รวมเรื่องน่ารู้ ก่อนดูกีฬา “ซีเกมส์ 2023”


จับกระแสวงการกีฬา

3 พ.ค. 66

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
รวมเรื่องน่ารู้ ก่อนดูกีฬา “ซีเกมส์ 2023”

     “ซีเกมส์ 2023” กีฬาเพื่อชาวอาเซียน (11 ประเทศ) จะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 5 พ.ค. 66 นี้แล้ว ร่วมส่งแรงใจเชียร์ทัพนักกีฬาไทยประสบความสำเร็จคว้าเหรียญรางวัลสร้างชื่อให้กับประเทศ ซึ่งซีเกมส์กัมพูชา มีประเด็นน่าสนใจอยู่ไม่น้อย ไทยพีบีเอสจึงได้รวบรวมเรื่องน่ารู้ ก่อนดูซีเกมส์ที่กัมพูชา มาให้ได้ทราบ เพื่อเป็นข้อมูล-ความรู้ ดูกีฬาได้อรรถรสมากยิ่งขึ้น



ความเป็นมา “กีฬาซีเกมส์”
     สำหรับกีฬาซีเกมส์ (SEA Games) มาจาก South-East Asian Games โดยเป็นการแข่งขันกีฬาระหว่างกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ซึ่งต้นกำเนิดมาจากกีฬาแหลมทอง (SEAP GAMES) ซึ่งมีการจัดขึ้นในทุกสองปี (ปีเว้นปี) ดำเนินการแข่งขันโดยสมาพันธ์กีฬาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAGF : South-East Asian Games Federation) ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC : International Olympic Committee) และสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (OCA : Olympic Council of Asia)


     โดยไทยเป็นเจ้าภาพกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 1 ในปี พ.ศ. 2502 (ยุคเริ่มแรกเรียกว่ากีฬาแหลมทอง ก่อนจะเปลี่ยนเป็นชื่อซีเกมส์ในปี พ.ศ. 2520) และไทยเป็นเจ้าเหรียญทองซีเกมส์มากที่สุด (13 ครั้ง) โดยคว้าเหรียญทองมากที่สุดในการแข่งขันซีเกมส์ 2007 (182 เหรียญทอง)

ชาติสมาชิกกีฬาซีเกมส์
     - กัมพูชา
     - ไทย
     - เวียดนาม
     - บรูไน
     - อินโดนีเซีย
     - สปป.ลาว
     - มาเลเซีย
     - เมียนมา
     - ฟิลิปปินส์
     - สิงคโปร์
     - ติมอร์-เลสเต
 


“ซีเกมส์ 2023” เริ่มวันไหน จบวันใด ?
     ซีเกมส์ 2023 ครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 32 โดยมีประเทศกัมพูชาเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ซึ่งจะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 พ.ค. 66 และมีพิธีปิดในวันที่ 17 พ.ค. 66 สำหรับการแข่งขันหลัก ๆ จะถูกจัดขึ้น ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา โดยสนามกีฬาหลักที่ใช้แข่งขันในปีนี้คือ สนามกีฬาแห่งชาติมรดกเตโช ในกรุงพนมเปญ และจะถูกใช้ในพิธีเปิดและพิธีปิดการแข่งขันด้วย จากนั้นอีก 2 ปี (ปี 2025) “กีฬาซีเกมส์” จะถึงรอบที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน


     สำหรับ “ซีเกมส์กัมพูชา” ครั้งนี้ ได้มีการจัดการแข่งขันทั้งหมด 37 ชนิดกีฬา และมีชิงชัยทั้งหมด 608 เหรียญทอง
 


“ซีเกมส์กัมพูชา” ทัพนักกีฬาไทยไม่ส่งลงแข่งขันมีกีฬาชนิดใดบ้าง
     - กุน ขแมร์ 
     - ดำน้ำ 
     - โบกาตอร์ 
     - วิ่งวิบากทางวิบาก
     - หมากรุกกัมพูชา 
     - อาร์นิส
 


“ไทย” เป็นเจ้าภาพ “ซีเกมส์” มากที่สุด จำนวน 6 ครั้ง
     ตั้งแต่เริ่มมีการจัดกีฬาแหลมทอง ต่อมาเปลี่ยนเป็นกีฬาซีเกมส์ “ประเทศไทย” เป็นเจ้าภาพมาแล้ว 6 ครั้ง ได้แก่ ปี 1959, ปี 1967, ปี 1975, ปี 1985, ปี 1995 และปี 2007
     สำหรับ “ประเทศกัมพูชา” นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพ โดย “กัมพูชา” เป็นชาติที่ 7 จากจำนวนสมาชิก 11 ชาติ ที่ได้จัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์

“ประเทศไทย” กับกีฬาความหวังในซีเกมส์กัมพูชา
     สำหรับการแข่งขันครั้งนี้ 20 ชนิดกีฬาระดับสากล คือสิ่งที่คาดหวังเหรียญรางวัลจากทัพนักกีฬาไทย เช่น ฟุตบอลชาย วอลเลย์บอล เทควันโด กรีฑา เป็นต้น

