ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

การค้นพบครั้งใหญ่ ! NASA พบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะอายุน้อยที่สุด


Logo Thai PBS
แชร์

การค้นพบครั้งใหญ่ ! NASA พบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะอายุน้อยที่สุด

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1968

การค้นพบครั้งใหญ่ ! NASA พบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะอายุน้อยที่สุด
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

NASA จับภาพดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่คาดว่ามีอายุน้อยที่สุดที่เคยพบมา โดยเป็นดาวเคราะห์ที่ยังมีวงโคจรทับซ้อนอยู่ในจานพอกพูนมวล และคาดว่าน่าจะมีอายุได้เพียง 3 ล้านปี

IRAS 04125+2902 b เป็นดาวเคราะห์อายุน้อยที่สุดที่ถูกค้นพบโดยวิธีการตรวจจับแบบ “ทรานซิต” (Transit Method) ที่อาศัยจังหวะที่ดาวเคราะห์เคลื่อนที่ผ่านหน้าดาวฤกษ์ จากการสังเกตการณ์พบว่าวงโคจรของดาวเคราะห์ดวงนี้ยังเต็มไปด้วยเศษฝุ่นที่เกิดขึ้นจากช่วงก่อกำเนิด ส่วนตัวดาวเคราะห์ก็ยังร้อนและเรืองแสงอยู่ จึงคาดว่าดาวเคราะห์ดวงนี้น่าจะมีอายุได้เพียง 3 ล้านปีเท่านั้น

ภาพถ่ายของระบบ IRAS 04125+2902 โดยจุดสีเหลืองข้าง ๆ ดาวฤกษ์คือ IRAS 04125+2902B โดยเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ PanSTARRS ภาพถ่ายโดย Meli thev

ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงนี้อยู่ในระบบดาวฤกษ์ที่เกิดขึ้นใหม่ในกลุ่มเมฆโมเลกุลวัว (Taurus Molecular Cloud) ห่างจากโลกประมาณ 430 ปีแสง ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดดาวฤกษ์ใหม่เป็นจำนวนมาก

นอกเหนือจากการที่ดาวเคราะห์ดวงนี้จะเป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่มีอายุน้อยที่สุดที่เคยค้นพบมาแล้ว พฤติกรรมของวัตถุรอบดาวฤกษ์ดวงนี้ก็นับว่าแปลกประหลาดอีกมากเช่นกัน โดยปกติดาวเคราะห์ที่กำลังก่อตัวอยู่ในช่วงแรกของระบบดาวฤกษ์มักจะไม่สามารถสังเกตเห็นได้เพราะถูกบดบังโดยจากพอกพูนมวลที่อยู่รอบดาวฤกษ์ แต่ระบบนี้จานพอกพูนมวลกลับถูกเบี่ยงเบนบิดเบี้ยว เมื่อสังเกตการณ์จากโลก ดาวเคราะห์มีทิศทางเคลื่อนที่จากซ้ายไปขวาของดาวฤกษ์ แต่ตัวจานพอกพูนมวลกลับมีทิศทางขนานกับดาวฤกษ์และหันหน้ามาทิศทางที่เราสังเกตการณ์อยู่ ซึ่งการบิดเบี้ยวนี้เผยให้เห็นดาวเคราะห์ดวงนี้

ภาพถ่ายโมเสก Taurus Molecular Cloud จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Herschel

การบิดเบี้ยวนี้นับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ปกติ ราวกับว่าจานพอกพูนหรือดาวเคราะห์ดวงนี้ถูกรบกวนโดยบางสิ่งบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการที่ตัวดาวเคราะห์เคลื่อนที่เข้าใกล้ดาวฤกษ์แม่ของมันมากเกินไป ผลกระทบจากระบบดาวคู่ หรือการถูกรบกวนโดยดาวฤกษ์ที่มีมวลมากโดยรอบที่เข้ามาใกล้ระบบดาวฤกษ์ดวงนี้มากเกินไป

คุณสมบัติของดาวเคราะห์ IRAS 04125+2902 b นับได้ว่าเป็นดาวเคราะห์ที่มีมวล ⅓ ของดาวพฤหัสบดี แต่มันกลับมีเส้นผ่านศูนย์กลางที่ใกล้เคียงกับดาวพฤหัสบดี หมายความว่ามันเป็นดาวที่มีความหนาแน่นต่ำ คาดว่าน่าจะเกิดจากการที่ชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์นั้นพองตัวจากความร้อนในช่วงการก่อกำเนิด ซึ่งดาวเคราะห์ดวงนี้อาจจะพัฒนาต่อไปเป็นดาวเคราะห์ประเภท “มินิ-เนปจูน” หรือ “super-Earth” หลังจากชั้นบรรยากาศหดตัว

ภาพวาดจากจินตนาการศิลปินถึงดาวเคราะห์ที่กำลังเกิดขึ้นใหม่ในระบบดาวฤกษ์ที่กำลังก่อตัวพร้อมกับจานพอกพูนมวลที่ขนานกับวงโคจรของดาวเคราะห์

การค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่มีอายุน้อยที่สุดนี้อาจจะช่วยทำให้เราสามารถทำความเข้าใจเกี่ยวกับการก่อตัวและวิวัฒนาการของดาวเคราะห์ อีกทั้งการบิดเบี้ยวของจานพอกพูนมวลเมื่อเทียบกับระนาบการโคจรของดาวเคราะห์ก็เป็นอีกหนึ่งจุดที่น่าสนใจเกี่ยวกับผลกระทบของดาวเคราะห์เกิดใหม่จากการรบกวนของระบบที่อยู่โดยรอบ

การค้นพบนี้ถูกค้นพบโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Transiting Exoplanet Survey Satellite (TESS) และได้รับการตีพิมพ์ลงวารสาร Nature ในเดือนพฤศจิกายน 2024

เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล
พิสูจน์อักษร ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์


อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

ที่มาข้อมูล : NASA

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดาวเคราะห์ระบบสุริยะนาซาองค์การนาซาNASAสำรวจอวกาศอวกาศThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - Astronomy
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด