โคจรกลับมาอีกครั้ง สำหรับการแข่งขัน WorldSkills 2024 หรือการแข่งขันทักษะด้านอาชีพระดับโลก ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 47 ที่เมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส โดยไฮไลต์สำคัญ คือการส่งกำลังใจให้กับ 22 เยาวชนไทยที่ร่วมเดินทางไปแข่งขันในครั้งนี้
Thai PBS ชวนทำความรู้จักการแข่งขัน WorldSkills และความน่าสนใจของรายการนี้ที่มีอายุมายาวนานกว่า 74 ปี
WorldSkills คืออะไร ?
WorldSkills คือการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมทักษะฝีมือแรงงานของเยาวชนจากภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก สาเหตุที่ทำให้เกิดการแข่งขันรายการนี้ เกิดขึ้นจากเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานและทักษะชั้นดี ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกตกต่ำลง
จนนำมาสู่การหาวิธีสร้างแรงงานที่มีทักษะเป็นเลิศเข้าสู่อุตสาหกรรม เป็นที่มาของการแข่งขันที่นำเยาวชนในหลายประเทศ อาทิ เยอรมนี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส โมร็อกโก และสวิตเซอร์แลนด์ มาแข่งขันเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน หรือที่เรียกว่า WorldSkills
WorldSkills ถูกจัดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ.1950 หรือ พ.ศ.2493 ณ กรุงมาดริด ประเทศสเปน ก่อนที่จะถูกจัดติดต่อกันมาอีก 7 ครั้ง ณ กรุงมาดริดแห่งเดิม กระทั่งในปี ค.ศ.1958 ย้ายมาจัดแข่งขันที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ในระยะเริ่มแรก ยังจัดกันปีละครั้ง จนขยายออกเป็นทุก ๆ 2 ปีครั้งตั้งแต่ปี 1971 เป็นต้นมา
เจตนารมย์การแข่งขัน WorldSkills คือการเฟ้นหาและพัฒนาทักษะแรงงานรุ่นใหม่ รวมทั้งมีวัตถุประสงค์อื่น ๆ อีกดังนี้
- ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างคนทำงานรุ่นใหม่จากหลากหลายภูมิภาคของโลก
- แลกเปลี่ยนทักษะ ประสบการณ์ และนวัตกรรมทางเทคโนโลยี
- สร้างความเข้าใจแก่ภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคอุตสาหกรรม ถึงความสำคัญของการฝึกอบรมทักษะ
- สร้างความตระหนักให้กับเยาวชนและผู้ที่มีอิทธิพลต่อเยาวชนถึงโอกาสที่มีอยู่ในวิชาชีพที่มีทักษะ
กฎ กติกา การแข่งขัน WorldSkills มีอะไรบ้าง ?
ประเทศที่จะส่งเยาวชนเข้าร่วมการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ หรือ WorldSkills จะต้องสมัครเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ (WorldSkills International) หรือชื่อเดิมคือ International Vocational Training Organization (IVTO) ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกอยู่จำนวน 76 ประเทศ
สำหรับประเทศไทย นำโดยรัฐบาลไทย ได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2536 อนุมัติในหลักการให้ดําเนินการจัดส่งบุคคลเข้าร่วมการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ โดยมีวัตถุประสงค์คือ
- เพื่อประชาสัมพันธ์ความสามารถของช่างฝีมือไทย ให้เป็นที่ประจักษ์แก่นานาประเทศ ตลอดจนเป็นการสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทย
- เพื่อเป็นการจูงใจและสนับสนุนให้เยาวชนเห็นความสําคัญของอาชีพต่าง ๆ และยึดถือเป็นอาชีพเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือได้อีกทางหนึ่ง
- เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ช่างฝีมือในประเทศได้ยกระดับฝีมือของตนเองให้ทัดเทียมกับมาตรฐานสากล
- เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์ในด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งเป็นการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีประสิทธิภาพ และได้มาตรฐานทัดเทียมนานาประเทศ
WorldSkills แข่งขันอะไรบ้าง ?
การแข่งขันแรงงานนานาชาติ WorldSkills จัดแข่งขันทักษะด้านอาชีพ 6 แขนง ได้แก่
- เทคโนโลยีการก่อสร้างและอาคาร
- ศิลปะสร้างสรรค์และแฟชั่น
- เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
- เทคโนโลยีการผลิตและวิศวกรรม
- บริการทางสังคมและส่วนบุคคล
- การขนส่งและโลจิสติกส์
ทั้งนี้ในแต่ละแขนง แบ่งแยกย่อยลงไปอีก 54 สาขา อาทิ งานช่างไม้, การติดตั้งระบบไฟฟ้า, เทคโนโลยีแฟชัน, ศิลปะการจัดดอกไม้, เทคโนโลยีการออกแบบกราฟิก, เทคโนโลยีเว็บไซต์, อิเล็กทรอนิกส์, การทำอาหาร,เทคโนโลยียานยนต์ ฯลฯ
(สามารถดูสาขาอาชีพเพิ่มติมได้ที่ https://worldskills2024.com/en/skills/)
เยาวชนไทยไปแข่งขัน WorldSkills ด้านใดบ้าง ?
การแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ Worldskills 2024 ประเทศไทยส่งเยาวชนเข้าร่วมการแข่งขันทั้งสิ้น 22 คน ใน 19 สาขา ได้แก่
- สาขากราฟิกดีไซน์
- สาขาการก่ออิฐ
- สาขาการจัดดอกไม้
- สาขาการแต่งผม
- สาขาการปูกระเบื้อง
- สาขาการสร้างโมเดลในเกมสามมิติ
- สาขาเทคโนโลยีงานเชื่อม
- สาขาเทคโนโลยีระบบไฟฟ้าภายในอาคาร
- สาขาเทคโนโลยีเว็บ
- สาขาเมคคาทรอนิกส์ (ประเภททีม)
- สาขาหุ่นยนต์เคลื่อนที่ (ประเภททีม)
- สาขาการซ่อมตัวถังรถยนต์
- สาขาการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วย
- สาขาการบริการอาหารและเครื่องดื่ม
- สาขาการประกอบอาหาร
- สาขาเครื่องจักรกล CNC (เครื่องกลึง)
- สาขาเทคโนโลยีสีรถยนต์
- สาขาอุตสาหกรรม 4.0 (ประเภททีม)
ซึ่งผลการแข่งขันจะแบ่งเป็น รางวัลเหรียญทอง /เหรียญเงิน /เหรียญทองแดง รวมทั้ง ประกาศนียบัตรฝีมือยอดเยี่ยม
ผลงานที่ผ่านมาของเยาวชนไทยใน WorldSkills เป็นอย่างไร ?
ผลการเข้าร่วมการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติของไทย นับตั้งแต่ครั้งที่ 32 จนถึงปัจจุบัน มีดังนี้
- ครั้งที่ 32 พ.ศ. 2536 ที่ไต้หวัน ไทยส่งเยาวชนเข้าร่วมแข่งขันใน 7 สาขา ได้รับรางวัลประกาศนียบัตรฝีมือยอดเยี่ยม ในสาขาช่างเครื่องประดับ
- ครั้งที่ 33 พ.ศ.2538 ณ ฝรั่งเศส ไทยส่งเยาวชนเข้าร่วมแข่งขันใน 10 สาขา ได้รับรางวัล เหรียญเงิน ช่างเครื่องประดับ เหรียญทองแดง ช่างทําผมบุรุษ และประกาศนียบัตรฝีมือยอดเยี่ยม ช่างตัดเย็บเสื้อผ้าสตรี
- ครั้งที่ 34 พ.ศ.2540 ณ สวิตเซอร์แลนด์ ไทยส่งเยาวชนเข้าร่วมแข่งขันใน 14 สาขา ได้รับรางวัล เหรียญทอง ช่างตัดเย็บเสื้อผ้าสตรี เหรียญเงิน ช่างเครื่องประดับ และประกาศนียบัตรฝีมือยอดเยี่ยม ช่างเชื่อม, ช่างอิเล็กทรอนิกส์, ช่างปูกระเบื้อง, พนักงานบริการอาหารและเครื่องดื่ม
- ครั้งที่ 35 พ.ศ.2542 ณ แคนาดา ไทยส่งเยาวชนเข้าร่วมแข่งขันใน 16 สาขา ได้รับรางวัล เหรียญเงิน ช่างอิเล็กทรอนิกส์
เหรียญทองแดง ช่างเครื่องประดับ, ช่างซ่อมรถยนต์ และประกาศนียบัตรฝีมือยอดเยี่ยม ช่างเมคคาทรอนิกส์(2คน), ช่างเขียนแบบ, เครื่องกลด้วยคอมพิวเตอร์, ช่างปูกระเบื้อง, ช่างตัดเย็บเสื้อผ้าสตรี, ช่างตัดเย็บเสื้อผ้าบุรุษ, พนักงานประกอบอาหาร - ครั้งที่ 36 พ.ศ.2544 ณ สาธารณรัฐเกาหลี ไทยส่งเยาวชนเข้าร่วมแข่งขันใน 15 สาขา ได้รับรางวัล เหรียญทอง ช่างเชื่อม เหรียญทองแดง ช่างเครื่องประดับ และประกาศนียบัตรฝีมือยอดเยี่ยม ช่างเขียนแบบเครื่องกลด้วยคอมพิวเตอร์, ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร, ช่างตัดเย็บเสื้อผ้าสตรี, ช่างแต่งผมสตรี, พนักงานบริการอาหารและเครื่องดื่ม, ช่างเครื่องปรับอากาศ และเครื่องทำความเย็น
- ครั้งที่ 37 พ.ศ. 2546 ณ สวิตเซอร์แลนด์ ไทยส่งเยาวชนเข้าร่วมแข่งขันใน 13 สาขา ได้รับรางวัล เหรียญทอง ช่างตัดเย็บเสื้อผ้าสตรี เหรียญเงิน ช่างเชื่อม, ช่างเครื่องประดับ และประกาศนียบัตรฝีมือยอดเยี่ยม ช่างเมคคาทรอนิกส์ (2 คน), ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร, ช่างแต่งผม, ช่างซ่อมรถยนต์, พนักงานบริการอาหารและเครื่องดื่ม, ช่างเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น
- ครั้งที่ 38 พ.ศ.2548 ณ ฟินแลนด์ ไทยส่งเยาวชนเข้าร่วมแข่งขันใน 14 สาขา ได้รับรางวัล เหรียญทอง ช่างเชื่อม เหรียญเงิน ช่างตัดเย็บเสื้อผ้าสตรี เหรียญทองแดง ช่างเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น และประกาศนียบัตรฝีมือยอดเยี่ยม ช่างเมคคาทรอนิกส์ (2 คน), ช่างออกแบบและเขียนแบบเครื่องกลด้วยคอมพิวเตอร์, พนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศ, ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร, ช่างแต่งผม, พนักงานบริการอาหารและเครื่องดื่ม
- ครั้งที่ 39 พ.ศ.2550 ณ ญี่ปุ่น ไทยส่งเยาวชนเข้าร่วมแข่งขันใน 17 สาขา ได้รับรางวัล เหรียญเงิน ช่างเครื่องกลึง CNC, ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร, ช่างจัดดอกไม้, ช่างเครื่องปรับอากาศและเครื่องทําความเย็น และประกาศนียบัตร ช่างเชื่อม, ช่างท่อและสุขภัณฑ์, การออกแบบเว็บเพจ, ช่างแต่งผม, ช่างตัดเย็บเสื้อผ้าสตรี, ช่างซ่อมรถยนต์, พนักงานบริการอาหารและเครื่องดื่ม
- ครั้งที่ 40 พ.ศ.2552 ณ แคนาดา ไทยส่งเยาวชนเข้าร่วมแข่งขันใน 15 สาขา ได้รับรางวัล เหรียญทอง ช่างเครื่องกลึง CNC, ช่างเชื่อม เหรียญทองแดง กราฟิกดีไซน์, ช่างเครื่องปรับอากาศและเครื่องทําความเย็น และประกาศนียบัตรฝีมือยอดเยี่ยม ช่างท่อและสุขภัณฑ์, ช่างสีรถยนต์, พนักงานประกอบอาหาร, แฟชั่นเทคโนโลยี, เครื่องประดับ
- ครั้งที่ 41 พ.ศ.2554 ณ สหราชอาณาจักร ไทยส่งเยาวชนเข้าร่วมแข่งขันใน 25 สาขา ได้รับรางวัลเหรียญทอง ช่างเครื่องกลึง CNC, ออกแบบโมเดล เหรียญเงิน แฟชั่นเทคโนโลยี, สร้างและประกอบแม่พิมพ์ และประกาศนียบัตรฝีมือยอดเยี่ยม เมคคาทรอนิกส์ (2คน), เทคโนโลยีงานเชื่อม, ปูกระเบื้อง, ท่อและสุขภัณฑ์, เทคโนโลยีระบบไฟฟ้าภายในอาคาร, เครื่องประดับ, จัดดอกไม้,แต่งผม, เสริมความงาม, เทคโนโลยียานยนต์, ประกอบอาหาร, เทคโนโลยีระบบทำความเย็น
- ครั้งที่ 42 พ.ศ.2556 ณ เยอรมนี ไทยส่งเยาวชนเข้าร่วมแข่งขันใน 20 สาขา ได้รับรางวัล เหรียญทอง ช่างเครื่องกลึง CNC, สร้างและประกอบแม่พิมพ์ เหรียญเงิน ออกแบบโมเดล และประกาศนียบัตรฝีมือยอดเยี่ยม เทคโนโลยีงานเชื่อม, ประกอบอาหาร, เทคโนโลยีระบบไฟฟ้าภายในอาคาร, บริการอาหารและเครื่องดื่ม, แต่งผม, กราฟิกดีไซน์, แฟชั่นเทคโนโลยี, เครื่องประดับ
- ครั้งที่ 43 พ.ศ.2558 ณ บราซิล ไทยส่งเยาวชนเข้าร่วมแข่งขันใน 20 สาขา ได้รับรางวัล เหรียญทอง เครื่องกลึงอัตโนมัติ เหรียญทองแดง เทคโนโลยีงานเชื่อม และประกาศนียบัตรฝีมือยอดเยี่ยม เมคคาทรอนิกส์ (2 คน), โพลีแมคคานิกส์และระบบอัตโนมัติ, ปูกระเบื้อง, แต่งผม, เสริมความงาม, แฟชั่นเทคโนโลยี, ประกอบอาหาร, บริการอาหารและเครื่องดื่ม, เทคโนโลยีระบบทําความเย็น, กราฟิกดีไซน์
- ครั้งที่ 44 พ.ศ.2560 ณ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไทยส่งเยาวชนเข้าร่วมแข่งขันใน 24 สาขา ได้รับรางวัล เหรียญเงิน สาขาประกอบอาหาร และคว้า 12 เหรียญฝีมือยอดเยี่ยม (Medallion for Excellence) สาขาโพลีเมคคานิกส์และระบบอัตโนมัติ, สาขาเมคคาทรอนิกส์, สาขาเครื่องจักรกล CNC (เครื่องกลึง), สาขาเครื่องจักรกล CNC (เครื่องกัด), สาขาเทคโนโลยีงานเชื่อม, สาขาเทคโนโลยีระบบไฟฟ้าภายในอาคาร, สาขาก่ออิฐ, สาขาเสริมความงาม, สาขาจัดดอกไม้, สาขาแฟชั่นเทคโนโลยี, สาขาบริการอาหารและเครื่องดื่ม, สาขาเทคโนโลยีระบบทำความเย็น
- ครั้งที่ 45 พ.ศ.2562 ณ รัสเซีย ไทยส่งเยาวชนเข้าร่วมแข่งขันใน 23 สาขา ได้รับรางวัล เหรียญทองเเดง สาขาเครื่องจักรกล CNC เครื่องกัด และสาขาบริการอาหารและเครื่องดื่ม และคว้า 12 เหรียญฝีมือยอดเยี่ยม (Medallion for Excellence) สาขาโพลีเมคคานิกส์และระบบอัตโนมัติ, สาขาเครื่องจักรกล CNC (เครื่องกลึง), สาขาออกแบบโมเดล, สาขากราฟิกดีไซน์, สาขาเทคโนโลยีงานเชื่อม, สาขาเทคโนโลยีระบบไฟฟ้าภายในอาคาร, สาขาเทคโนโลยีระบบทำความเย็น, สาขาจัดดอกไม้, สาขาเขียนแบบวิศวกรรมเครื่องกลด้วยคอมพิวเตอร์, สาขาสีรถยนต์, สาขาประกอบอาหาร, สาขาแต่งผม
- ครั้งที่ 46 พ.ศ. 2565 ณ สวิตเซอร์แลนด์-เกาหลีใต้-ฝรั่งเศส-เยอรมนี ไทยส่งเยาวชนเข้าร่วมแข่งขันใน 11 สาขา ได้รับรางวัล เหรียญเงิน สาขาเครื่องจักรกล CNC (เครื่องกลึง) คว้า 6 เหรียญฝีมือยอดเยี่ยม (Medallion for Excellence) สาขาเมคคาทรอนิกส์, สาขาเครื่องจักรกล CNC (เครื่องกัด), สาขาการออกแบบเกมเชิงสามมิติ, สาขาการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วย, สาขาการบริการอาหารและเครื่องดื่ม, สาขาการประกอบอาหาร
พิเศษ สำหรับการแข่งขัน WorldSkills 2024 ไทยพีบีเอส ได้รับการคัดเลือกจาก WorldSkills International ให้ทำหน้าที่รายงานการแข่งขัน ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-15 กันยายน 2567 โดยถือเป็นสื่อมวลชนไทยเพียงแห่งเดียวที่ได้รับความไว้วางใจให้รับผิดชอบภารกิจนี้
สามารถติดตามทุกข่าวสารการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ หรือ Worldskills ได้ทุกช่วงข่าวไทยพีบีเอส กดหมายเลข 3 และทุกช่องทางออนไลน์