หลากหลายเหตุผล ทั้งการเดินทางไปมาหาสู่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ การเข้ามาของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 (อาร์คทูรัส) ที่อาจแพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์ XBB.1.5 ที่ระบาดในปัจจุบัน และใกล้เข้าฤดูฝน ที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ คาดว่าเชื้อจะระบาดมากในฤดูนี้
ทำให้หลายคนกลับมาติดเชื้อโควิด-19 อีกครั้ง หรือบางคนที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน ก็อาจไม่รอดในซีซันนี้ #ไทยพีบีเอส รวบรวมข้อมูลอัปเดตติดเชื้อโควิด-19 เดือน พ.ค. 66 ดังนี้
ติดโควิด-19 เดือน พ.ค. 66 รักษาตัวที่ไหน ?
หากผลตรวจพบเชื้อโควิด (SARS-CoV-2) แบ่งการรักษาเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
1.กลุ่มที่ไม่มีอาการ รักษาแบบผู้ป่วยนอก หรือรับยาแล้วกลับพักรักษาตัวในที่พักอาศัย ไม่ต้องกินยาต้านไวรัส ปฏิบัติ DMH อย่างน้อย 5 วัน นับจากวันที่มีอาการ คือ
- Distancing เว้นระยะห่าง
- Mask Wearing สวมแมสก์ เพื่อลดการฟุ้งกระจายของละอองฝอย
- Hand Washing หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ทั้งน้ำสบู่ และเจลแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ เพราะมีโอกาสที่เราจะนำมาสัมผัสใบหน้าโดยไม่รู้ตัวได้
2.กลุ่มที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง รักษาแบบผู้ป่วยนอกตามอาการ และดุลยพินิจแพทย์ ปฏิบัติ DMH อย่างน้อย 5 วัน นับจากวันที่มีอาการ
3.กลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรครุนแรง หรือกลุ่มที่มีปอดอักเสบ แต่ยังไม่ต้องให้ออกซิเจน พิจารณาตามอาการของผู้ป่วยโดยแพทย์ อาจรักษาแบบผู้ป่วยนอก หรือรับไว้ในโรงพยาบาล ให้ยาต้านไวรัสเร็วที่สุด เรียงตามประสิทธิภาพของยา
4.กลุ่มที่มีอาการปอดอักเสบ ต้องได้รับการรักษาด้วยออกซิเจน รับรักษาไว้ในโรงพยาบาล ให้ยาต้านไวรัสเร็วที่สุด ร่วมกับยาแก้อักเสบ
ติดโควิด-19 อาการแบบไหน รักษาในโรงพยาบาล ?
1.มีไข้อุณหภูมิกายตั้งแต่ 39 องศาเซลเซียสขึ้นไป โดยวัดได้อย่างน้อย 2 ครั้งห่างกัน 4 ชั่วโมง ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง
2.มีภาวะขาดออกซิเจน ต่ำกว่า 94%
3.มีภาวะแทรกซ้อน หรือการกําเริบของโรคประจําตัวเดิม
4.เป็นผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงต่ออาการรุนแรง และไม่มีผู้อยู่ดูแลตลอดทั้งวัน
5.มีภาวะอื่น ๆ ที่จําเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ตามดุลยพินิจของแพทย์
6.ผู้ป่วยเด็กให้รักษาในโรงพยาบาลเมื่อมีข้อบ่งชี้ เช่น ต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หรือให้สารน้ำทางหลอดเลือดดํา หรือต้องการออกซิเจน หรอเด็กที่มีอาการซึม กินได้น้อย มีภาวะขาดน้ำจากอุจจาระร่วง หรือชักจากไข้สูง ฯลฯ
ติดโควิด-19 เดือน พ.ค. 66 กักตัวกี่วัน ?
ระยะเวลารักษาในโรงพยาบาลอาจไม่ถึง 5 วัน ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ ยกเว้นผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง จะให้ออกจากโรงพยาบาลเมื่ออาการดีขึ้น โดยต้องแยกกักตัวต่อที่บ้านรวมทั้งสิ้น 20 วัน นับจากวันที่มีอาการ
ส่วนผู้ติดเชื้อโควิดแบบไม่มีอาการ หรืออาการไม่รุนแรง หรือพักที่โรงพยาบาลระยะเวลาสั้น ๆ แล้วไปพักต่อที่บ้าน ในระยะ 5 วัน นับจากเริ่มมีอาการ ควรงดออกจากบ้านไปยังชุมชน หากจะออกไปให้ไปเท่าที่จำเป็น และให้ปฏิบัติ DMH
เมื่อพ้นระยะ 5 วันแรกแล้ว สามารถออกไปในชุมชนได้มากขึ้น แต่ก็ควรปฏิบัติ DMH ต่อไปอีก 5 วัน รวม 10 วัน หลังจากนั้นสามารถประกอบกิจกรรมทางสังคม และทำงานได้ตามปกติตามนิวนอร์มอล
หากมีอาการป่วยเกิดขึ้นใหม่ หรืออาการเดิมมากขึ้น เช่น ไข้สูง ไอมาก เหนื่อย แน่นหน้าอก หอบ หายใจไม่สะดวกเบื่ออาหาร ให้ติดต่อสถานพยาบาล หากต้องเดินทางมาสถานพยาบาล แนะนําให้สวมหน้ากากระหว่างเดินทางตลอดเวลา หลังจากครบกําหนดการกักตัวตามระยะเวลานี้แล้ว
ติดโควิด-19 ใช้สิทธิบัตรทอง-หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อย่างไร ?
หากผลตรวจยืนยันว่าติดโควิด-19 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จัดระบบบริการพบแพทย์ออนไลน์และส่งยาฟรีถึงบ้าน ผ่าน 4 ช่องทาง ดังนี้
1.รับที่ร้านยา สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว ให้ญาติผู้ป่วยเดินทางไปที่ร้านยาที่เข้าร่วม (ตรวจสอบรายชื่อร้านยาที่เข้าร่วมโครงการได้ที่ https://www.nhso.go.th/downloads/197) พร้อมนำบัตรประชาชนตัวจริงของผู้ป่วยเพื่อใช้ยืนยันการรับบริการ จากนั้นเภสัชกรประจำร้านยาจะวีดีโอคอล (VDO call) กับผู้ป่วยเพื่อซักถามอาการและแนะนำวิธีการใช้ยา
2.พบแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ให้บริการเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร ผ่าน 4 แอปพลิเคชัน โดยให้เลือกใช้แอปฯ ใดแอปฯ หนึ่ง ดังนี้
- Totale Telemed (โททอลเล่ เทเลเมด) รับผู้ป่วยโควิด-19 ทุกประเภท ทั้งกลุ่มเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ กลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี, ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคอ้วน, โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน และหญิงตั้งครรภ์) ให้บริการทั่วประเทศ สอบถามเพิ่มเติม Line ID : @totale หรือสายด่วน 06-2046-2944, 06-1801-9577
- Clicknic (คลิกนิก) รับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว ไม่รับกลุ่ม 608 ให้บริการทั่วประเทศ สอบถามเพิ่มเติม Line ID : @clicknic หรือลงทะเบียนได้ทาง https://forms.gle/hfo2Wr9jdvybn8d57
- Saluber MD (ซาลูเบอร์ เอ็มดี) รับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว (ไม่รับกลุ่ม 608) ให้บริการทั่วประเทศ สอบถามเพิ่มเติม ไลน์ไอดี : @Sooksabaiclinic ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.telemed.salubermdthai.com
- MorDee (หมอดี) รับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว (ไม่รับกลุ่ม 608) ให้บริการเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ สอบถามเพิ่มเติม Line ID : @mordeeapp หรือลงทะเบียนได้ทาง https://form.typeform.com/to/cNKqNz3p
3.สถานพยาบาลตามสิทธิ หรือหน่วยบริการประจำ กรณีผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีภาวะเสี่ยงรุนแรง กลุ่ม 608 และมีอาการรุนแรงขึ้น (กลุ่มสีเหลือง) ได้แก่
- วัดไข้ได้ 39 องศาเซลเซียสขึ้นไป อย่างน้อย 2 ครั้ง ห่างกัน 4 ชั่วโมงใน 1 วัน
- วัดความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดได้ต่ำกว่า 94%
- มีภาวะแทรกซ้อนหรือการกำเริบของโรคประจำตัว
- มีปัจจัยเสี่ยงต่ออาการรุนแรง
- มีภาวะอื่นๆ ที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
- ผู้ป่วยเด็กที่มีอาการซึม กินได้น้อย มีภาวะขาดน้ำจากอุจจาระร่วงหรือชักจากไข้สูง
ตรวจสอบสิทธิและรายชื่อได้ที่ https://eservices.nhso.go.th/eServices/mobile/login.xhtml
4.หน่วยบริการทุกแห่งที่ใกล้ที่สุด กรณีผู้ป่วยโควิด-19 สีแดง มีอาการรุนแรง ได้แก่
- หอบเหนื่อยหนักมาก
- พูดไม่เป็นประโยค
- แน่นหน้าอก
- หายใจเจ็บหน้าอก
- ปอดอักเสบรุนแรง
- อ่อนเพลีย
- ตอบสนองช้า
- ไม่รู้สึกตัว
- มีภาวะช๊อก/โคม่า
- ซึมลง
- ไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส
- ค่าออกซิเจนต่ำกว่า 94
ต้องรีบรักษาโดยเร็ว โดยใช้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (UCEP)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางสายด่วน สปสช. 1330 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ เป็นเพื่อนที่ไลน์ OA สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือเข้าเว็บไซต์ของ สปสช. ที่ www.nhso.go.th
ติดโควิด-19 ใช้สิทธิประกันสังคม อย่างไร ?
กรณีผู้ประกันตนในระบบสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ผลตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด สามารถเข้ารักษาตามสถานพยาบาลที่มีสิทธิอยู่ หากกรณีแพทย์สงสัยจะต้องมีการตรวจซ้ำผู้ประกันตนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
ผู้ประกันตนที่มีอาการป่วยไม่รุนแรงหรือไม่มีอาการ รักษาตามแนวทางเจอ แจก จบ ติดต่อรับยาได้ ณ สถานพยาบาลประกันสังคม หรือสถานพยาบาลที่ร่วมให้บริการของรัฐและเอกชนทุกแห่ง หรือคลินิกและร้านยาที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. ทั่วประเทศมากกว่า 500 แห่ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (ตรวจสอบรายชื่อร้านยาที่เข้าร่วมโครงการได้ที่ https://www.nhso.go.th/downloads/197)
ส่วนกรณีที่มีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน หรือกรณีได้รับยาไปแล้ว แต่อาการป่วยทรุดลง เริ่มหายใจลำบาก หายใจหอบเหนื่อย ผู้ประกันตนสามารถเข้ารักษาตามดุลพินิจของแพทย์ ณ สถานพยาบาลประกันสังคม หรือสถานพยาบาลที่ร่วมให้บริการของรัฐและเอกชนทุกแห่งทั่วประเทศ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
รู้หรือไม่ สิทธิประกันสังคม ติดโควิด-19 เบิกเงินทดแทนได้ ?
สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33
- กรณีลาป่วย 30 วันแรกจะได้รับค่าจ้างจากนายจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
- กรณีจำเป็นต้องหยุดพักรักษาตัวนานเกินกว่า 30 วัน สามารถเบิกสิทธิประโยชน์กรณีขาดรายได้จากสำนักงานประกันสังคมตั้งแต่วันที่ 31 ของการลาป่วย โดยรับเงินทดแทนร้อยละ 50 ของค่าจ้าง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ตามใบรับรองแพทย์ ครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน หากป่วยเรื้อรังได้รับไม่เกิน 365 วัน
สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 39
- ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 50 โดยคำนวณจากฐานค่าจ้างอยู่ที่จำนวน 4,800 บาท ตามใบรับรองแพทย์ ครั้งละไม่เกิน 90 วันปีละไม่เกิน 180 วัน ยกเว้นได้รับวินิจฉัยว่าเป็นโรคเรื้อรัง จะสามารถได้เงินทดแทน ไม่เกิน 365 วัน
- ต้องมีการส่งเงินสมทบ 3 เดือน ภายใน 15 เดือน ก่อนวันเข้ารับการบริการทางการแพทย์
สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 40 ได้รับเงินทดแทนตามทางเลือก ดังนี้
1. เงินทดแทนการขาดรายได้วันละ 300 บาท กรณีรับการรักษาประเภทผู้ป่วยในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และ Hospitel ตั้งแต่ 1 วันขึ้นไปแต่ไม่เกิน 30 วัน/ปี (สำหรับทางเลือกที่ 1 และ 2) และไม่เกิน 90 วัน/ปี (สำหรับทางเลือกที่ 3)
2. เงินทดแทนการขาดรายได้วันละ 200 บาท กรณีแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวที่บ้าน ตั้งแต่ 3 วันขึ้นไปแต่ไม่เกิน 30 วัน/ปี (สำหรับทางเลือกที่ 1 และ 2) และไม่เกิน 90 วัน/ปี (สำหรับทางเลือกที่ 3)
3. เงินทดแทนการขาดรายได้ครั้งละ 50 บาท ไม่เกิน 3 ครั้ง/ปี กรณีไม่ได้เข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยในหรือไม่ได้กักตัว มีใบรับรองแพทย์มาแสดงต่อสำนักงาน (เฉพาะทางเลือกที่ 1 และ 2 เท่านั้น สำหรับทางเลือกที่ 3 ไม่คุ้มครอง)
ที่มา แนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัย ดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สําหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 27 วันที่ 18 เมษายน 2566, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), กรมประชาสัมพันธ์, สำนักงานประกันสังคม (สปส.)
📖 อ่านบทความเพิ่มเติม
• รู้ก่อนฉีด วัคซีนไฟเซอร์รุ่นใหม่ ประสิทธิภาพดีแค่ไหน ?
• เทียบอาการโควิด-19 สายพันธุ์ XBB.1.5 vs XBB.1.16 (อาร์คทูรัส)
• ปักหมุดจุดฉีดวัคซีนโควิดฟรี เดือน เม.ย.-พ.ค. 66 ในกรุงเทพฯ-ต่างจังหวัด