“กุน ขแมร์” ชิงชัยทั้งหมด 19 เหรียญทอง 
     ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 66 “กุน ขแมร์” ซึ่งได้รับการบรรจุแข่งขันแทน “มวยไทย” ในซีเกมส์ 2023 จะมีการชิงชัยทั้งสิ้น 19 เหรียญทองด้วยกัน
     โดยกติกา “กุน ขแมร์” ในซีเกมส์กัมพูชา ครั้งนี้ ชกด้วยระบบ 5 ยก ยกละ 3 นาที ซึ่งการชกกันในเวทีทรงสี่เหลี่ยม และมีข้อห้ามคือ ห้ามกัด ห้ามต่อยกระจับ ซึ่งเป็นกฎพื้นฐานเหมือนมวยไทย
 


เจ้าภาพ “ซีเกมส์” จัดตามใจ ทำอย่างไร ? ให้การแข่งขันเป็นสากลมากขึ้น
     การเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ของกัมพูชากำลังสร้างปัญหาให้หลายชนิดกีฬา อาทิ การตัดเพาะกายออกจากซีเกมส์ แม้อาจจะเกิดจากปัญหาภายในสหพันธ์เพาะกายกัมพูชากับรัฐบาล ซี่งสหพันธ์เพาะกายกัมพูชาไม่สามารถควบคุมการใช้สารต้องห้ามในนักกีฬาได้ตามที่รัฐบาลสั่ง


     สำหรับกีฬาชนิดอื่น ๆ ก็เป็นประเด็นที่สร้างปัญหาให้กับชาติอื่นไม่น้อย เช่น การเปลี่ยนชื่อกีฬามวยเป็น กุน ขแมร์ ซึ่งทำให้ไทยตัดสินใจไม่ส่งแข่ง และหลายชาติที่เป็นสมาชิกอิฟม่าไม่กล้าส่งเช่นกัน เพราะกลัวโดนอิฟม่าแบนในการแข่งขันรายการนานาชาติ 


     ยิมนาสติกลีลาเจ้าภาพก็ไม่จัด เพราะไม่มีนักกีฬา กีฬาบางประเภทก็จำกัดสิทธิ์ชาติอื่นให้ส่งได้เพียงบางรุ่น ขณะที่เจ้าภาพส่งได้ครบ


     ประเด็นเหล่านี้หากมองในมิติของกติกาซีเกมส์ เจ้าภาพย่อมทำได้ในการลด-เพิ่มกีฬาชนิดใดก็ได้ ที่ผ่านมาจึงเห็นกีฬาพื้นบ้านแปลก ๆ ถูกดันเข้าในซีเกมส์อยู่เสมอ และมีเหรียญรางวัลมากมายด้วย อย่างในครั้งนี้เจ้าภาพก็เพิ่มโบกาตอร์เข้ามา พร้อมกับเปลี่ยนชื่อมวยเป็น กุน ขแมร์ เพื่อหวังสร้างกระแสชาตินิยม

     ปัญหาของการเพิ่มกีฬาแปลกหรือพื้นบ้านเข้ามาในซีเกมส์ สิ่งที่จะเป็นปัญหาตามมาคือ จะไม่มีสหพันธ์กีฬานานาชาติที่เป็นที่ยอมรับให้การรับรอง ดังนั้นบางชาติก็อาจจะตัดสินใจไม่ส่งนักกีฬาไปแข่ง เนื่องจากเตรียมนักกีฬาไปแล้ว สุดท้ายก็ไม่มีเวทีให้ได้เล่นต่อหลังจบซีเกมส์ ส่งผลให้ขาดการพัฒนา

     จากนี้จะมองว่าปฏิญญาซีเกมส์ตั้งแต่ปี 2504 ซึ่งวัตถุประสงค์แข่งกีฬาเพื่อเชื่อมสัมพันธ์กันเป็นหลัก จะสำคัญกว่าการพัฒนานักกีฬาในภูมิภาคไม่ได้แล้ว เพราะตอนนี้นักกีฬาแต่ละชาติในอาเซียนพัฒนากันไปมาก แชมป์โลก แชมป์โอลิมปิก ในหลายชนิดกีฬาก็อยู่ในอาเซียน ดังนั้นการเป็นเจ้าภาพซีเกมส์จึงจำเป็นต้องคำนึงถึง “สปิริต” และมองถึง “การยกระดับการแข่งขัน” ไปพร้อมกัน ดังนั้นควรมีการกำหนดมาตรฐานกีฬา มาตรฐานการตัดสินให้อยู่ในระดับสากลเป็นที่ยอมรับ
.
👉 อ่านบทความเต็ม : ปัญหาซ้ำซาก "ซีเกมส์" จัดตามใจเจ้าภาพ
 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ซีเกมส์ 2566ซีเกมส์กัมพูชาซีเกมส์เขมร ซีเกมส์ที่กัมพูชาซีเกมส์ 2023 กัมพูชาเจ้าภาพซีเกมส์ 2023ซีเกมส์ 2023
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover : (เซบา บาสตี้)