการสันนิษฐานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คาดว่ามาจากไฟฟ้าลัดวงจร โดยเมื่อย้อนกลับมาดูการใช้ไฟฟ้าของร้านค้าในตลาดสัตว์เลี้ยงที่จตุจักร ร้านค้าหลายแห่งจำเป็นจะต้องเปิดอุปกรณ์ที่ใช้ช่วยเรื่องความเป็นอยู่ของสัตว์เลี้ยง ไม่ว่าจะพัดลมหรือเครื่องทำออกซิเจนในร้านค้าปลาสวยงาม ทำให้ต้องใช้ไฟฟ้าแทบจะตลอดเวลา 

นายกสมาคมผู้นิยมสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ เผยว่า โดยปกติแล้วระบบเดินไฟของร้านค้าจะมีการจัดการระบบไฟฟ้าอย่างเป็นมาตรฐาน มีการติดเบรกเกอร์เพื่อตัดไฟฟ้ากรณีเกิดเหตุไฟรั่ว ไฟช็อต หรือลัดวงจร และมีการเปลี่ยนสายไฟเมื่อเสื่อมสภาพอยู่เสมอ เพื่อความปลอดภัยของสัตว์เลี้ยง และป้องกันความเสียหายของร้านค้าเองด้วย

“บริเวณตลาดที่เกิดเหตุนั้นคือตลาดศรีสมรัตน์ เป็นตลาดที่มีมาอย่างยาวนาน ผู้ค้าส่วนใหญ่ขายมานานมาก เชื่อว่าเป็นผู้ค้าที่มีมาตรฐาน มีการดูแลเรื่องสายไฟอย่างดี”

อย่างไรก็ตาม ระบบความปลอดภัยบริเวณส่วนนอกร้านค้า ดูจะยังไม่เพียงพอ สุทธิลักษณ์ มองว่า ต้องมีการพัฒนาส่วนของระบบตรวจจับความร้อน ควัน รวมถึงระบบท่อดับเพลิงแบบหัวฉีด ซึ่งจะมีการนำเสนอร่วมกับทางตลาดเพื่อดำเนินการต่อไป

“ระบบการดูแลความปลอดภัยของตลาดโดยทั่วไปมีการจัดการมาดีแล้ว แต่วันนี้เป็นเคสแรกที่เกิดไฟไหม้ตลาดสัตว์เลี้ยง ซึ่งเป็นเหตุสะเทือนใจคนทั้งประเทศ การจัดการให้มีระบบความปลอดภัยที่มากขึ้นจึงเป็นสิ่งที่ต้องมาพูดคุยกัน”

ภาพความเศร้าหลังเกิดเหตุที่ตลาดศรีสมรัตน์

กระแสสังคมเรียกร้องให้ปิดตลาดขายสัตว์

หลังไฟไหม้ดับลง พร้อมการตายของสัตว์เลี้ยงที่ติดในกรงมากมาย เกิดกระแสสังคมที่เรียกร้องเรื่องการปิดตลาด สุทธิลักษณ์ในฐานะผู้ที่คลุกคลีในกลุ่มผู้ประสบเหตุ เผยว่า ประเด็นดังกล่าวถือเป็นประเด็นที่รุนแรงต่อความรู้สึกของผู้ประสบภัย เนื่องจากการค้าขายสัตว์เลี้ยงเป็นไปอย่างถูกต้อง และยังคงมีการทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐเพื่อให้เกิดกฎหมายที่ช่วยควบคุมให้กลุ่มร้านค้ามีมาตรฐาน สิ่งที่เกิดจึงเป็นทั้งความสูญเสีย และเป็นการซ้ำเติมต่อผู้ประกอบการเช่นกัน

“ผู้ค้าขายที่ประสบเหตุโดยตรง หลายคนรักการเลี้ยงสัตว์จึงผันตัวมาเปิดร้าน แม้จะเลี้ยงเพื่อค้าขาย แต่ก็เลี้ยงมาด้วยความรัก ตอนนี้ต้องสูญเสียทั้งสัตว์เลี้ยง หมดตัว ไม่มีที่ทำกิน ยังมีกระแสสังคมที่อยากให้ปิดตลาด ตรงนี้เป็นสิ่งที่บั่นทอนกำลังใจของผู้ค้า ซึ่งอาจไม่ได้มองอย่างรอบด้านเพียงพอ”

การบังคับใช้กฎหมาย และสร้างมาตรฐานที่เหมาะสม เป็นคำตอบที่ช่วยลดเหตุการณ์สูญเสียได้

การค้าขายสัตว์เลี้ยงเป็นกลไกหนึ่งของเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่เกี่ยวโยงอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงที่กำลังเติบโต ทว่าปัจจุบัน กฎหมายที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ อาทิ พรบ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ทั้งหมดมีข้อกฎหมายที่ควบคุมการเลี้ยงสัตว์ในมุมที่แตกต่างกันกันไป ซึ่งเป็นที่น่าตั้งข้อสังเกตว่า ยังไม่มีกฎหมายข้อใด ที่ควบคุมร้านค้าเป็นการเฉพาะ

“ร้านค้ายินดีที่จะให้มีกฎหมายควบคุมเพื่อให้เกิดมาตรฐานร่วมกัน ทั้งการขึ้นทะเบียนรวมถึงการสร้างมาตรฐานเพื่อความเป็นอยู่ของสัตว์ที่ดี ถึงตอนนี้กำลังมีร่างกฎหมายเพื่อควบคุมร้านค้า ทั้งการขึ้นทะเบียนสัตว์ มาตรฐานการเลี้ยงดูและการจัดการต่าง ๆ เพื่อให้สัตว์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” สุทธิลักษณ์กล่าวทิ้งท้าย

รายงานความเสียหาย ไฟไหม้ตลาดนัดจตุจักร สัตว์ตาย 5,343 ตัว

ไฟไหม้ตลาดนัดจตุจักร สัตว์ตาย 5,343 ตัว อาทิ ปลา, นก, ไก, สุนัข

อ้างอิง
มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมการประกอบกิจการขายสัตว์เลี้ยงออนไลน์
มาตรการทางกฎหมายคุ้มครองผู้ซื้อสัตว์เลี้ยงประเภทสุนัขและแมว
มาตรการควบคุมกิจการเพาะพันธุ์สัตว์เลี้ยง กรณีศึกษา กิจการเพาะพันธุ์สุนัข

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ไฟไหม้ "ตลาดนัดจตุจักร"เผาวอด 118 ล็อก - สัตว์ตายจำนวนมาก
ไขคำตอบ! ซาก "งูกัดตัวเอง" ไม่ใช่ฆ่าตัวตาย
ไฟไหม้ตลาดสัตว์ตายกว่า 5,000 ตัว กทม.เข้มผู้ค้าต้องทำใบอนุญาต
กรมปศุสัตว์ตรวจจับร้านขายยาสัตว์เถื่อนที่ตลาดนัดจตุจักร-อตก.

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ไฟไหม้กฎหมายคุ้มครองสัตว์สัตว์สัตว์เลี้ยงจตุจักรตลาดศรีสมรัตน์
อธิเจต มงคลโสฬศ
ผู้เขียน: อธิเจต มงคลโสฬศ

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส สนใจเนื้อหาด้านสุขภาพจิต สาธารณสุข และความยั่งยืน รวมถึงประเด็นทันกระแสที่มีแง่มุมน่าสนใจซ่อนอยู่

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด