เรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิดโดยเฉพาะคนมีสัตว์เลี้ยง พาไปรู้จักอันตรายจาก “เห็บกัด” ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ด้วยโรคไข้สูงเกล็ดเลือดต่ำ (SFTS) สู่การสังเกตหากมีอาการคล้ายไข้เลือดออก และตรวจไม่พบว่าเป็นไข้เลือดออก ควรปรึกษาแพทย์ว่าอาจจะเกิดจาก “เห็บ” กัดได้
ศ. นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ให้ความรู้ในเฟซบุ๊ก “Yong Poovorawan” ว่า
จากการศึกษาของศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬาฯ มานานมากกว่า 5 ปี พบโรคไข้สูงเกร็ดเลือดต่ำ (SFTS, Severe Fever with Thrombocytopenic Syndrome) ที่เกิดจากไวรัส พบโรคนี้กระจายอยู่ทั่วไป ทั้งในชานเมืองกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคอีสาน ภาคตะวันออก เข้าใจว่าพบได้ทุกภาคของประเทศไทย
แต่เดิมเข้าใจว่าโรคนี้พบได้เฉพาะในประเทศจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น แต่ปัจจุบันมีรายงานเพิ่มขึ้นแม้กระทั่งเวียดนามและเมียนมา จึงไม่แปลกที่จะพบในประเทศไทย และอุบัติการณ์ถ้าตรวจก็คงพบได้ไม่น้อย
ในผู้ป่วยที่มีไข้สูง ไม่ทราบเหตุ พบได้ประมาณ 1-2% และถ้ามีอาการคล้ายไข้เลือดออก และตรวจไม่พบว่าเป็นไข้เลือดออก จะมีเปอร์เซ็นต์สูงยิ่งขึ้น ทางศูนย์ฯ ได้ทำการศึกษาอย่างต่อเนื่อง และเผยแพร่ในวารสารทางวิทยาศาสตร์ ระดับน้ำนานาชาติ เช่น Emerg Infect Dis. 2022 Dec;28(12):2572-2574. doi: 10.3201/eid2812.221183.
โรคนี้ทำให้เสียชีวิตได้ และมีผู้ป่วยเสียชีวิตแล้วในประเทศไทย อย่างน้อย 2 ราย พาหะที่สำคัญนำโรคนี้ในประเทศไทย คือ เห็บสุนัข (Rhipicephalus sanguineus) ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักที่พบในประเทศไทย ส่วนการแพร่ระบาดในประเทศจีน จะเป็นเห็บสายพันธุ์ Long horn tick
ทางศูนย์ได้ศึกษาระบาดวิทยาในเห็บ และยังพบได้ในไรอ่อนของหนู ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกมาก
โรคนี้เชื่อว่าพบได้ทั่วไปและไม่เคยรายงาน เพราะแพทย์ส่วนใหญ่ยังไม่รู้จัก และไม่ทราบว่าจะตรวจด้วยวิธีอะไร
ถ้ามีผู้สงสัยป่วยเป็นโรคนี้ จะส่งมาตรวจทางศูนย์ ยินดีให้ความร่วมมือในการตรวจให้ และเพื่อให้เป็นที่รู้จักของแพทย์ทั่วไปให้ได้วินิจฉัยโรค รวมทั้งต่อไปจะต้องมีแนวทางมาตรการในการควบคุม เพราะโรคนี้มีความรุนแรงนอกจากไข้สูง เกล็ดเลือดต่ำแล้ว อาจทำให้เสียชีวิตได้ ยังไม่มียารักษาจำเพาะ และวัคซีนในการป้องกัน
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : ศ. นพ.ยง ภู่วรวรรณ
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech