“หลุมดำ” (Black Hole) กลืนกิน “ดวงดาว” จะเกิดอะไรขึ้น ? Thai PBS Sci & Tech ขอนำสาระมาเล่าให้ฟังแบบสั้น ๆ ได้ใจความ
เมื่อวัตถุขนาดใหญ่ระดับดวงดาวเข้าสู่ขอบเขตของ “หลุมดำ” (Black Hole) หรือที่เรียกว่าขอบฟ้าเหตุการณ์ (Event Horizon) จะได้รับผลกระทบของแรงที่ชื่อว่า “แรงไทดัล” (Tidal Force) ที่เกิดขึ้นจากแรงโน้มถ่วงของวัตถุหนึ่งที่กระทำต่ออีกวัตถุหนึ่งอย่างไม่สม่ำเสมอกัน ขอบของวัตถุที่อยู่ใกล้กับหลุมดำจะได้รับผลกระทบของแรงที่มากกว่า ทำให้ดาวดวงนั้นถูกฉีกออกและหมุนวนไปรอบ ๆ หลุมดำ เกิดเป็นจานสสารที่วนรอบด้วยความเร็วสูง และมีอุณหภูมิที่สูงมาก เรียกว่า “จานพอกพูนมวล” หรือ “จานรวมมวล” (Accretion disk)
NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ให้ความรู้ว่า ในขณะเดียวกัน บริเวณใจกลางของหลุมดำก็ปลดปล่อยอนุภาคออกมาคล้ายกับลำแสงเล็ก ๆ เรียกว่า “เจ็ต” (Jet) เป็นลำของอนุภาคที่มีพลังงานสูงมาก และมีความเร็วเทียบเท่ากับความเร็วแสง เบื้องต้นนักดาราศาสตร์คาดว่าเกิดจากสนามแม่เหล็กที่รุนแรงของหลุมดำ ทำให้สสารที่แตกตัวเป็นไอออนถูกเหวี่ยงให้พุ่งออกไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน
ปัจจุบัน ยังคงมีเรื่องราวมากมายที่เรายังไม่เข้าใจเกี่ยวกับหลุมดำ แต่ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วในทุกวัน แน่นอนว่าจะทำให้เราได้ค้นพบอะไรมากขึ้นเกี่ยวกับวัตถุปริศนานี้ มาติดตามและเอาใจช่วยนักดาราศาสตร์ทั่วโลกกันต่อไป
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : NASA, อดิเทพ ขันคำ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech