ESA เผยภาพถ่ายขั้วใต้ของดวงอาทิตย์เป็นครั้งแรก ซึ่งการถ่ายภาพนี้ได้นั้นเป็นสิ่งที่น่าตกตะลึงของคนทั้งโลกเนื่องจากไม่เคยมีใครที่สามารถถ่ายภาพของขั้วดวงอาทิตย์ได้มาก่อน ซึ่งภาพนี้จะช่วยเพิ่มพูนความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพอวกาศได้มากยิ่งขึ้น
ไม่เคยมีใครเห็นขั้วเหนือและใต้ของดวงอาทิตย์มาก่อน เพราะดาวเคราะห์ทุกดวงในระบบสุริยะนั้นโคจรตามสุริยวิถี หรือก็คือ ตามแนวเส้นศูนย์สูตรและการหมุนของดวงอาทิตย์ อีกทั้งดวงอาทิตย์นั้นมีขนาดที่ใหญ่มาก การที่จะส่งยานอวกาศต้านความเฉื่อยของสุริยวิถีนั้นก็เป็นเรื่องที่ยากมาก ต้องใช้พลังงานสูงมาก ซึ่งเคยมีเพียงครั้งเดียวที่เราส่งยานอวกาศไปโคจรตัดขั้วเหนือและใต้ของดวงอาทิตย์ นั่นคือยานยูลิสซีส (Ulysses) ที่เดินทางไปถึงดาวพฤหัสบดีเพื่อเบี่ยงวิถีการโคจรให้ตัดขั้วเหนือและใต้ของดวงอาทิตย์ แต่ถึงอย่างนั้นยานยูลิสซีสเองไม่มีกล้องถ่ายภาพติดไปด้วยเนื่องจากระยะทางที่ไกลมากจากดวงอาทิตย์ เทคโนโลยีในเวลานั้นไม่พร้อมสำหรับการถ่ายดวงอาทิตย์ที่ระยะทางไกลระดับนั้น
ภาพถ่ายขั้วใต้ของดวงอาทิตย์ที่เพิ่งเผยแพร่ล่าสุดโดยองค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency หรือ ESA) นั้นเป็นภาพถ่ายจากยาน Solar Orbiter ของ ESA ร่วมกับ NASA ภารกิจหลักของตัวยานคือการจับตาดูดวงอาทิตย์ในมุมวงโคจรที่สูงถึง 33 องศาจากระนาบเส้นศูนย์สูตรของดวงอาทิตย์ ซึ่งการจะเปลี่ยนวิถีวงโคจรระดับนี้ต้องอาศัยพลังงานมหาศาล ยาน Solar Orbiter จึงต้องเฉียดผ่านดาวศุกร์เพื่อเบี่ยงวิถีของวงโคจรให้เอียงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
การเฉียดผ่านดาวศุกร์ไปทั้งหมดสี่ครั้ง ได้ทำให้องศาของยานเอียงกว่าสุริยวิถีมาก เผยให้เห็นขั้วใต้ของดวงอาทิตย์เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 16–17 มีนาคม 2025 ซึ่งเอียงต่ำกว่าสุริยวิถีที่ 15 องศาก่อนที่จะไปถึงจุดสูงสุดของวงโคจรที่ 17 องศาในอีกไม่กี่วันต่อจากนั้น
ภาพถ่ายที่ได้มานั้นเกิดจากอุปกรณ์วิทยาศาสตร์สามชนิดบนยาน ได้แก่ PHI (Polarimetric and Helioseismic Imager) กล้องถ่ายภาพแสงย่านที่สายตามองเห็นและทำแผนที่สนามแม่เหล็กพื้นผิว (Photosphere) EUI (Extreme Ultraviolet Imager) กล้องถ่ายแสงย่านอัลตราไวโอเลต เพื่อจับภาพก๊าซไอออนอุณหภูมิหลักล้านองศาในชั้นโคโรนา และ SPICE (Spectral Imaging of the Coronal Environment) กล้องถ่ายภาพตรวจวัดสเปกตรัมของก๊าซอุณหภูมิต่าง ๆ เหนือพื้นผิว เพื่อศึกษาเจาะลึกชั้นบรรยากาศในหลายระดับที่แสดงออกมาให้เห็น
จากภาพถ่ายขั้วใต้ของดวงอาทิตย์ภาพแรกนี้เผยให้เห็นถึงความแปรปรวนในบริเวณนี้ ซึ่งตรวจพบสนามแม่เหล็กที่ผิดแผกไปจากปกติ ต่างจากบริเวณทั่วไปของดวงอาทิตย์อย่างชัดเจน
นับเป็นครั้งแรกที่มนุษย์สามารถถ่ายภาพขั้วใต้ของดวงอาทิตย์ไว้ได้ ซึ่งมันจะเปิดโอกาสให้เราศึกษาดวงอาทิตย์อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ภายในเดือนตุลาคม 2025 ยาน Solar Orbiter จะเคลื่อนตัวผ่านขั้วเหนือของดวงอาทิตย์และจะเผยภาพที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อนอีกครั้งหนึ่ง
ยาน Solar Orbiter ยังมีแผนที่จะบินเฉียดดาวศุกร์เพื่อเพิ่มองศาจากระนาบสุริยวิถีเพิ่มขึ้นอีก ทีมนักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการนี้วางแผนไว้ที่ 24 องศาและอาจจะเพิ่มได้มากถึง 33 องศา ดังนั้นข้อมูลที่เพิ่งได้จาก Solar Orbiter ณ ขณะนี้สามารถเรียกได้ว่าแค่เป็นจุดเริ่มต้น เพราะจะมีข้อมูลดี ๆ อีกมากรอเราอยู่
เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
ที่มาข้อมูล : ESA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech