ไม่มีใครอยากพบกับ “การสูญเสีย” โดยเฉพาะการจากไปของบุคคลอันเป็นที่รักอย่างกะทันหัน ภาวะ “ดิ่ง” ที่หลายคนเลี่ยงไม่ได้เหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ รวมไปถึงการใช้ชีวิต แล้วเราจะรับมือการสูญเสียอย่างไร ?
Thai PBS ชวนทุกคนมารู้จัก ระยะของความเศร้า (Stage of Grief) แนวคิดด้านจิตวิทยาเกี่ยวกับความเศร้า เพื่อให้เข้าใจความเศร้าที่เกิด และวิธีรับมือเพื่อให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบาก และใช้ชีวิตต่อไปได้
ต้นกำเนิด “ระยะของความเศร้า (Stage of Grief)” เข้าใจเพื่อทำใจรับมือการสูญเสีย
การศึกษาด้านจิตวิทยาเกี่ยวกับความเศร้าที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลาย คือแนวคิดของนักจิตวิทยาชาวสวิส-อเมริกัน Elizabeth Kübler-Ross ที่ได้ทำความเข้าใจความรู้สึกเศร้าจากการสูญเสียในชีวิต ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งในรูปแบบของการจากลากับคนที่รัก การสูญเสียญาติสนิท รวมถึงการต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
โดยแนวคิดดังกล่าวมีชื่อเรียกรวม ๆ ว่า ระยะของความเศร้า หรือ Stage of Grief ซึ่งได้แบ่งออกเป็น 5 ระยะ (5 Stage of Grief) เพื่อให้เข้าใจถึงระยะต่าง ๆ ของสภาวะที่ผู้คนต้องพบเจอเมื่อต้องเผชิญกับการสูญเสีย ได้แก่ ปฏิเสธสิ่งที่เกิดขึ้น (denial) , โกรธ (anger), ต่อรองกับสิ่งที่เกิดขึ้น (bargaining), ซึมเศร้า (depressing) และยอมรับได้ (acceptance)
ก่อนที่ต่อมา จะมีการพัฒนาเพิ่มเติมเป็น 7 ระยะของความเศร้า (7 Stage of Grief) ปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมส่วนของ ภาวะตกใจ (shock) ที่เกิดขึ้นเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ และความหวัง (hope) ซึ่งเกิดขึ้นควบคู่ไปกับระยะต่าง ๆ ซึ่งเป็นส่วนของความซับซ้อนที่ของภาวะอารมณ์ที่หลากหลาย ซึ่งสามารถเกิดการกลับไปมาได้อีกด้วย เพราะทุกคนต่างมีการเผชิญความเศร้าที่แตกต่างกันได้
ภาพรวมระยะของความเศร้า (Stage of Grief) คือการเข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นคือธรรมชาติหนึ่งของมนุษย์ เข้าใจสภาวะที่เกิดและหาวิธีรับมือกับช่วงเวลานั้น ๆ ได้ ทั้งนี้ ระยะของความเศร้าตามแนวคิดของนักจิตวิทยาแต่ละคน อาจมีนิยามที่แตกต่างกันเล็กน้อย แต่ภาพรวมแล้วยังคงมีเนื้อความที่ใกล้เคียงกัน
7 ระยะของความเศร้า (7 Stage of Grief) ต้องก้าวผ่านอะไรบ้าง ? เพื่อรับการสูญเสียที่เกิดขึ้น
ระยะของความเศร้าทั้ง 7 นี้ บางระยะอาจเกิดขึ้นควบคู่กันและมีเส้นแบ่งที่ไม่ได้ตายตัว หลายครั้งบางแนวคิดอาจมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไป หรืออาจจัดอยู่ในระยะเดียวกันได้
1. ภาวะตกใจ (Shock) คือความรู้สึกช็อก ตกตะลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งนี้เกิดขึ้นได้แม้จะมีเวลาทำใจแล้วก็ตาม ผู้คนที่อยู่ในระยะความเศร้านี้อาจดำเนินชีวิตแบบปกติแต่ไร้ซึ่งอารมณ์ความรู้สึก เป็นกลไกการป้องกันตัวอย่างหนึ่งของมนุษย์ เพื่อที่จะไม่ให้จิตใจได้รับความเสียหายมากจนเกินไป
2. ปฏิเสธความจริง (Denial) เป็นปฏิกิริยาแรก ๆ ที่เกิดขึ้น ในกรณีการสูญเสียคนที่รักหลายครั้ง ผู้คนยังคิดว่าคนที่รักยังมีชีวิตอยู่ อาจเกิดการแยกตัวจากคนอื่น ๆ ที่รับรู้ความจริงที่เกิดขึ้นแล้ว ระยะนี้มักเกิดขึ้นเป็นกลไกในการป้องกันตัว ป้องกันจิตใจชั่วคราวเท่านั้น ทั้งนี้ หากการสูญเสียมีองค์ประกอบของความรุนแรงเกิดขึ้น ระยะการปฏิเสธความจริงนี้จะเป็นไปเพื่อป้องกันโรคทางจิตจากการสูญเสียอีกทางหนึ่งด้วย อย่างไรก็ตาม ปลายทางผู้เผชิญกับการสูญเสียยังคงต้องเผชิญกับความจริงที่เกิดขึ้น
3. โกรธ (Anger) เมื่อการปฏิเสธความจริงไม่สามารถทำได้อีกต่อไป ความโกรธ หงุดหงิด ขุ่นเคืองใจ หรืออารมณ์ลักษณะใกล้เคียงเหล่านี้จะเกิดขึ้น ในระยะนี้ความคิดจะมุ่งหาคนผิด อาจมีคำถามในใจ ทำไมตัวเองต้องมาเจอการสูญเสียนี้ ผู้ที่อยู่รอบข้างควรเข้าใจ และอย่าได้ถือโทษกับอารมณ์โกรธในช่วงเวลาที่ยากลำบากของผู้ที่เผชิญกับระยะสูญเสียนี้ ความโกรธเหล่านี้หลายครั้งเกิดขึ้นเพื่อปิดบังอารมณ์อื่น ๆ และความเจ็บปวดอื่น ๆ ที่คน ๆ นั้นแบกรับอยู่
4. ต่อรองกับสิ่งที่เกิดขึ้น (bargaining) ถือเป็นช่วงเวลาที่สงบลง แต่ในจิตใจของผู้ที่สูญเสียกำลังเต็มไปด้วยคำถาม “ถ้าทำแบบนี้จะเป็นอย่างไร ? (What if?)” หรือ “ถ้าแค่ทำแบบนี้ละ ? (if only) เป็นลักษณะของการต่อรองกับสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น ถ้าวันนั้นไม่ทำแบบนั้นสิ่งนั้นการสูญเสียอาจไม่เกิดขึ้น ในด้านความเชื่ออาจมีการขอพรตามความเชื่อของแต่ละคน เพื่อให้ได้ในสิ่งที่สูญเสียไปแล้วกลับคืน ทว่าท้ายที่สุดแล้วความเศร้าระยะนี้เป็นกระบวนการเยียวยาและป้องกันตัวเองจากความเศร้า ความสับสน และความเจ็บปวด
5. ซึมเศร้า (depressing) เป็นระยะของความเศร้าที่เงียบงันลง หลังจากความโกรธและการต่อรองกับสิ่งที่เกิดขึ้น ถือเป็นระยะความเศร้าท้าย ๆ คนรอบข้างสามารถให้การช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตได้ในระยะความเศร้านั้น การโอบกอดให้กำลังใจกัน การสื่อสารด้วยความใส่ใจสำนึกถึงสุขภาพจิตที่ดี แต่ในบางช่วงเวลาอาจให้เวลากับผู้สูญเสียได้อยู่ตามลำพัง ในระยะนี้บางคนอาจนิ่งเงียบไป เป็นระยะของการสิ้นหวังแต่ก็คือการตระหนักของการสูญเสียและเป็นก้าวแรกของการยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว
6. ยอมรับได้ (acceptance) ระยะสุดท้ายของความเศร้า ทว่าการยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่การออกจากความเศร้าไปสู่ความสุข และไม่ใช่ความเศร้าในระดับที่สูงขึ้น หรือการก้าวออกจากความสูญเสียแล้ว แต่เป็นระยะที่เกิดความเข้าใจความหมายของสิ่งที่เกิดขึ้นนี้กับชีวิต ความรู้สึกในระยะนี้อาจซับซ้อนและอธิบายได้ยาก ผู้คนอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ความรู้สึกต่อสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตอาจเปลี่ยนแปลงไป ท้ายที่สุดอาจยังคงรู้สึกแย่แต่ยังคงโอเค และกลับสู่ภาวะของอารมณ์ที่มั่นคงอีกครั้ง
7. มีความหวัง (hope) มีนิยามถึงการมีความหวังถึงชีวิตที่จะกลับมาดำเนินอีกครั้ง คือความหวังท่ามกลางการสูญเสีย การมีความหวังลักษณะนี้จะเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ โดยเกิดขึ้นตั้งแต่ในระยะปฏิเสธความจริง จนถึงระยะของการยอมรับได้ ซึ่งมีส่วนอย่างมากที่จะช่วยให้ผู้คนผ่านพ้นระยะของเศร้าทั้งหมดไปได้
"รับการสูญเสียกะทันหัน" ทำอย่างไรได้บ้าง ?
ผู้คนอาจมีการรับมือกับการสูญเสียแตกต่างกันไป ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิตและรองผู้อำนวยการกองบริหาร ระบบบริการสุขภาพจิต มีข้อแนะนำเพื่อรับมือกับการสูญเสียอย่างกะทันหันดังนี้
ระบายกับคนใกล้ตัว การจากลาตลอดไปอย่างกะทันหัน การตั้งสติจะทำได้ยากมาก การได้ระบายกับใครสักคน ระบายความรู้สึกหรืออารมณ์ที่เกิดขึ้น มีส่วนช่วยผ่อนคลายภาวะเครียดที่กำลังเผชิญอยู่ได้ และยังช่วยทำให้คนที่กำลังเผชิญกับการสูญเสียได้รับรู้ว่ามีใครสักคนอยู่เคียงข้างด้วย ผู้รับฟังอาจเน้นการรับฟังอย่างตั้งใจเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว หรืออาจแสดงความมั่นใจว่าอีกฝ่ายจะผ่านพ้นการสูญเสียครั้งนี้ได้
ปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ ในกรณีที่ผู้เผชิญกับการสูญเสีย ไม่สามารถหาคนใกล้ตัวที่สามารถรับฟังได้อย่างเหมาะสม อาจเลือกปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา ไม่ว่าจะเป็นนักจิตวิทยา จิตแพทย์ ซึ่งถูกฝึกมาอย่างดีในการรับฟังสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว และยังสามารถให้ข้อแนะนำที่เป็นประโยชน์เพิ่มเติมได้ สามารถโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อปรึกษาได้ทันที ไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดอาการป่วยขึ้นก่อน
หมั่นสังเกตตัวเอง ทบทวนตัวเองว่าภาวะปกตินั้นเป็นคนอย่างไร ? เพราะหลายครั้งคนเราอาจไม่ทันสังเกตว่าตัวเองมีพฤติกรรม นิสัย บุคลิกลักษณะในภาวะปกติเป็นอย่างไร ? เมื่อเกิดความผิดปกติขึ้นก็สามารถสังเกตอาการของตัวเองได้ทัน หากปกติเป็นคนอารมณ์ดีกลายเป็นคนหงุดหงิดง่าย พฤติกรรมการใช้ชีวิตเปลี่ยนไป อาจเลือกเข้ารับการปรึกษาได้
การสูญเสียคนที่รักเกิดขึ้นได้กับทุกคน การทำความเข้าใจ รู้ถึงข้อมูลเพื่อรับมือกับปัญหาจะช่วยลดการสูญเสียที่จะขึ้นต่อเนื่องมาถึงตัวเองได้
อ้างอิง
Visualizing the stages of grief in one chart
The 7 Stages of Grief