จรวด Ariane 6 จรวดขนาดใหญ่รุ่นใหม่ของ ESA ถูกปล่อยเป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ในบทความนี้จะพาไปสำรวจจรวด Ariane 6 ว่าทำไมยุโรปถึงปลุกปั้นจรวดรุ่นนี้ในวันที่ตลาดการขนส่งอวกาศกำลังมีคู่แข่งในรายสำคัญอย่าง SpaceX
Ariane 6 เป็นจรวดขนาดกลางค่อนไปทางใหญ่ ซึ่งเป็นขนาดเดียวกับจรวด Ariane 5 ที่เคยถูกใช้ในการส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์มาก่อน จรวดในกลุ่มเดียวกับ Ariane 6 นั้นได้แก่ จรวด Falcon 9 ของ SpaceX และจรวด H-II และ H-III ของ JAXA ยังไม่รวมจรวดของทางฝั่งอินเดีย จีน และรัสเซียมีจรวดที่อยู่ในกลุ่มนี้อีกด้วย นั้นหมายถึงจรวด Ariane 6 ของยุโรปนี้ต้องเจอศึกการแข่งขันจากหลายฝั่งเลยทีเดียว
Ariane 6 เป็นจรวดรุ่นใหม่ของบริษัท Ariane Group ที่ดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือของชาติสมาชิก European Space Agency หรือ ESA ซึ่งมาทดแทนจรวด Ariane 5 เดิม ที่คอยรับใช้ชาติสมาชิก ESA และลูกค้ารายอื่น ๆ มาอย่างยาวนาน จรวดรุ่นนี้เริ่มต้นการพัฒนาขึ้นในช่วงปี 2014 และได้รับการกำหนดให้มีการทดสอบในช่วงปลายปี 2023 แต่ก็ต้องถูกเลื่อนอย่างเรื่อยมาจนถึงกลางปี 2024 ซึ่งตัวจรวดรุ่นนี้ใช้เงินลงทุนพัฒนามากกว่า 2,800 ล้านยูโรในลักษณะการร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน (Public Private Partnership) ทีมงานคาดหวังว่าจะสามารถเข้ามาทำราคาต่อการปล่อยที่เริ่มต้นประมาณ 75 ล้านยูโรต่อเที่ยว (ประมาณ 81 ล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งหากทำได้จริงจะอยู่ในจุดที่สามารถแข่งขันกับจรวดอย่าง H-II และ H-III ของฝั่งญี่ปุ่น จรวดตระกูลอินเดีย หรือแม้กระทั่งกับ Falcon 9 ของ SpaceX (ที่ทำตลาดอยู่ที่ประมาณ 60 ล้านเหรียญสหรัฐ) ได้เลยทีเดียว
ราคาต่อเที่ยวบินของ Ariane 6 เมื่อเทียบกับจรวดรุ่นเก่าอย่าง Ariane 5 ที่มากกว่า 100 ล้านยูโรต่อเที่ยวบิน การเข้ามาของ Ariane 6 น่าจะช่วยให้ Ariane Group และ ESA นำส่งดาวเทียม ยานอวกาศ ให้กับตัวเอง ชาติพันธมิตร และลูกค้าได้ในราคาที่สามารถทำการแข่งขันกับคู่แข่งได้มากยิ่งขึ้น
จรวด Ariane 6 มีศักยภาพในการบรรทุกสัมภาระสูงสุดที่ 21.6 ตันที่วงโคจรต่ำหรือ Low Earth Orbit และบรรทุกสูงสุดสำหรับการส่งไปยังวงโคจรระดับสูงหรือ Geostationary Transfer Orbit ที่ 11.5 ตัน ซึ่งถือว่าเป็นศักยภาพที่เกาะกลุ่มกับจรวดในตระกูลนี้ไม่ว่าจะเป็นเจ้าตลาดอย่าง SpaceX Falcon 9 ที่สามารถส่งขึ้นวงโคจรต่ำได้ที่ 22.8 ตัน และ วงโคจรระดับสูงที่ 8.3 ตันหากไม่นำตัวจรวดกลับลงมาใช้งานใหม่ จะเห็นได้ว่าตัว Ariane 6 มีประสิทธิภาพในการส่งสัมภาระขึ้นไปในวงโคจรระดับสูงที่มากกว่า Falcon 9 เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับงานขนส่งยานอวกาศสำรวจอวกาศลึกของ ESA
จรวด Ariane 6 นี้จะมีลักษณะที่โดดเด่นคือการมี Booster ขนาบข้างของจรวดที่สามารถติดตั้งได้ทั้งแบบสองและสี่เครื่องยนต์ โดย Booster จะที่ใช้งานจะเป็นตัวจรวดเชื้อเพลิงแข็งที่ช่วยให้พลังกำลังในการส่งในช่วงแรกที่เดินทางออกสู่ชั้นบรรยากาศได้ง่าย
อย่างที่เราทราบกันดีจรวด Ariane 6 ถูกเลื่อนการปล่อยมาอย่างต่อเนื่องด้วยการติดปัญหาหลากหลายอย่าง ซึ่งจรวดได้กำหนดการใหม่ที่จะทำการปล่อยทดสอบเที่ยวบินแรกเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ที่ผ่านมา การปล่อยในครั้งนี้เกิดขึ้นที่ฐาน ELA-4 ใน Guiana Space Centre ดินแดนโพ้นทะเลของฝรั่งเศส ในรอบนี้ Payload ที่เดินทางไปด้วย จะเป็นดาวเทียมขนาดเล็ก ของบริษัทอวกาศเอกชน และงานวิจัยต่าง ๆ ทั้ง ESA รวมถึง NASA ด้วยเช่นกัน
หากจรวด Ariane 6 สามารถปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้าได้อย่างสำเร็จจะทำให้ตลาดการขนส่งอวกาศดุเดือดขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง
เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล
พิสูจน์อักษร ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech